เหตุผลที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย กันยายน 2015

เหตุผลที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย กันยายน 2015

สัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความโกลาหลของตลาดหุ้นทั่วโลก ส่งผลให้โอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด

จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนนี้ลดลงเป็นอย่างมาก น้ำหนักของโทนดังกล่าวยิ่งชัดเจนขึ้น เมื่อผู้ว่าการธนาคารกลางรัฐนิวยอร์ก ดร.วิลเลียม ดัดลีย์ ให้ความเห็นว่า โอกาสการไม่ขึ้นดอกเบี้ยในเดือนนี้มีความเป็นไปได้สูงขึ้น อย่างไรก็ดี รองประธานธนาคารกลางสหรัฐนามว่า ดร.แสตนลีย์ ฟิชเชอร์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนาธนาคารกลางระหว่างประเทศต่างๆ ที่เมืองแจ็คสัน โฮว เมืองไวโอมิง ที่กล่าวไว้ว่า ถึงตรงนี้ คงไม่ต้องห่วงเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจหรืออัตราว่างงานมากนัก ว่าจะทำให้เฟดไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากว่าได้เกินระดับที่เป็นเป้าหมายของเฟดเรียบร้อยแล้ว โดยนายฟิชเชอร์ได้กล่าวถึง 4 เหตุผลหลักที่อัตราเงินเฟ้อก็น่าจะไม่ใช่อุปสรรคในการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ดังนี้

หนึ่ง หากพิจารณาว่าระดับราคาน้ำมันในปีนี้ที่ลดลงกว่าร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จะพบว่าดัชนีระดับราคาการบริโภคส่วนบุคคลทั้งหมดเฉลี่ยในรอบ 12 เดือนลดลง จนล่าสุดเกือบจะแตะระดับร้อยละศูนย์ (รูปที่ 1) อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่มิได้รวมหมวดอาหารและเงินเฟ้อ หรือ Core Inflation จะพบว่า PCE index ดังกล่าวสูงขึ้นราวร้อยละ 1.2 ในปีที่ผ่านมา และเมื่อใช้ค่าเฉลี่ยของเฟดสาขา ดัลลัส จะอยู่ที่ราวร้อยละ 1.6 ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่ร้อยละ 2 อยู่ดี

อย่างไรก็ดี ในรอบวัฏจักรเศรษฐกิจที่ผ่านมาของสหรัฐ จะพบว่าอัตราเงินเฟ้อแบบ Core Inflation ดังกล่าวจะต่ำว่าร้อยละ 2 เสมอ ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อแบบ Core Inflation ก็มิใช่ว่าปราศจากพลังงานและอาหาร เนื่องจากค่าใช้จ่ายจากราคาน้ำมันจะไปกระทบต้นทุนของบริษัทต่างๆและผ่านไปสู่ราคาของสินค้าที่มิใช่น้ำมันอยู่ดี

สอง หากพิจารณาสถิติระดับราคาน้ำมันดิบ Brent ย้อนหลังในรอบ 12 ปี (รูปที่ 2) จะพบว่าราคาอยู่ในระดับปัจจุบันหรือต่ำกว่าถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเพิ่งประสบปัญหา Dot com Bubble ในสหรัฐ รวมถึงผ่านวิกฤติต้มยำกุ้งในเอเชียไม่นานมากนัก ครั้งที่สอง ในช่วงที่เกิดวิกฤติซับไพร์ม เมื่อปลายปี 2008 นายฟิชเชอร์ค่อนข้างจะมั่นใจว่า การตกต่ำลงของราคาน้ำมันในครั้งนี้ ก็จะไม่แตกต่างจากใน 2 ครั้งที่ผ่านมา นอกจากนี้ ระดับราคาฟิวเจอร์สของน้ำมันดิบก็ยังอยู่ในระดับที่ทรงๆ มิได้ลดลงฮวบฮาบแต่อย่างใด นั่นคือการลดลงของราคาน้ำมันในเที่ยวนี้ น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อที่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ก็จะขึ้นมาอยู่ในระดับที่เฟดวางเป้าหมายได้ในที่สุด

สาม นับตั้งแต่ปี 2009 ที่เศรษฐกิจสหรัฐมีอัตราการว่างงานถึงกว่าร้อยละ 10 และลดลงเรื่อยๆ จนในตอนนี้เหลือราวร้อยละ 5.4 แน่นอนว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังมีสินค้าทุนที่บริษัทต่างๆ ยังมิได้ใช้อย่างเต็มที่ หรือที่เรียกว่า Slack หลงเหลือในเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงต่ำอยู่ อย่างไรก็ดี Slack ดังกล่าวกำลังเหลือน้อยลงเรื่อยๆ และจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่รวมและไม่รวมหมวดอาหารและพลังงานจนแตะร้อยละ 2 ในที่สุด นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ จะไปกดให้ราคาของสินค้านำเข้าลดลงและไปกดราคาสินค้าให้ขึ้นช้าลง ที่สำคัญค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งจะไปชะลอการเติบโตของอุปสงค์รวมและกิจกรรมเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ และส่งผลทางอ้อมต่อเศรษฐกิจเล็กน้อย โดยผลดังกล่าวจะลดลงในระยะต่อไป

ท้ายสุด  คำถามที่สำคัญ ได้แก่ ช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นว่าจะยาวนานแค่ไหน จากการจำลองเหตุการณ์ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นร้อยละ 10 ต่อระดับจีดีพี และอัตราเงินเฟ้อแบบ Core Inflation ที่วิเคราะห์โดยทีมวิจัยของเฟด (รูปที่ 3) ปรากฎว่าผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อค่อนข้างจะเป็นเวลาสั้นๆ จึงน่าจะทำให้มั่นใจได้ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐน่าจะกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมายได้ค่อนข้างเร็ว

อย่างไรก็ดี นายฟิชเชอร์ก็ยังโปรยยาหอมให้กับชาวโลกว่า เฟดก็ใส่ใจต่อเศรษฐกิจต่างประเทศในการพิจารณาช่วงเวลาต่อไปที่จะขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งตรงนี้เหมือนจะบอกว่ากันายายนนี้ อาจมีข่าวดีให้ได้รับทราบกันครับ

หมายเหตุ หนังสือเล่มล่าสุดด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาคของผู้เขียน “เล่นหุ้นในไทย รวยไกลรอบโลก” เริ่มวางจำหน่ายทั่วประเทศ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้ที่ www.facebook.com/MacroView และ LINE ID: MacroView ครับ