อย่ากลัวที่จะเป็นผู้อาวุโส

อย่ากลัวที่จะเป็นผู้อาวุโส

ช่วงหลังผมได้เข้าไปอยู่ในวงสนทนาที่เกี่ยวข้องกับผู้อาวุโสมากขึ้น ทั้งในฐานะที่จะเป็นผู้อาวุโสในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า

หรือการได้พูดถึง ยกย่อง ชมเชย ผู้อาวุโสที่หลายที่ยังกระตือรือร้นในการทำงานในปัจจุบัน เลยทำให้เกิดข้อสงสัยว่าในทางจิตวิทยาแล้ว การที่เราเจริญวัยขึ้น แล้วก้าวเข้าสู่ความอาวุโสนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ทำให้ค้นไปค้นมาได้พบเจองานเขียนและงานวิจัยหลายอย่าง ที่เขียนถึงจิตวิทยาของการก้าวสู่ความอาวุโส (ขอไม่ใช้คำว่า “แก่” นะครับ)

ความจริงอย่างหนึ่งที่ทุกคนหนีไม่พ้นคือ การเจริญวัยจากวัยเด็ก สู่วัยรุ่น วัยทำงาน วัยกลางคน และวัยชรา (หรือวัยอาวุโส) หลายท่านจะรังเกียจคำว่า ชรา แก่ หรือ อาวุโส เพราะรู้สึกว่ามันบาดใจและไม่เหมาะกับตนเอง ซึ่งในปัจจุบันเราจะพบผู้ที่มีวัย 60 หรือ 65 ปีขึ้น ไปที่ยังกระฉับกระเฉง ยังโลดแล่นอยู่ในสาขาวิชาชีพต่างๆ รวมทั้งยังใช้ชีวิตชนิดที่วัยรุ่นยังอายอยู่เป็นจำนวนมาก สาเหตุสำคัญก็คือ ทัศนคติและร่างกายของเราเป็นสำคัญครับ มีงานวิจัยที่พบว่าคนหนุ่มสาวที่ป่วยเป็นประจำก็มักจะรู้สึกว่าตนเองแก่ แต่ขณะเดียวกัน ผู้อาวุโสที่สุขภาพดีทั้งสุขภาพกายและใจ ก็ยังรู้สึกว่าตนเองเป็นหนุ่มสาวอยู่

จริงๆ แล้วการที่เราเจริญวัยและเป็นผู้อาวุโสมากขึ้นนั้น ถ้ามองในเชิงบวกจะพบว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะนอกจากตัวเลขของอายุเราที่มากขึ้นแล้ว ประสบการณ์ เหตุการณ์ และความฉลาดในด้านต่างๆ ของเรา ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้การตัดสินใจในด้านต่างๆ เป็นไปอย่างรอบคอบ ถี่ถ้วนมากกว่าสมัยช่วงวัยรุ่น นอกจากนี้ ยังวิจัยยังพบว่าบรรดาผู้อาวุโสทั้งหลายจะมีสมาธิและความสามารถในการ Focus หรือให้ความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดีกว่าสมัยวัยหนุ่มสาว

งานวิจัยอีกชิ้นจากนักจิตวิทยาพบว่า ผู้อาวุโสทั้งหลายนั้น จะมีความพอใจในชีวิตของตนเอง ในสิ่งที่ตนเองได้ทำมา อีกทั้งมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น รวมทั้งมีความเข้าใจในตนเองและขีดจำกัดในด้านต่างๆ ของตัวเองมากขึ้น ในอดีตเมื่อเรานึกถึงบรรดาผู้อาวุโสทั้งหลาย เรามักจะคิดว่าท่านเหล่านั้นเข้าสู่ช่วงวัยอาวุโสด้วยความเศร้าสร้อย หดหู่ แต่จากงานวิจัยพบว่าอาการ Depression หรือหดหู่ เศร้าสร้อยนั้น จะค่อยๆ ลดลงตั้งแต่อายุ 45 เป็นต้นไป ทั้งสำหรับผู้ชายและผู้หญิง (ยกเว้นผู้ชายในช่วงหลังเกษียณใหม่ๆ ที่อาจจะกลับมานิดนึง) แถมยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่สนับสนุนว่า ยิ่งอาวุโสมากขึ้น การมองโลกในแง่ร้ายจะลดน้อยลง ชีวิตจะมีความสุข และเรียบง่ายมากขึ้น

