ธรรมะกับการทำงาน (2)

ธรรมะกับการทำงาน (2)

ในบทความที่แล้ว ผมได้พูดคุยถึงการนำธรรมะมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน โดยใช้หลัก “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือ ทางสายกลาง

ในการดูแลพนักงานที่เป็นกลุ่ม Workaholic “ตึง” ซึ่งตั้งเป้าหมายสูง ทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำจนละเลยตัวเอง มีความเครียดสะสมจนเจ็บป่วยง่าย ขาดสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง จนมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ วิธีที่ผมเสนอคือ การออกแบบงานให้มีเป้าหมายไม่ยากเกินความสามารถจนกลายเป็นการตรากตรำ โดยสัดส่วนเป้าหมายที่ผมเคยแนะนำคือ “ยากกว่าความสามารถเล็กน้อย” 40-50% เพื่อรักษาความท้าทาย และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตัวเอง และเป้าหมายที่ “พอดีกับความสามารถ” ประมาณ 50-60% เพื่อรักษาผลการทำงานที่พนักงานทำได้

สำหรับบทความนี้ ผมขอเปลี่ยนมุมมองมาเป็นการบริหารพนักงานประเภท Deadwood กันบ้าง พนักงานประเภท Deadwood หรือที่มักเรียนกันติดปากว่า กลุ่มคนหมดไฟ จะมีลักษณะไม่จริงจังกับการทำงาน ไม่ทำงานให้สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน ขาดแรงจูงใจที่จะประสานงานต่างๆ เพื่อให้งานบรรลุผล กลุ่มที่เป็น Deadwood ขั้นต้นจะเริ่มจากสนใจเฉพาะขอบเขตงานของตัวเองแต่ไม่สนใจภาพรวมของทีมและองค์กร ส่วนกลุ่ม Deadwood ที่รุนแรงลำดับต่อมาคือไม่สนใจทั้งงานของตัวเอง และไม่สนใจช่วยเหลือร่วมมือกับคนอื่นด้วย จัดเป็นการสุดโต่งในด้าน “หย่อน” ซึ่งผมเชื่อว่าผู้บริหารหลายๆ ท่านคงเคยมีประสบการณ์พบเจอกับพนักงานทั้งสองระดับนี้มาแล้วบ้างไม่มากก็น้อย คำถามคือจะบริหารจัดการคนกลุ่มนี้อย่างไร

ตามความคิดเห็นของผมนั้น การบริหารพนักงานกลุ่ม Deadwood ควรจะมีการวิเคราะห์หาสาเหตุของพฤติกรรมพนักงานเสียก่อน เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้พนักงานคนหนึ่ง “หย่อน” อาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ได้ทำงานที่ไม่ถนัด ไม่ได้รับการสื่อสารเพื่อเชื่อมโยงเป้าหมายองค์กรกับเป้าหมายส่วนตัวด้วยกัน ได้รับการยอมรับหรือตอบแทนไม่สมดุลกับสิ่งที่กระทำ ปรับตัวเข้ากับผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงานไม่ได้ กำลังประสบปัญหาส่วนตัว บางคนอาจจะมีลักษณะเฉื่อยชาเป็นนิสัยมาตั้งแต่เด็ก ในขณะที่บางคนเพิ่งจะกลายเป็น Deadwood หลังจากมีปัจจัยบางอย่างมากระทบ จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้างานที่จะต้อง “วินิจฉัย” อาการและสาเหตุของพนักงานแต่ละคน ก่อนจะ “สั่งยา” เพื่อรักษาอาการให้ถูกโรค ซึ่งเครื่องมือในการวินิจฉัยที่สามารถนำไปใช้ได้มีดังนี้

