อีกครั้งกับรถคันแรก

อีกครั้งกับรถคันแรก

แม้ว่าโครงการรถคันแรก จะหมดระยะเวลายื่นขอใช้สิทธิไปพักใหญ่ แต่ก็ยังไม่สามารถปิดโครงการ

อย่างเป็นทางการได้ เนื่องจากยังมียอดผู้ใช้สิทธิที่ยังไม่ดำเนินการรับรถอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งกรมสรรพสามิตตั้งเป้า ว่าทุกอย่างจะต้องปิดให้ได้ภายในเดือน ก.ย. หลังจากที่พบว่าปีนี้จำนวนคนมารับรถน้อยมาก และเป็นไปได้สูงที่ผู้ที่ถือสิทธิอยู่อีกประมาณ 1 แสนคน จะทิ้งใบจอง 

นอกจากนี้สิ่งที่เป็นร่องรอยของโครงการในขณะนี้ ในมุมมองของคนในตลาดรถยนต์คือ โครงสร้างตลาดที่บิดเบี้ยว และมีผลกระทบกับภาพรวมตลาดรถยนต์ที่ถดถอยอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนว่าปัจจัยลบมีหลายอย่าง แต่หลายคนก็มองว่าโครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยลบเหล่านั้น เพราะนอกจากจะดึงกำลังซื้อไปล่วงหน้าแล้ว ยังทำให้เกิดภาวะหนี้เสีย เพราะหลายคนไม่สามารถที่จะผ่อนชำระได้

และปัญหาที่ตามมาก็คือ ไม่สามารถที่จะขายรถเพื่อลดภาระทางการเงินได้ เพราะเงื่อนไขของโครงการข้อหนึ่งระบุว่า จะต้องถือครองไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี

เงื่อนไขข้อนี้ บางคนในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์มองว่า เป็นอุปสรรคต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและตลาดรถยนต์ จึงต้องการให้ภาครัฐปลดล็อค ด้วยกาารลดเงื่อนไขการถือครองลง เพื่อให้เกิดการซื้อขายได้เร็วขึ้น เช่น เหลือ 3 ปีเป็นต้น

และเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ที่จะต้องมีการโต้แย้งในเรื่องต่างๆ เรื่องนี้ก็เช่นกัน เพราะในขณะที่บางคนมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เกิดความยืดหยุ่นได้มากขึ้น มีสภาพคล่องที่ดีขึ้น และอย่างน้อยที่สุด แม้ว่าคนที่สามารถขายรถคันแรกทิ้งไป จะไม่สามารถซื้อรถคันใหม่ หมายถึงไม่มีผลโดยตรงต่อการฟื้นตลาดรถยนต์ที่กำลังถดถอยได้มากนัก แต่อย่างน้อยก็เชื่อว่าจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ และทำให้เงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องมีภาระค่าผ่อนงวด ค่าดูแลบำรุงรักษารถ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าทางด่วน ค่าที่จอดรถ ซึ่งแต่ละปีไม่ใช่น้อยๆ จึงมีเงินไปจับจ่ายใช้สอยด้านอื่นมากขึ้น 

แต่อีกมุมหนึ่งมองว่า จะเป็นการเอาเปรียบผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิในโครงการนี้ เพราะผู้ที่ซื้อรถในโครงการรถคันแรกนั้น ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐไปแล้วคือ การรับเงินคืนภาษีสรรพสามิต สูงสุด 1 แสนบาท 

ดังนั้นหากจะเลิกถือครองกลางทาง ควรที่่จะต้องคืนเงินภาษีให้รัฐด้วยหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นเท่ากับว่าคนกลุ่มนี้ ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐถึง 2 ครั้ง 2 หนด้วยกัน ... เป็นคำถามที่น่าคิดเช่นกัน 

ยังไม่หมดแค่ความคิดเห็น 2 แนวทางนี้ ยังมีอีกความเห็นที่ชี้แจงว่า อย่ามองว่าการปลดล็อคระยะเวลาถือครอง เป็นการสนับสนุนครั้งใหม่ของภาครัฐ แต่เป็นการแก้ปัญหาที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาเอง 

เพียงแต่ว่ารัฐบาลที่สร้างปัญหา กับรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาเป็นคนละชุดกัน แต่ก็ถือว่าเป็นรัฐบาล

กลุ่มนี้มองว่าเหตุผลหนึ่งที่ผู้บริโภคไม่สามารถผ่อนชำระได้ เนื่องจากซื้อรถที่เกินตัว เกินความต้องการ เกินรายได้ เพราะในบรรดารถที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการนั้น รถซับคอมแพคท์ เป็นกลุ่มที่มีราคาสูงที่สุดในบรรดารถเก๋งที่ได้สิทธิคืนภาษีเต็ม 1 แสนบาท และตัวเลข 1 แสนบาท กลายเป็นแรงจูงใจให้คนที่อาจจะมีความพร้อมแค่ซื้อรถอีโค คาร์ หันไปซื้อซับคอมแพคท์แทน ซึ่งเกิดขึ้นจากกำหนดเงื่อนไขที่ผิดของรัฐ ดังนั้นจึงเห็นว่าน่าจะให้โอกาสคนกลุ่มนี้ในการขายรถที่เกินตัวทิ้งไป 

เรียกได้ว่ายังมีความหลากหลายทางความคิด ซึ่งคงต้องหาจุดลงตัวให้ได้ ซึ่งสัปดาห์นี้มีข่าวว่าจะมีการหารือกันอีกครั้ง ระหว่างกรมสรรพสามิตกับกลุ่มผู้ประกอบการเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ซึ่งก็หวังว่าจะมีการถกเถียง แลกเปลี่ยนกันอย่างเข้มข้น และได้คำตอบได้ทางออกว่าจะเอาอย่างไร เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น ดีกว่าปล่อยให้มีแต่ข่าวที่ว่ากันไปว่ากันมา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตลาดสักเท่าใด