เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติพรุ่งนี้ว่าจะรับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร

 คนไทยก็ยังต้องตั้งคำถามว่า : “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?”

หาก สปช. ยกมือให้ผ่าน ก็ไม่ได้แปลว่าร่างนี้จะสามารถพาประเทศชาติให้พ้นจากวิกฤตการเมืองเข้าสู่ภาวะ “ปกติ” ได้

เพราะยังจะต้องเข้าสู่การลง “ประชามติ” ซึ่งนอกจากจะมีคำถามว่า “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว ยังจะมี “คำถามเพิ่ม” ที่มาจาก สปช.

คำถามจะเป็นว่า “ควรมีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติหรือไม่?” หรือ “ควรให้รัฐบาลปฏิรูปสองปีก่อนการเลือกตั้งหรือไม่?”

หรือ สปช. อาจจะตกลงกันไม่ได้จนไม่เสนอคำถามที่สอง ให้ประชาชนต้องลงมติกันก็เป็นไปได้

แต่หากพรุ่งนี้ สปช.ส่วนใหญ่มีมติไม่ให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็จะต้องตั้งคณะกรรมการยกร่างใหม่ ซึ่งก็หนีไม่พ้นว่าจะต้องถกแถลงกันในประเด็นเดิมๆ ที่ทำให้ร่างนี้ไม่ผ่านอยู่ดี

หากไม่ผ่าน Roadmap หรือ “แผนที่เดินทาง” การเมืองของประเทศก็จะต้องกลับมาปรับปรุงใหม่ เพราะจะไม่ใช่เป็นการเดินทางเส้นตรงเหมือนที่วางเอาไว้ จะต้องเลี้ยวเข้าตรอกเข้าซอยก่อนที่จะโผล่มาบนถนนสายใหญ่อีกครั้งหนึ่งก่อนจะถึง “จุดหมายปลายทาง” ของ คสช.

ผมไม่เชื่อเรื่อง “ลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ” เพราะ “แป๊ะ” เองก็รู้ว่าจะต้องเอาเรือนี้ไปถึงฝั่งให้ได้เพื่อส่งให้คนบนฝั่งที่รออยู่ 60 ล้านคน จะพายเรือวนไปมาอย่างไร ท้ายสุดก็ต้องขึ้นฝั่ง เพราะหากล่มเสียก่อน แป๊ะเองนั่นแหละที่จะถูกถล่ม

แต่คำถามที่ว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?” นั้นคือหัวใจของประเด็นที่คนไทยจะต้องถกแถลงเพื่อตกผลึกและหาข้อสรุปให้ได้

นั่นคือทำไมเราไม่สามารถสร้าง “กระบวนการ” ของการอยู่ร่วมกันที่มีกติกาที่ “ป้องกัน” และ “แก้ไข” ความขัดแย้งโดยไม่ต้องเข้าสู่ “ภาวะไม่ปกติ” จนมี “อำนาจนอกระบบ” เข้ามากำหนดความเป็นไปอย่างที่เป็นอยู่?

เรามาถึงจุดที่มีคนอ้างได้ว่าหากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ นักการเมืองก็จะตีกันเอง ประชาชนจะแบ่งฝ่าย และความรุนแรงก็จะกลับมาอีก

แปลว่าสังคมไทยไม่มีกลไกใดที่มีประสิทธิภาพพอ ในการที่จะป้องกันความรุนแรง อันเกิดจากการขัดกันของผลประโยชน์ของกลุ่มการเมือง

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

ที่มีคนอ้างว่าความรุนแรงจะกลับมาอีก เพราะกลุ่มการเมืองจะยกพวกตีกัน เพื่อแย่งอำนาจในการปกครองบ้านเมืองนั้น เขาเน้นปัญหาไปที่นักการเมืองและนักเลือกตั้ง แต่ประชาชนเองไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกัน ยกเว้นเสียแต่กลุ่มประชาชนที่นักการเมืองเหล่านี้ไปปลุกปั่น หรือใช้วิธีการล่อด้วยคำมั่นสัญญาอะไรบางอย่าง

แปลว่าทหารอ้างว่าที่ต้องมีอำนาจต่อแม้หลังเลือกตั้งแล้ว (จะในรูปคณะกรรมการยุทธศาสตร์หรือ กลไกอะไรก็ตามแต่) ก็เพราะนักการเมืองจะห้ำหั่นด้วยกำลังใส่กันจนบ้านเมืองวุ่นวายล่มสลาย

เราจะแก้ข้อกังขานี้ได้อย่างไร?

เขาอ้างว่าที่ต้องมี “นายกฯจากคนนอก” นั้นก็เพราะหากไม่มี “บันไดหนีไฟ” นี้ เกิดวิกฤตการเมืองขึ้นมา บ้านเมืองถึงทางตันอย่างที่เคยเกิดมาแล้ว ใครจะรับผิดชอบ?

เรามีคำตอบไหมว่าพรรคการเมือง ที่ควรจะเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงจะเป็นผู้รับผิดชอบ กองทัพไม่ต้องอาสาเข้ามาแก้ปัญหาให้?

คนไทยเรากี่ส่วนที่เชื่อว่าสังคมไทยสามารถแก้ปัญหานี้ได้เอง ไม่ต้องมีใครใช้ “อำนาจพิเศษ” มา “ช่วยชาติ”? และกี่ส่วนที่ไม่เชื่อ? ประสบการณ์สิบปีที่ผ่านมาทำให้เรามั่นใจหรือไม่มั่นใจในคำตอบนี้เพียงใด?

คนไทยเราพร้อมจะลุกขึ้นยืนยันว่า เราแก้ปัญหาเองได้ เราสร้างประชาธิปไตยเองได้ ไม่ต้องมีคนกลุ่มหนึ่งคนใดมาอาสาใช้อำนาจพิเศษมาแก้ให้หรือยัง?

ใครตั้งคำถามว่าคนไทยพร้อมสำหรับประชาธิปไตยแบบตะวันตกหรือไม่ จะถูกโห่ จะถูกด่าว่าเลื่อมใสเผด็จการ

แต่ถ้าถามว่าประชาธิปไตยแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยคืออย่างไร ความเงียบงันก็ยังคงดังก้องกังวานไปทั่ว

เราไม่ต้องการให้ใครมาทำรัฐประหารอีก เราไม่ต้องการให้ใครอ้างเป็นเจ้าของความเป็นประชาธิปไตยแต่เพียงกลุ่มเดียว และเราก็ไม่ต้องการให้ใครใช้เงินซื้อประเทศนี้เป็นของเขาคนเดียว

เราตกลงกันได้หรือยังว่า ประชาธิปไตยที่กล่าวอ้างกันในทุกวงการในสังคมไทยนั้นมันคืออะไรกันแน่?

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?