“ก๊าซเรือนกระจก” จากกิจกรรมการดำเนินธุรกิจ

“ก๊าซเรือนกระจก” จากกิจกรรมการดำเนินธุรกิจ

ก๊าซเรือนกระจก เป็นสาเหตุโดยตรงที่จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อน นี่คือโจทย์สำคัญของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในวันนี้

ก๊าซเรือนกระจก หมายถึงก๊าซที่เป็นสาเหตุโดยตรงที่จะให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อน โดยก๊าซเหล่านี้จะลอยขึ้นไปปกคลุมในชั้นบรรยากาศของโลก และทำให้ความร้อนที่โลกได้รับมาจากดวงอาทิตย์ในเวลากลางวัน ไม่สามารถลอยกลับออกไปสู่บรรยากาศนอกโลกได้โดยง่าย

แต่กลับจะถูกกักไว้โดยชั้นของก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ ทำให้เกิดสภาวะอากาศที่ร้อนอบอ้าว เหมือนกับที่เราเข้าไปในเรือนต้นไม้หรือโรงเรือนทางการเกษตรที่ใช้กระจกหรือพลาสติกใสในการก่อสร้าง

สภาวะโลกร้อน ทำให้สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์น้ำ สัตว์บก โดยเฉพาะสายพันธ์ที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในสภาวะแวดล้อม

ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอออกสู่บรรยากาศ

จึงมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับนานาชาติ และระดับชาติที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการ และควบคุมการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ของไทยเราก็จะมีหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องนี้ คือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) หรือ Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization) หรือ TGO

อบก. ได้กำหนดให้ทราบว่า มีก๊าซหรือสารเคมีประเภทใดบ้าง ที่นำมาใช้ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ที่ถือได้ว่าเป็นก๊าซเรือนกระจก เพื่อที่จะให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมได้หาวิธีการบริหารจัดการเพื่อนำไปสู่การลดการใช้หรือการปลดปล่อยก๊าซเหล่านี้ออกมาสู่บรรยากาศ

ก๊าซที่ถือว่าเป็นตัวการทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจกที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อน มีอยู่ 7 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

1.ก๊าซที่เกิดจาก การเผาไหม้ ไอเสียจากรถยนต์ การใช้สารดับเพลิงในถังดับเพลิง และการใช้ปูนขาว ที่เรียกกันว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide) หรือ CO2 และมักเรียกกันสั้นๆ ว่า ก๊าซคาร์บอนฯ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” (Carbon Footprint) เนื่องจากก๊าซคาร์บอนฯ ถูกนำมาใช้เป็นตัวเปรียบเทียบกับปริมาณความเป็นอันตรายต่อการเกิดสภาวะโลกร้อนของก๊าซชนิดอื่นๆ

ทำให้สามารถคำนวณปริมาณของก๊าซอื่นๆ รวมกันเป็นปริมาณโดยรวมได้ง่ายขึ้น เนื่องจากใช้วัดเทียบเป็นหน่วยวัดเดียวกัน

ดังนั้น คาร์บอนฟุตพริ้นท์ จึงมีความหมายว่า เป็นการติดตามร่องรอยของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ที่ถูกคำนวณให้มาอยู่ในหน่วยของปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ซึ่งเป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อน ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของโลกในปัจจุบัน

2.ก๊าซที่เกิดขึ้นจาก ของเน่าเสีย และ ส่วนผสมบางอย่างในไอเสียของรถยนต์ เรียกว่า ก๊าซมีเทน (Methane) ซึ่งอาจนำมาใช้เป็นก๊าซเชื้อเพลิงให้ความร้อนได้ แต่หากปล่อยให้ออกไปสู่บรรยากาศ จะสร้างผลกระทบทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจกได้มากกว่า ก๊าซคาร์บอนฯ ได้ถึงประมาณ 25 เท่า

3.ก๊าซที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมี และ ส่วนผสมบางอย่างในไอเสียของรถยนต์ เรียกว่า ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (Nitrogen oxides) หรือบางทีอาจเรียกว่า NOx หรือ NOX สามารถสร้างผลกระทบทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจกได้มากกว่า ก๊าซคาร์บอนฯ ได้มากถึงประมาณ 298 เท่า

