ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เปลี่ยนแปลง

 ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เปลี่ยนแปลง

ผมได้รับเกียรติจากสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์ ให้ไปร่วมฟังและแสดงความคิดเห็น

ในเรื่องเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลง ผมจึงขออนุญาตนำสิ่งที่คิดไว้เอามาเขียนก่อน เผื่อว่ามีข้อโต้แย้งอะไรเกิดขึ้น ก็จะได้เอามาปรับใช้แก้ไขให้เหมาะสมมากขึ้นนะครับ

เท่าที่ผมตามอ่านเอกสารที่ศึกษาความเหลื่อมล้ำจำนวนหนึ่งพบว่า เรามักจะคิดและเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำค่อนไปในทางที่มองเป็นปัญหาคงที่/สถิต (static) เช่น ความเหลื่อมล้ำในปัญหาที่ดิน ก็จะมองว่า ปัญหามาจากการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน ชาวบ้านไม่มีสิทธิในที่ดิน และต้องคิดถึงการสร้างโฉนดของชุมชน หรือหากพิจารณาความเหลื่อมล้ำในปัญหาชาวนา ก็จะมองถึงการขายข้าวในตลาดไม่ได้ราคา ในขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทางออกจึงต้องสร้างตลาดข้าวทางเลือก เป็นต้น

การมองความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ยังติดยึดอยู่ในกรอบความคิดที่สถิตเช่นนี้ แม้ว่าในด้านหนึ่งจะมีประโยชน์ในแง่ที่เพิ่มข้อมูลได้กว้างขวางมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับจะทำให้มองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำที่สลับซับซ้อนมากขึ้น และที่สำคัญจะทำให้มองไม่เห็นว่า ทางออกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำจะทำกันอย่างไร  นอกจากการนำเสนอทางแก้ในแบบเดียวกันที่นำเสนอกันมานานแล้ว

ผมอยากจะให้ลองพิจารณา “ความเหลื่อมล้ำ” อย่างเป็นประวัติศาสตร์ หมายความว่า แม้ว่าความหมายโดยรวบยอดของความเหลื่อมล้ำจะเน้นถึง ความไม่เสมอภาค ไม่เท่าเที่ยม และไม่ยุติธรรม ระหว่างกลุ่มคนในสังคม แต่ตัวความเหลื่อมล้ำนั้น มีความเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม เพราะความเหลื่อมล้ำทั้งหมดเกิดขึ้นจากระบบความสัมพันธ์ของสังคม เมื่อระบบความสัมพันธ์ของสังคมเปลี่ยนแปลงไป ความเหลื่อมล้ำก็จะเปลี่ยนรูปพร้อมกันไปด้วย ความไม่เสมอภาค ไม่เท่าเทียม และไม่ยุติธรรม ในบริบทของแต่ละยุคสมัยย่อมมีความแตกต่างกันไป

กรอบคิดในการพิจารณาความเหลื่อมล้ำ จึงจำเป็นที่ต้องมองอย่างมีความสัมพันธ์กับบริบทของสังคมในแต่ละช่วงเวลา ไม่สามารถที่กล่าวอย่างเหมารวมได้ ความเหลื่อมล้ำในยุคสมัยที่ชาวบ้านยังไม่เข้าสู่การผลิตแบบใหม่เต็มตัว ก็จะมีลักษณะหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจที่เร่ง/ผลักดัน ให้ชาวบ้านเปลี่ยนตัวเองมาสู่การผลิตเพื่อขายเต็มรูปแบบ ก็จะเป็นความเหลื่อมล้ำอีกลักษณะหนึ่ง และความเหลื่อมล้ำในยุคสมัยที่ชาวบ้านเปลี่ยนตนเองมาสู่การประกอบการเชิงธุรกิจก็จะเป็นอีกรูปลักษณะหนึ่ง

แน่นอนว่า ความเหลื่อมล้ำในการถือครองปัจจัยการผลิตหลัก ได้แก่ ที่ดิน ยังคงเป็นรากฐานส่วนที่สำคัญ หรือสาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย แต่การถือครองที่ดินไม่ได้เป็นปัจจัยหลักเพียงประการเดียว ในการขัดขวางการก้าวข้ามชนชั้นหรือการลดความเหลื่อมล้ำ หากแต่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ได้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในมิติอื่นๆ อีกหลายด้าน

หากพิจารณาสังคมไทยปัจจุบันนี้ เราก็จะพบว่า ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยสัมพันธ์อยู่กับบริบทของจังหวะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญที่เกิดขึ้นทั้งในภาคการผลิตอุตสาหกรรมสมัยใหม่ การผลิตภาคบริการและการผลิตในภาคเกษตรกรรม

