อีกหนึ่งก้าวที่เข้มแข็งของโครงการ CAC

อีกหนึ่งก้าวที่เข้มแข็งของโครงการ CAC

ช่วงครึ่งแรกปีนี้ โครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต หรือโครงการ CAC

(ย่อมาจาก Collective Action Coalition of the Private Sector Against Corruption) ได้มีอีกหนึ่งความก้าวหน้าที่สำคัญคือ ทางโครงการได้ปรับปรุงกระบวนการรับรองบริษัทที่มีนโยบาย และแนวปฏิบัติชัดเจนในการต่อต้านการทุจริต ให้มีรูปแบบและระบบการรับรองที่แข็งแรง (Robust) โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสาขาอาชีพต่างๆ จากภาคเอกชน เข้ามาร่วมเป็นกรรมการกลั่นกรองบริษัทที่ขอรับการรับรอง การปรับปรุงนี้ทำให้กระบวนการรับรองของคณะกรรมการ CAC มีขั้นตอนความสมบูรณ์ชัดเจนตามมาตรฐานสากล ที่สำคัญบริษัทที่ผ่านการรับรองจะสามารถใช้การรับรองของโครงการ CAC เป็นข้อพิสูจน์เจตนารมณ์ของบริษัท ที่จะทำธุรกิจอย่างสะอาดและปลอดคอร์รัปชัน สอดคล้องกับกฎหมายต่อต้านการทุจริตคอร์ร์รัปชัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เข้มงวดขึ้น นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

โครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมโดยสมัครใจ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ทำธุรกิจอย่างสะอาด ไม่รับไม่จ่าย ไม่ให้สินบน เป็นส่วนหนึ่งของพลังธุรกิจของประเทศที่ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ โดยบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์จะต้อง หนึ่ง ประกาศนโยบายชัดเจน ในระดับคณะกรรมการบริษัทที่จะทำธุรกิจอย่างสะอาด และปลอดคอร์รัปชัน สอง มีแนวปฏิบัติและระบบควบคุมภายในบริษัท (Compliance) ที่ชัดเจน ที่ตรวจสอบดูแลพนักงานของบริษัทไม่ให้ทำผิดนโยบายดังกล่าว และ สาม นำนโยบายและแนวปฏิบัติดังกล่าวไปปฏิบัติจริงในการทำธุรกิจ

บริษัทที่ได้วางนโยบาย วางแนวปฏิบัติ และนำนโยบายและแนวปฏิบัติไปปฏิบัติจริง ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด และการปฏิบัติดังกล่าวผ่านการสอบทาน (Audit) โดยบุคคลภายนอก เช่น ผู้ตรวจสอบภายนอกว่า บริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติจริง คณะกรรมการ CAC ที่มี ดร.พนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน ก็จะให้การรับรองบริษัทอย่างเป็นทางการว่า เป็นบริษัทที่มีนโยบาย และแนวปฏิบัติต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ถือเป็นบริษัทที่มีความมุ่งมั่น และมีการปฏิบัติจริงในการต่อต้านการทุจริต สมควรที่คนไทยควรรับทราบ และสนับสนุนกิจการของบริษัทเหล่านี้  เพราะเป็นตัวอย่างของสิ่งที่คนไทยทั้งประเทศอยากเห็นในภาคธุรกิจ คือ ทำธุรกิจที่แข่งขันตรงไปตรงมา ไม่มีสินบน ปลอดคอร์รัปชัน

ถึงอาทิตย์ที่แล้วมีบริษัทเอกชน 488 บริษัท ได้เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และในจำนวนนี้มี 122 บริษัท ที่ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ว่า เป็นบริษัทที่มีนโยบายและแนวปฏิบัติ ในการต่อต้านการทุจริตครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการ (รายชื่อบริษัทที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์และบริษัทที่ผ่านการรับรองดูได้ที่ www.thai-cac.com)  ส่วนบริษัทที่เหลือกำลังอยู่ในกระบวนการขอการรับรอง ทำให้จำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองจะมากขึ้นๆ สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ชอบการทุจริตคอร์รัปชัน และพร้อมร่วมมือแก้ไขปัญหา

ก้าวสำคัญที่จะพูดถึงวันนี้คือ การปรับปรุงกระบวนการรับรองของคณะกรรมการ CAC ให้มีความแข็งแรง และมีระบบการทำงานสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งทางคณะกรรมการ CAC ได้ดำเนินการปรับปรุงในสองลักษณะ

หนึ่ง ให้มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (Certification Committee) เป็นกลไกกลั่นกรอง การขอรับรองบริษัทที่ประกาศเจตนารมณ์ โดยกรรมการในคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสาขาอาชีพต่างๆ ที่เป็นที่รู้จักและยอมรับในสังคมธุรกิจ รวมทั้งมีผู้แทนจากบริษัทที่ผ่านการรับรองจากโครงการ CAC เข้าร่วมเป็นกรรมการกลั่นกรองด้วย เพื่อให้การรับรองได้ประโยชน์จากความรู้และประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความเป็นมาตรฐานในข้อมูลที่บริษัทที่ขอรับรองต้องนำเสนอ และในการตัดสินใจออกใบรับรอง ทั้งนี้ เพื่อรองรับจำนวนและความหลากหลายของบริษัท ที่จะเข้าขอรับการรับรอง ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นมากในอนาคต โดยกระบวนการรับรองใหม่นี้ จะเริ่มมีผลตั้งแต่รอบการรับรองในไตรมาสสามปีนี้

สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกลั่นกรองชุดแรกได้แก่ 1.ดร.กอปร กฤตยากีรณ ประธานกรรมการ  2.คุณยุทธ วรฉัตรธาร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านธรรมาภิบาล 3. คุณประสัณห์ เชื้อพานิช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านบัญชี 4. คุณกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 5.คุณสุรพงษ์ ชูรังสฤษฎิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตรวจสอบภายใน 6.คุณปรีดี ดาวฉาย จากธนาคารกสิกรไทย 7. คุณยงเกียรติ์ กิตะพาณิชย์ จากบริษัทสมบรูณ์แอดว๊านซ์ 8.คุณอนุวัฒน์ จงยินดี จากบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งกรรมการหมายเลข 6 ถึง 8 เป็นตัวแทนบริษัทที่ได้ผ่านการรับรองแล้ว โดยมี 9.คุณกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ ที่ปรึกษาโครงการ CAC เป็นกรรมการ และเลขานุการฯ

ส่วนการปรับปรุงลักษณะที่ สอง มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนบริษัทไทยที่ทำธุรกิจในต่างประเทศ ให้สามารถใช้ประโยชน์การรับรองจากคณะกรรมการ CAC ในการทำธุรกิจในต่างประเทศได้ โดยการรับรองของคณะกรรมการ CAC จะมีมาตรฐานสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่กฎหมายต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศต้องการ

เพื่อการนี้ โครงการ CAC ได้พัฒนาการรับรองในระดับที่สูงขึ้นอีกหนึ่งระดับ เป็นระดับที่สอง คือ ระดับ Advanced ที่มีรายละเอียดและความเข้มข้นมากกว่าระดับที่หนึ่ง ที่ใช้รับรองในปัจจุบัน โดยบริษัทที่ผ่านการรับรองในระดับ Advanced นี้ จะมีมาตรฐานการต่อต้านการทุจริตในบริษัทครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ต่างประเทศ เทียบเคียงได้กับบริษัทธุรกิจระหว่างประเทศ ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันการทุจริตของสหรัฐ อังกฤษ และยุโรป ทำให้บริษัทไทยที่ผ่านการรับรองของคณะกรรมการ CAC ในระดับขั้นสูงหรือ Advanced นี้ จะมีมาตรฐานป้องกันการทุจริตที่สามารถทำธุรกิจได้ทั่วโลก           

คณะกรรมการ CAC หวังว่ากระบวนการรับรองที่แข็งแรงและเป็นมาตรฐานทั้งสองระดับนี้ จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ให้ภาคธุรกิจไทยให้มีเครื่องมือที่บริษัทจะสามารถใช้แสดงเจตนา และความมุ่งมั่นของบริษัท ในการทำธุรกิจอย่างสะอาดปลอดคอร์รัปชั่น สอดคล้องกับความต้องการของกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชัน ทั้งในและต่างประเทศ ที่คาดหวังให้บริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในเรื่องนี้

ในกรณีของประเทศไทย ล่าสุดได้มีการแก้ไขกฎหมายต่อต้านการทุจริตของ ปปช.ให้เข้มงวดขึ้น สอดคล้องกับกฎหมายต่อต้านการทุจริตต่างประเทศโดย “พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ 2558 ที่ประกาศราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2558 มีประเด็นแก้ไขหนึ่งประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนโดยตรง นั้นก็คือ การกำหนดมาตรฐานความผิดเฉพาะสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่ การแก้ไขนี้จะทำให้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตของไทย มีมาตรฐานเหมือนต่างประเทศ ตามพันธกรณีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ที่ประเทศไทยเข้าเป็นรัฐภาคีภายใต้อนุสัญญา และภายใต้กฎหมายใหม่ของไทย ที่มีการบังคับใช้แล้วนี้ การที่บริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการต่อต้านการทุจริต เช่น ตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการ CAC ซึ่งมีคณะกรรมการตรวจสอบหรือผู้สอบบัญชีภายนอกรับรองแล้วนั้น บริษัทสามารถนำไปใช้เป็นมาตรฐานการควบคุมภายในที่เหมาะสมได้ และจะช่วยเป็นเครื่องยืนยันว่า บริษัทมีนโยบายและเจตนาที่จะไม่ให้สินบนเจ้าหน้าที่ในการทำธุรกิจ  

ก็อยากเชิญชวนบริษัทเอกชนมาร่วมต่อต้านการทุจริต เข้าร่วมโครงการ CAC และผ่านการรับรองกันมากๆ