4.ก๊าซที่ใช้เป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำน้ำเย็น ที่เรียกว่า สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrofluorocarbons) หรือ HFCs มีฤทธิ์ร้ายแรงต่อการเกิดสภาวะเรือนกระจกประมาณ 124 – 14,800 เท่าของก๊าซคาร์บอน ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติการทำความเย็นที่เลือกใช้

5.ก๊าซที่ใช้เป็นสารทำความเย็น อีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า สารเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (Perfuorocarbons) หรือ PFCs มีความร้ายแรงประมาณ 7,390 – 12,200 เท่า ของก๊าซคาร์บอน

6.ก๊าซที่มีอยู่ในตู้ควบคุมไฟฟ้า นำมาใช้เพื่อเป็นฉนวนไฟฟ้าป้องกันการเกิดประกายไฟจากอุปกรณ์สวิทช์ไฟฟ้าแรงสูง หรือช่วยในการระบายความร้อนจากอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง เรียกว่า ก๊าซซัลเฟอร์ เฮกซาฟลูออไรด์ (Sulfur hexafluoride) หรือ SF6 สร้างผลกระทบได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนฯ ถึงประมาณ 22,800 เท่า

7.ก๊าซที่ใช้ประกอบในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กโทรนิคส์หรือวงจรรวมขนาดเล็กสำหรับคอมพิวเตอร์ เรียกว่า ก๊าซไนโตรเจน ไตรฟลูออไรด์ (Nitrogen trifluoride) หรือ NF3 สร้างผลกระทบมากกว่าก๊าซคาร์บอน ประมาณ 17,200 เท่า

นอกจากก๊าซหรือสารเคมีใน 7 ประเภทดังกล่าวที่ถือว่า มีความสำคัญต่อการเกิดสภาวะเรือนกระจกของโลก ในระดับที่จำเป็นที่ต้องมีการควบคุมปริมาณการใช้และการปลดปล่อยออกสู่บรรยากาศ ยังมีก๊าซและสารเคมีประเภทอื่นๆ ที่ให้ผลกระทบบางส่วนเช่นกัน แต่อาจมีความรุนแรงน้อยกว่าใน 7 ประเภทแรก

สารเคมีในกลุ่ม คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbons) และกลุ่ม ไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrochlorofluorocarbons) ที่ใช้เป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศรุ่นเก่า รวมถึงสารทำความสะอาดล้างคราบน้ำมันในชิ้นส่วนโลหะในระหว่างการผลิต

หรือ สารที่ใช้เป็นตัวทำละลายในปฏิกิริยาเคมีอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นสารในกลุ่ม ฮาโลเจเนเต็ด อีเธอร์ (Halogenated ethers) และ สารในกลุ่ม ไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbons) เป็นต้น

สำหรับท่านผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับชื่อเรียกทางเคมีของวัตถุดิบหรือสารเคมีที่นำมาใช้ในกิจการ ก็อาจตัดบทความนี้เพื่อส่งต่อให้ผู้ที่รับหน้าที่ดูแลควบคุมด้านการผลิต ให้สำรวจดูว่า ธุรกิจมีการใช้ก๊าซหรือสารต่างๆ เหล่านี้ หรือมีการปลดปล่อยก๊าซหรือสารเหล่านี้ออกมาในระหว่างการดำเนินการทางธุรกิจหรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นในกิจกรรมการผลิต การขนส่งคมนาคม การตลาด การซื้อขาย การจัดเก็บ ตลอดจนการกำจัดของเสียหรือน้ำเสีย เป็นต้น รวมไปถึงการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาจากยานพาหนะในระหว่างเดินทางมาทำงานด้วย
การให้ความใส่ใจกับปัญหาที่สร้างผลกระทบต่อโลกและผู้คนในวงกว้าง แม้ว่าจะเป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจ ไม่ได้เป็นคู่ค้า ไม่ได้เป็นลูกค้า แต่ก็จะได้รับผลกระทบเท่าๆ กัน จากการกระทำหรือการดำเนินการทางธุรกิจ เช่น การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม อาจมีผลกระทบย้อนกลับมาถึงคำถามที่มีต่อความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ

ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ และคอยติดตามความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจอย่างกระชับและเข้มข้นขึ้นทุกวัน!!