1. การพูดคุยสอบถาม  มีใครบางคนที่มีอารมณ์ขันเคยเขียนไว้ว่า Talk to Your Boss Once a Day, Keep Bad Things Away” ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ผู้บังคับบัญชาที่มีโอกาสพูดคุยกับลูกทีมอย่างไม่เป็นทางการสม่ำเสมอ นอกจากจะเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดี และความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันแล้ว ยังเป็นโอกาสให้ผู้บังคับบัญชาได้ตรวจสอบความรู้สึกนึกคิด ความคาดหวังและปัญหาลึกๆ ที่พนักงานกำลังประสบอยู่ เช่น กำลังอึดอัดใจที่ถูกมอบหมายงานที่ไม่ถนัด ต้องพยาบาลบิดามารดาที่กำลังป่วยทำให้มีปัญหาในการจัดเวลา เมื่อผู้บังคับบัญชาตรวจพบ “สัญญาณ” ที่ส่งจากพนักงานระหว่างการพูดคุยก็จะสามารถวิเคราะห์และหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ทันก่อนจะเกิดความเสียหายขึ้น

2. การใช้เครื่องมือสำรวจ บ่อยครั้งการใช้เครื่องมือประกอบก็สามารถทำให้เราพบต้นตอของปัญหา เช่น การทำแบบสำรวจ Individual Development Plan การสำรวจแบบ Grid ที่วัดทั้ง Potential และ Performance เมื่อได้พบความไม่สมดุลระหว่างปัจจัยบางอย่าง เช่น หากสำรวจพบว่าพนักงานที่เป็น Deadwood มี Performance ต่ำแต่มี Potential สูง แสดงว่ายังเป็นพนักงานที่มีศักยภาพอยู่ แต่ยังไม่สามารถแสดงความสามารถออกมาได้อย่างเต็มที่ อาจจะเพราะถูกปิดกั้นด้วยโครงสร้างองค์กร มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ไม่ได้รับการสื่อสารความสำคัญของสิ่งที่ทำอย่างเพียงพอ ข้อมูลที่ได้ จากการใช้เครื่องมือสำรวจจะเป็นข้อมูลพื้นฐาน ให้ผู้บังคับบัญชาวิเคราะห์และสั่งยาให้ถูกโรคได้ การใช้เครื่องมือสำรวจมีข้อดีตรงที่เราสามารถเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและสามารถประเมินพัฒนาการของพนักงานเป็นระยะได้อีกด้วย

ในการบริหารพนักงานที่เป็น Deadwood นั้น ผมชอบคำกล่าวหนึ่งที่ว่า “อย่าเพิ่งด่วน

ตัดสินใจว่าพนักงานคนนี้เป็น Deadwood และไม่เหมาะสมที่จะอยู่กับองค์กรต่อไป ขอให้มองรอบด้านที่ว่า พนักงานก็เหมือนกับต้นไม้ที่เราปลูก หากต้นไม้ไม่งอกงามตามที่คาดหวัง อาจจะไม่ได้เกิดจากต้นไม้ไม่ดี แต่อาจจะเกิดจากดินที่เราใช้ปลูกไม่เหมาะสม จุดที่เราวางต้นไม้อาจจะไม่เหมาะสม ปุ๋ยที่เราใส่อาจจะผิดชนิดก็ได้ หากสำรวจจนพบสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าสำหรับต้นไม้ชนิดนี้ และเปลี่ยนแปลงวิธีการดูแล เปลี่ยนชนิดของดินและปุ๋ย ยกกระถางออกรับแดดมากขึ้น หรือปรับจำนวนน้ำรดให้เหมาะสม ก็น่าที่จะทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตต่อไปได้”

การบริหารจัดการพนักงานกลุ่ม Deadwood ด้วยการลงโทษเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องนัก เพราะบ่อยครั้งพนักงานเพียงแค่มีสภาวะ Deadwood ชั่วคราวจากปัญหาบางอย่าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะช่วยเหลือให้พนักงานกลับมาได้อีกครั้ง และได้ทำในสิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุดเพื่อความสำเร็จของทุกๆ ฝ่าย

--------------------

วรวัจน์ สุวคนธ์

ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)