การผลิตอุตสาหกรรมในสังคมไทยปัจจุบัน ได้เริ่มขยับออกจากการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น มาสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ทุนและความรู้เข้มข้นมากขึ้น กระบวนการเปลี่ยนวิถีการผลิตอุตสาหกรรมเช่นนี้ ได้ทำให้การจ้างงานแรงงานปกคอเสื้อสีน้ำเงินมีจำนวนลดลง ขณะเดียวกัน แรงงานปกคอเสื้อขาวและพนักงานบริหาร มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นโดยเปรียบเทียบ

การเปลี่ยนวิถีการผลิตอุตสาหกรรมเช่นนี้ ได้ทำให้ค่าตอบแทนแรงงานปกคอเสื้อขาวและพนักงานบริหารเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม ความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำของรายได้ในภาคการผลิตอุตสาหกรรมสมัยใหม่จึงทวีมากขึ้น โดยที่แรงงานผู้ขายแรงงานก็ไม่สามารถที่จะรวมตัวกัน เพื่อทำงานสหภาพแรงงานได้เข้มแข็งเหมือนเดิม เพราะการจ้างงานที่ลดลง ทำให้คนงานจำนวนมากจำเป็นยอมทนมากกว่าที่จะยอมทำงานเป็นสหภาพเพื่อต่อสู้ต่อรองกับฝ่ายบริหาร

การผลิตภาคบริการที่ขยายตัวอย่างมากในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ทั้งสองระดับ ได้แก่ ระดับภาคบริการที่เป็นทางการ กับภาคบริการที่ไม่เป็นทางการ ความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำในภาคการผลิตบริการนี้เห็นได้ชัดว่า ภาคการผลิตที่เป็นทางการ มีสัดส่วนของความได้เปรียบมากกว่าภาคการผลิตไม่เป็นทางการ  จำนวนแรงงานภาคการผลิตไม่เป็นทางการ ที่ตกอยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำมีสัดส่วนถึงร้อยละหกสิบห้าของกำลังแรงงานทั้งหมดของสังคม ซึ่งก็หมายความว่า ความเหลื่อมล้ำในภาคการผลิตบริการ ได้กลายเป็นความเหลื่อมล้ำหลักในส่วนของแรงงานทั้งหมดของสังคม

ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตในสังคม ทั้งในส่วนของการผลิตอุตสาหกรรมเข้มข้น และภาคบริการ เป็นผลโดยตรงมาจากภาคการเกษตรที่ลดความสำคัญลง และใช้แรงงานน้อยลงมากกว่าเดิมมาก ดังนั้น จึงทำให้การไหลจากภาคเกษตรกรรมเข้าสู่ภาคการผลิตอื่นสูงมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในระบบ ก็ปรับเปลี่ยนใช้แรงงานไม่มากเหมือนเดิม จึงทำให้การผลิตภาคบริการที่ไม่เป็นทางการกลายเป็นแหล่งงานที่สำคัญที่สุด

ผู้คนในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ จึงเป็นฐานล่างสุดของความเหลื่อมล้ำ ยิ่งเศรษฐกิจตกต่ำเท่าไร คนกลุ่มนี้ก็จะรับกรรมมากกว่าคนกลุ่มอื่นในสังคม หากคิดจะกลับไปสู่การผลิตเกษตรกรรม ก็ทำไม่ได้เหมือนเมื่อตอนวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 จะอยู่ในภาคบริการไม่เป็นทางการต่อไป ก็ยากลำบากมากขึ้นกว่าเดิม แรงกดดันจึงมากมายทวีคูณ

สังคมญี่ปุ่นหลังสงคราม ผู้คนที่ยากแค้นส่วนใหญ่ก็สร้างงานไม่เป็นทางการขึ้นมาเพื่ออยู่รอด หากแต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้พยายามทำให้เกิด “ตลาดภายใน” ที่เข้มแข็ง เพื่อที่จะพัฒนาไปสู่การแสวงหาตลาดภายนอก  หากการคิดถึงการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ซ้อนทับกัน และน้ำหนักส่วนใหญ่ไปอยู่บนบ่าของภาคการผลิตไม่เป็นทางการ ก็คงต้องศึกษาและแสวงหาแนวทางการสร้าง “ตลาดภายใน” เพื่อรองรับภาคการผลิตไม่เป็นทางการของสังคม ซึ่งมีโอกาสเป็นการปูทางไปสู่การสร้าง “ตลาดใหม่” ภายนอกในอนาคต