หนี้ครัวเรือน: ไม่ใช่ประเทศเดียว

หนี้ครัวเรือน: ไม่ใช่ประเทศเดียว

ในรอบ 1-2 ปีมานี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อมวลชนต่างๆ เกี่ยวกับระดับหนี้ครัวเรือน

จนดูเหมือนว่าเหตุการณ์ตามที่วิตกกันจะรุนแรง ถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจของประเทศพังไป ณ บัดดลเลย

ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่แสดงในรูปที่ 1 บอกว่า หนี้ครัวเรือนของไทยเทียบเป็นสัดส่วนของจีดีพีในปี 2012 มีค่า = 77.08% และสัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นโดยตลอด และเพิ่มขึ้นมากในปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่มีนโยบายรถยนต์คันแรกในสมัยนั้นออกมา

แต่ถ้าหากเราดูข้อมูลของประเทศต่างๆ ในยุโรปแล้ว (ดังแสดงในรูปที่ 2)จะเห็นได้ว่าในบรรดาประเทศจำนวน 17 ประเทศ มีเพียง 8 ประเทศเท่านั้น ที่มีสัดส่วนน้อยกว่าไทย นอกจากนั้น ล้วนแต่สูงกว่าทั้งสิ้น บางท่านอาจจะแย้งว่า หลายประเทศในยุโรปมีปัญหาทางการเงิน นั่นก็ใช่ แต่ลองพิจารณาประเทศที่อยู่ในข่ายไม่อันตราย อย่างเยอรมนี ก็ยังมีสัดส่วนสูงกว่าไทย โดยมีค่าที่ประมาณกว่า 80% แม้แต่ประเทศในเอเชีย อย่างมาเลเซียและเกาหลีใต้ ก็ยังสูงกว่า (ดังแสดงในรูปที่ 3)

ดังนั้น เลิกพูดกันได้เสียทีว่า ประเทศไทยเสี่ยงอันตรายที่มาจากหนี้ครัวเรือน ฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากๆ อาจจะเป็นสื่อมวลชนที่ไม่มีความรู้ในทางเศรษฐศาสตร์ แม้แต่นักค้าเงินและนักวิชาการในฝ่ายวิจัยของสถาบันการเงินหลายแห่ง ที่มีพื้นฐานกันมามากบ้าง น้อยบ้าง ก็ยังพูดกันในทำนองนี้     

ที่จริงแล้วประเทศต่างๆ ทั่วโลก ล้วนแต่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น ในกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาทั้งสิ้น  เหตุผลที่เชื่อถือได้อาจสรุปได้ 2 ประการใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ financial deregulation and liberalisation อย่างหนึ่ง กับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ภายหลังวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 ในครึ่งแรกของทศวรรษที่ 1980  เหตุผลประการแรกคือ สถาบันการเงินที่เคยทำธุรกรรมเพียงด้านใดด้านหนึ่ง เริ่มมีวิวัฒนาการมาทำธุรกรรมหลายด้าน เช่น ธนาคารพาณิชย์ที่ไม่เคยให้สินเชื่อผ่อนชำระที่อยู่อาศัย ก็หันมาดำเนินงานด้านนี้

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลทั้งจากกฎระเบียบสถาบันการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป หรือ derequlation และจากแนวคิดของสถาบันการเงินเอง ตลอดจนถึงนวัตกรรมในการระดมทั้งเงินฝากและการให้สินเชื่อ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการแข่งขันในระหว่างสถาบันการเงิน และทำให้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลงทั้งสิ้น แต่การลดลงนี้เป็นการลดลงที่เทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศต่างๆ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก มีการลดลงและคงอยู่ในระดับต่ำมาตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินสหรัฐอเมริกา และตามมาด้วยวิกฤตการณ์การเงินในยุโรป

นวัตกรรมของสถาบันการเงินต่างๆ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำ โดยทั่วไปทำให้ผู้บริโภคมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ที่มีความสามารถผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างมากทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ทั้งๆ ที่สถาบันการเงินไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อแต่อย่างใด แม้ว่าราคาที่อยู่อาศัยทั่วโลกจะสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา แต่กำลังซื้อผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงนั้น สามารถหักล้างกับผลกระทบที่เกิดจากราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้นได้อย่างเพียงพอ

ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร อาจจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยสองประการดังกล่าวข้างต้น แต่ประเทศในสหภาพยุโรปได้รับผลกระทบจากการรวมกลุ่มที่ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศมาก อันเนื่องมาจากระดับอัตราดอกเบี้ยก่อนรวมกลุ่ม สูงกว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจเจริญอย่างเยอรมนี ที่มีระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า แต่ผลกระทบนี้ไม่ทำให้แตกต่างอย่างสำคัญ  เพียงแต่อัตราดอกเบี้ยลดลงเร็วขึ้นในประเทศเหล่านั้น

ส่วนประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย และประเทศในเอเชียอื่นๆ มีวิวัฒนาการที่สถาบันการเงินสามารถเข้าถึงผู้บริโภค ที่เคยใช้สถาบันการเงินนอกระบบมาก่อน อย่างเช่น บัตรเครดิต เป็นต้น  ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ส่วนแบ่งของสถาบันการเงินในระบบโตขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน สินเชื่อผู้บริโภคสำหรับผ่อนชำระที่อยู่อาศัยและรถยนต์จากสถาบันการเงินในระบบ ก็ทำให้ตัวเลขหนี้สินของครัวเรือนต่อจีดีพีหรือรายได้สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ที่ไม่เข้าใจเศรษฐศาสตร์อย่างเพียงพอ พากันกลายเป็นกระต่ายตื่นตูม ทั้งๆ ที่แนวโน้มเช่นนี้เป็นเหมือนกันทั่วโลก และมีเหตุผลที่แฝงอยู่เบื้องหลัง ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินเกินตัวเป็นส่วนใหญ่

ข้อมูลสินเชื่อที่ให้แก่ผู้บริโภคในไทย อาจแบ่งได้เป็นส่วนใหญ่ๆ 3 ส่วน คือ สินเชื่อผ่อนชำระที่อยู่อาศัยประมาณครึ่งหนึ่ง สินเชื่อผ่อนชำระรถยนต์ประมาณหนึ่งในสี่ และสินเชื่อธุรกิจส่วนตัวกับอื่นๆ เป็นส่วนที่เหลือ

หนี้ครัวเรือนทั้งในไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิดกัน อย่าลืมว่า เวลาที่เราขอสินเชื่อซื้อบ้าน หนี้สินที่เกิดขึ้นมีขนาดประมาณ 3-4 เท่าของรายได้ครัวเรือนต่อปีอยู่แล้ว  ความน่ากลับจึงไม่ได้อยู่ที่อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีโดยรวม แต่อยู่ที่ผู้บริโภคบางคนได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินเกินตัวหรือเปล่า นั่นคือปัญหา