“ศรัทธา ความเชื่อ ความหวัง” 15 ปี กับผู้ตรวจการแผ่นดิน

“ศรัทธา ความเชื่อ ความหวัง” 15 ปี กับผู้ตรวจการแผ่นดิน

หากติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือ “รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศไทย”

จะเห็นได้ว่าเกือบจะมีการจัดตั้งองค์กรแบบ “เอาของเก่ามาหลอมใหม่” นั่นคือการยุบรวม 2 องค์กรอิสระ ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผลให้ที่ผ่านมา มีบทความจำนวนไม่น้อยได้สะท้อนมุมมองคัดค้าน หรือสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ในที่สุดร่างรัฐธรรมนูญที่จะส่งมอบให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ ลงมติให้ความเห็นชอบเร็วๆ นี้ ยังคงให้คณะทำงานสององค์กรดำรงตำแหน่งจนกว่าจะครบวาระ จากนั้นจะมีการประเมินผลการปฏิบัติงานจากคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติว่า ทั้งสององค์กรนี้ควรจะมีการควบรวมหรือไม่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชน

สำหรับในบทความนี้ผู้เขียน มีความตั้งใจนำเสนอบทบาทหน้าที่ และผลการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดินเท่านั้น และหากพูดถึงหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว อาจกล่าวได้ว่า มีหน้าที่คล้ายกับตัวละคร “เปาบุ้นจิ้น” คอยรับเรื่องร้องเรียนและช่วยแก้ไขปัญหาของประชาชนที่เดือดร้อน ซึ่งในต่างประเทศเปรียบเทียบผู้ตรวจการแผ่นดินว่าเสมือนเป็นWatch Dog” ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ และเฝ้าระวังไม่ให้รัฐใช้อำนาจไม่เป็นธรรมกับประชาชน

ก่อนรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี พ.ศ.2550 องค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหน่วยงานของรัฐ มีสถานะเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ต่อมาในรัฐธรรมนูญฯ ฉบับ พ.ศ. 2550 ได้เพิ่มอำนาจให้องค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยการยกระดับ เป็น “องค์กรอิสระ” มีความเป็นอิสระในการบริหารงานและการงบประมาณ

จากการศึกษาเรื่องความทับซ้อนอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน กับองค์กรอิสระอื่น ทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นเพียง “หน้าด่าน” ของการรับเรื่องร้องเรียน หรือ “one-stop-service” นั่นคือ “รับทุกเรื่อง จากทุกคน” และช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน จากการเอารัดเอาเปรียบของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน เมื่อรับเรื่องแล้วจะส่งต่อไปให้ ป.ป.ช.แต่หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตรวจเงินงบประมาณ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งเรื่องต่อไปยัง สตง.

ในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา การรับเรื่องร้องเรียนของผู้ตรวจการแผ่นดิน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากรูปจะเห็นได้ว่า สัดส่วนเรื่องร้องเรียนที่ดำเนินการในแต่ละปีนั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

ในปี 2557 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีเรื่องที่ต้องดำเนินการพิจารณา 4,729 เรื่อง ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จไป 2,828 เรื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการปฏิบัติงานของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ปัญหาโรงไฟฟ้าปล่อยให้มีน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ปัญหาสำนักงานที่ดินออกเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาเรื่องการรังวัดและปักหลักเขตคลาดเคลื่อนจากแนวเขตเดิม และแขวงการทางไม่จ่ายเงินอุทธรณ์ค่าทดแทนที่ดิน เป็นต้น

แม้ผลงานของผู้ตรวจการแผ่นดินอาจยังไม่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชนมากนัก แต่ผลงานหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทย คือในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การถ่ายสำเนาบัตรประชาชนเพื่อติดต่อหน่วยงานรัฐ ได้เปลี่ยนจากการถ่ายสำเนาบัตรแบบ หน้า-หลัง เป็นการถ่ายสำเนาแบบด้านหน้าด้านเดียว นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เกิดจากเรื่องร้องเรียนของประชาชน มายังผู้ตรวจการแผ่นดินว่า “การถ่ายสำเนาบัตรประชาชนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นการเสียค่าใช้จ่ายอย่างไม่จำเป็น” ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการและเสนอเรื่องไปยังรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน อีกทั้งยังช่วยลดขั้นตอนการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐด้วย ถึงแม้จะเป็นเพียงเรื่องร้องเรียนเล็กๆ แต่แสดงให้เห็นว่า สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้

ล่าสุดจากข่าวผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ 'ธัมมชโย' ปาราชิก โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ลงวันที่ 20 กรกฎาคมนั้น ทำให้ทราบว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการตามคำร้องจากการที่มีผู้ร้องเรียนให้รื้อคดี กรณีที่ศาลอัยการสูงสุดถอนฟ้องพระธัมมชโย เกี่ยวกับคดียักยอกทรัพย์ อันเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดพระธรรมกายไปเป็นของตนเอง เมื่อปี 2549 ในการนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้จัดทำคำวินิจฉัย และส่งเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรี ขอให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาประเด็นทางพระธรรมวินัย ที่ยังไม่ได้ข้อยุติกรณีพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายต้องอาบัติปาราชิก ตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คณะศิษย์พระธัมมชโยได้มายื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน แสดงความไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าวแล้ว

จากเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อความเชื่อและความศรัทธาต่อตัวบุคคลของคนกลุ่มใหญ่ และคนทั่วไปที่เห็นต่าง ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินเองจึงต้องทำการบ้านหนัก เพื่อหาหลักฐานให้ครบถ้วน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินเป็น “หน้าด่าน” และเป็นที่พึ่งสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม

---------------

ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ

หมายชนก กระปุกทอง

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)