ความสนใจของคนเราเมื่อก้าวสู่วัยอาวุโส ก็จะเปลี่ยนไปจากในอดีตที่สนใจในรูปลักษณ์ภายนอกของตนเอง ก็จะหันมาสนใจเกี่ยวกับจิตใจของตนเองเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องการที่จะเข้าไปช่วยหรือมีส่วนร่วมกับสังคม และคนรอบข้างมากขึ้น อย่างไรก็ดี ใช่ว่าการที่เราเจริญวัยขึ้นแล้วจะมีแต่ข้อดีนะครับ ข้อเสียก็มีเหมือนกัน

เริ่มจากพลังงานในการทำสิ่งต่างๆ จะถดถอยลงจากในอดีต หรือการใช้สมองในการคิดเลขต่างๆ อย่างรวดเร็วก็จะทำได้ช้าลง รวมทั้งความทรงจำที่เริ่มจะไม่แม่นเหมือนในอดีต (แต่ในอีกมุมหนึ่งปัจจุบันก็มีเครื่องมือที่ช่วยให้เราจดจำได้มากขึ้น แทนที่จะต้องใช้แต่สมองของเรา)

สิ่งที่จะช่วยในการเตรียมตัวทุกๆ ท่านในการเข้าสู่วัยอาวุโสอย่างมั่นคงและมีความสุข คือการวางแผนสำหรับเมื่อวัยนั้นมาถึงครับ การวางแผนในส่วนนี้ไม่ใช่เพียงแค่การวางแผนทางการเงินเท่านั้น แต่เป็นการวางแผนชีวิตในสิ่งที่จะทำ สิ่งที่จะสนใจหลังเข้าสู่วัยอาวุโส เพราะอย่าลืมนะครับว่า ท่านจะต้องวางแผนทั้งทางด้านการเงินและการใช้ชีวิต หลังจากที่ท่านเกษียณไปอย่างน้อยสิบถึงยี่สิบปีนะครับ ซึ่งช่วงเวลาสิบถึงยี่สิบปีหลังเกษียณกับการอยู่กับบ้านเฉยๆ ไม่ใช่สิ่งที่น่าอภิรมย์นะครับ

กลุ่มผู้อาวุโสที่มีความสุขน้อยกว่ากลุ่มอื่น คือบรรดาท่านที่เมื่อเกษียณแล้วหายตัวไปจากสังคม จากเพื่อนฝูง และใช้เวลากับตนเองมากเกินไป การเพียงแค่มีครอบครัวและเพื่อนนั้นไม่เพียงพอนะครับ แต่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องและมีส่วนร่วมกับบุคคลรอบตัว และสังคม ซึ่งการเข้าไปมีส่วนร่วม (ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว) จะเป็นปัจจัยสำคัญทีเดียวครับต่อความสุขของผู้อาวุโส

ดังนั้น ท่านผู้อ่านทุกท่านอย่าลืมวางแผนไว้นะครับว่า เมื่อวันนั้นของท่านมาถึง เมื่อท่านก้าวสู่ความเป็นผู้อาวุโสแล้ว ท่านจะใช้ชีวิตอย่างไร มีคำกล่าวของผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้ไว้เลยครับว่า “เราจะเป็นอย่างไรเมื่อตอนเราอายุมาก ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราเป็นเมื่อเรายังไม่แก่” และอย่ากลัวที่จะก้าวเข้าสู่วัยนั้นครับ ดูจากข้อมูลต่างๆ แล้วกลับเป็นสิ่งที่น่าถวิลหาเสียอีกครับ

------------------

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[email protected]