ดิจิทัลอีโคโนมี อย่าลงทุนสูญเปล่า

ดิจิทัลอีโคโนมี อย่าลงทุนสูญเปล่า

หลังรัฐบาลปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

 เข้าคุมทีมเศรษฐกิจที่ไม่ใช่สายพลังงาน ซึ่งได้เผยถึงนโยบายแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจ มุ่งเรื่องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น และยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นนโยบายเร่งด่วน กรณีดังกล่าวนายธีระ กนกกาญจนรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ด้านกลยุทธ์และอุตสาหกรรมไอซีที บริษัท เจ.เอ็ม. คาตาลิสท์ บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษา ให้ความเห็นว่า นอกจากเรื่องช่วยเหลือเอสเอ็มอี และการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นจะเป็นนโยบายเร่งด่วนแล้ว ภาครัฐไม่ควรหยุดสนับสนุนนโยบายดิจิทัลอีโคโนมี แต่ควรพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจ การลงทุน ผลที่ได้รับจากระบบเศรษฐกิจดิจิทัล มีทั้งการขับเคลื่อนในแง่ของมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยตรง เช่น การเติบโตของระบบอีคอมเมิร์ซ ซึ่งในไทยมีมูลค่าสูงขึ้นและมีเติบโตสูงถึง 30% ต่อปีโดยเฉลี่ย คาดว่าปีนี้มูลค่าซื้อขายในอีคอมเมิร์ซจะมีมากกว่า 8 แสนล้านบาท

 ดังนั้น จะเห็นว่ายังมีโอกาสให้เติบโตอีกมาก โดยประชากรกว่าครึ่งยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ฉะนั้นหากพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้เกิด จะได้เห็นมูลค่าค้าขายและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นทันที แม้ว่านโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและการบริหารจะเปลี่ยนแปลง แต่ภาครัฐไม่ควรละเลยนโยบายการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดดิจิทัล อีโคโนมีในประเทศไทย

ขณะที่นักธุรกิจไอทีอื่นๆ มีมุมมองว่า ดิจิทัล อีโคโนมี เป็นเรื่องที่ต้องทำทุกกระทรวง ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพียงกระทรวงเดียว เปรียบเหมือนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม สร้างเครื่องจักรไอน้ำ เครื่องจักรทอผ้า เป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนกันไปทุกอุตสาหกรรม ดิจิทัล อีโคโนมี เป็นยุคๆ หนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่ทุกกระทรวงทบวง กรม ต้องขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลทั้งสิ้น ผสมผสานทุกมิติ มีเครื่องมือเข้าช่วย ต้องสร้างคน และให้เอกชนเข้ามีส่วนร่วม หากไม่มีเอกชนช่วยขับเคลื่อน ปลายทางก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่หากไม่มีดิจิทัล อีโคโนมีเลย ก็จะล้าหลังไปเรื่อยๆ เพราะประเทศอื่นใช้ดิจิทัลเข้ามาขับเคลื่อนกันไปไกลแล้ว 

ไม่ว่าจะใช้ชื่อเรียกว่าอย่างไร แต่ดิจิทัล ต้องเข้ามามีบทบาทหนุนช่วยเศรษฐกิจและสังคมต่อไป โดยภาครัฐเอง ระบบราชการต้องเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัล เพื่อบริหารบ้านเมืองโดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในทุกด้าน มีนวัตกรรมทางนโยบายให้ประเทศเป็นดิจิทัล เป็นรัฐบาลดิจิทัล บริหารดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล และสังคมดิจิทัล ซึ่งจะแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนโดยทั่วถึง เท่าเทียม อันจะส่งผลกลับคืนสู่ประเทศให้เศรษฐกิจแข็งแกร่ง ประชาชนมีคุณภาพต่อไป ทั้งนี้ การจะทัดเทียมประเทศอื่น หรือแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ จะต้องใช้ตัวชี้วัดเดียวกับสากล ไม่ใช่ตั้งตัวชี้วัดขึ้นใหม่ใช้เฉพาะประเทศ อันจะกลายเป็นไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศอื่นๆ

แม้จะเร่งรัดให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น แก้ปัญหาผู้มีรายได้น้อย ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมกระจายโอกาส เพิ่มการรับรู้และเปิดโอกาสให้เขาเหล่านั้นเข้าถึงดิจิทัล นำเทคโนโลยีไปช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต เปิดช่องทางธุรกิจ ให้ทันต่อเศรษฐกิจยุคใหม่ๆ น่าจะช่วยให้เขาเหล่านั้นเติบโต พัฒนาตัวเองได้อย่างยั่งยืน ต้องมองเขาด้วยสายตาของความเท่าเทียม และเปิดโอกาสที่เขาจะเข้มแข็ง เพื่อมาหนุนช่วยเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่อไป อย่าปล่อยให้นโยบายดิจิทัล อีโคโนมีที่ลงทุนเริ่มต้นไปแล้วสูญเปล่า แต่ควรใช้โอกาสปรับปรุงสิ่งที่ยังไม่เหมาะสม ให้เข้าที่เข้าทางแล้วเดินหน้าต่ออย่างมั่นคง