ความผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2558

ความผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2558

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ออกบังคับใช้เพื่อคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์

ซึ่งคืองานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ เช่น การแต่งและเขียนหนังสือ งานศิลปกรรม งานที่เกี่ยวกับดนตรี ภาพถ่าย ภาพยนตร์ การบันทึกเสียงและภาพ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และให้การคุ้มครองสิทธิของของนักแสดงด้วย

หลักการในการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์คือ ผู้สร้างสรรค์ผลงานเป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำซ้ำหรือดัดแปลงงาน เผยแพร่ต่อสาธารณะ ให้เช่า ให้ประโยชน์อันเกิดจากงานลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิดังที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนนักแสดงก็มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการกระทำอันเกี่ยวกับงานแสดงของตน ตามมาตรา 44 เช่น แพร่เสียงแพร่ภาพ หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งการแสดง บันทึกการแสดง ที่ยังไม่มีการบันทึกไว้ เป็นต้น ผู้กระทำการฝ่าฝืนต่อสิทธิดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง เป็นความผิดทางอาญา

 การละเมิดลิขสิทธิ์ แยกเป็นกรณีได้ดังนี้ คือ

1.การละเมิดลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติในมาตรา 27 คือ การทำซ้ำหรือดัดแปลง (งานอันมีลิขสิทธิ์) หรือ (นำงานอันมีลิขสิทธิ์) เผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การเผยแพร่ต่อสาธารณะนั้น มีคำพิพากษาฎีกาที่ 302/2550 (ประชุมใหญ่) วินิจฉัยไว้ว่า การเปิดเพลงบริการให้ลูกค้าฟังหรือขับร้องในร้านอาหาร ถือว่าเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว

 2.การละเมิดลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติในมาตรา 28 และมาตรา 30 เป็นกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์แก่โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง และโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ นอกจากการทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรานี้แล้ว ยังกำหนดให้การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ก็เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย

 3.การละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 29 เป็นกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์แก่งาน แพร่เสียงแพร่ภาพ เช่น แพร่ภาพแพร่เสียงซ้ำ หรือจัดให้ประชาชนชม โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อื่นในทางการค้า

4.การละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 31 เป็นกรณีที่นำงานอันรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่า เป็นงานที่ได้กระทำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ออกขาย มีไว้เพื่อขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อหรือเสนอให้เช่าซื้อ หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือแจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อหากำไร การกระทำอันจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรานี้ ต้องประกอบด้วย องค์ประกอบสามประการด้วยกันคือ เป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้กระทำรู้หรือมีเหตุควรรู้ว่างานนั้นละเมิดลิขสิทธิ์ และเพื่อหากำไร หากขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่ง ก็ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรานี้ ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยกรณีร้านอาหารเปิดเพลงให้ลูกค้าฟัง โดยไม่ได้เก็บค่าเปิดเพลงจากลูกค้าโดยตรง หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 31 คือคำพิพากษาฎีกาที่ 10579/2551 และที่ 8220/2553 ที่วินิจฉัยว่า องค์ประกอบของความผิดตามมาตรานี้ ต้องเป็นการหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์

ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ หากเป็นไปตามข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 32 ถึงมาตรา 43 ก็ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เช่น ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท หรือการกล่าว คัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงบางตอนของงาน ตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของงานนั้น (เช่นที่เรียกกันว่าให้เครดิต) หรือการกระทำแก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในการใช้ประโยชน์ของเจ้าของสำเนาโปรแกรมนั้น ซึ่งไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร เป็นต้น

การละเมิดสิทธิของนักแสดงตามมาตรา 52 ได้แก่ การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกี่ยวกับงานของนักแสดง เช่น การแพร่เสียง แพร่ภาพ หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน จากสิ่งบันทึกการแสดงที่บันทึกไว้ หรือทำซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนักแสดง หรือไม่จ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

บทกำหนดโทษ การละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 หรือละเมิดสิทธิของนักแสดง ตามมาตรา 52 มีโทษกำหนดไว้ตามมาตรา 69 ปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท ถ้าเป็นการกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี ปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 31 มีโทษกำหนดไว้ตามาตรา 70 ปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ถ้าเป็นการกระทำเพื่อการค้า จำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสองปี ปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2558 สาระสำคัญที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม ที่ควรทราบคือ

เพิ่มมาตรา 31/1 บัญญัติให้เจ้าของที่ได้กรรมสิทธิ์มาโดยชอบ สามารถขายต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ได้โดยไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

เพิ่มมาตรา 31/2 บัญญัติให้การทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้มาโดยชอบ ที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีลิขสิทธิ์โดยชอบทำงานได้ตามปกติ ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

เพิ่มการคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ์ และมาตรการทางเทคโนโลยี ด้วยการกำหนดให้การการกระทำที่เป็นละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ และการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี เป็นความผิดทางอาญา และมีโทษกำหนดไว้

การละเมิดข้อมูลบริหารสิทธิ แยกเป็นสองกรณี คือ

1.การละเมิดข้อมูลบริหารสิทธิ ตามมาตรา 53/1 การลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลบริหารสิทธิ เช่น ลายเซ็น ข้อความ เครื่องหมาย เลขรหัส ที่แสดงถึงผู้สร้างสรรค์ผลงาน เจ้าของลิขสิทธิ์ หรือนักแสดง โดยรู้อยู่ว่าการทำเช่นนั้น จะเป็นการจูงใจ ก่อให้เกิด ปกปิด ให้ความสะดวกการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ถือเป็นการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ

2.การละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิตามมาตรา 53/2 เป็นกรณีนำเข้าหรือเผยแพร่งานที่มีลิขสิทธิ์ที่รู้อยู่ว่า มีการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ ถือเป็นผู้ละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิด้วย

การหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี (เช่น การเจาะรหัส ที่ป้องกันการทำซ้ำ) หรือการให้บริการในการหลบเลี่ยง ถือเป็นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี

ข้อยกเว้นการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยี การกระทำกับข้อมูลการบริหารสิทธิหรือมาตรการทางเทคโนโลยี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 53/3 มาตรา 53/5 ไม่ถือเป็นการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยี

บทกำหนดโทษ การละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิหรือละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี มีโทษตามที่บัญญัติในมาตรา 70/1 ปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ถ้าเป็นการกระทำเพื่อการค้า จำคุกตั้งแต่สองเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