ปัญหากระบวนการตรวจสอบ

ปัญหากระบวนการตรวจสอบ

กรณีข้อเสนอของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 190

 และมาตรา 204 วรรคสอง เกี่ยวกับการใช้งบประมาณให้เป็นตามวินัยการเงินการคลังตามกฎหมายการเงินการคลังภาครัฐ โดยเสนอให้ไม่นำภาษีที่เก็บจากเหล้าและบุหรี่ หรือเรียกกันว่าภาษีบาป มาอุดหนุนกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ไทยพีบีเอส) รวมถึงกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ แต่ให้องค์กรเหล่านี้มาใช้งบประมาณตามปกติ

การแบ่งรายได้จากภาษีบาปสนับสนุนองค์กรเหล่านี้ราวแห่งละ 2 พันล้านบาท ซึ่งหากมองจากคนภายนอกจะเห็นว่าค่อนข้างมาก แต่หากมองอีกด้านจากภารกิจหลักขององค์กรเหล่านี้ก็ไม่ถือว่ามากเกินไป เมื่อเทียบกับงบประมาณอื่นของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา องค์กรเหล่านี้มักจะถูกโจมตีจากสังคมภายนอกในเรื่องของการใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับงานที่ออกมา แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่จบสิ้นระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ทั้งๆที่ประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากกับการคงอยู่ขององค์กร

เป้าหมายเริ่มต้นของการก่อตั้งองค์กรในลักษณะนี้ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อต้องการลดขนาดองค์กรภาครัฐและต้องการความเป็นอิสระโดยปราศจากผลประโยชน์ทางการเมืองและทางธุรกิจ ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่ในหลายประเทศและที่ประสบความสำเร็จก็มีตัวอย่างให้เห็น ดังนั้นการตัดขาดกับหน่วยงานภาครัฐในเรื่องการจัดสรรงบประมาณจึงเป็นสิ่งจำเป็น หาไม่แล้วไม่ว่าเราจะตั้งองค์กรใหม่เพื่อรับภารกิจใหม่ๆทางสังคมมากแค่ไหน ก็จะถูกดูดเข้าไปอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลหมดสิ้น ซึ่งทำให้หน่วยงานราชการขยายใหญ่โตมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน หากอยู่ภายใต้กฎระเบียบของราชการ ก็จะส่งผลการทำงานมีปัญหาหลายด้าน เหมือนดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการจะดึงเรื่องการจัดสรรงบประมาณกลับไปสู่ระบบปกติที่ต้องขอผ่านสำนักงบประมาณและผ่านสภาผู้แทนราษฎร ก็จำเป็นอย่างยิ่งในการอธิบายให้เห็นว่าการจ่ายเงินอุดหนุนในลักษณะเดิมนั้นมีปัญหาอย่างไรและต้องหาวิธีการแก้ปัญหาการแทรกแซงการทำงานจากหน่วยงานรัฐหรือฝ่ายการเมืองอย่างไร เพื่อให้องค์อิสระเหล่านี้ดำรงอยู่ได้

แน่นอนว่าการทำงานของหน่วยงานเหล่านี้ที่ผ่านมา ย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้จ่ายเงิน หรืองานที่ออกมาจากองค์กรเหล่านี้ ซึ่งเป็นงานในลักษณะรณรงค์และสร้างเครือข่ายทางสังคม ยากต่อการตรวจวัดเป็นชิ้นงานเหมือนงานก่อสร้างหรือโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องประสิทธิภาพการใช้งบประมาณนั้นเกิดขึ้นมานาน บางกรณีมีมากขึ้นด้วยซ้ำไป ซึ่งคำถามสำคัญคือทำไมจึงเกิดคำถามมากมายกับองค์กรเหล่านี้ที่ทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ

ดังนั้น ประเด็นสำคัญหากมีการเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินอุดหนุน รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นอย่างยิ่งต้องชี้แจง ว่าเหตุใดจึงเปลี่ยนแปลงการใช้เงินงบประมาณ และที่ผ่านมามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น รวมทั้งต้องถกเถียงกันให้ได้ข้อยุติว่าองค์กรเหล่านี้มีความจำเป็นหรือไม่ หากเห็นว่ามีความจำเป็นในการดำรงความอิสระไว้คอยติดตามปัญหาทางสังคม ก็จำเป็นต้องมีการประเมินและการตรวจสอบเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่างบประมาณที่อุดหนุนให้เป็นค่าใช้จ่ายนั้นถือเป็นงบประมาณของคนทั้งประเทศ

เราเห็นว่าปัญหาใหญ่ในขณะนี้ขององค์กรภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ กึ่งอิสระ หรือ ส่วนราชการ คือกระบวนการตรวจสอบและประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ ดังจะเห็นว่าเป็นปัญหาแทบทุกแห่ง ดังนั้น การแก้ปัญหาสำคัญคือเราจะสร้างกระบวนการตรวจสอบที่ดีอย่างไร เพื่อให้สังคมยอมรับและเชื่อถือ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่าแหล่งที่มาของงบประมาณ