‘สมคิด’8ส.+ส.พิเศษ

‘สมคิด’8ส.+ส.พิเศษ

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แย้มออกมาแล้วว่าจะปรับคณะรัฐมนตรี

“การปรับครม.จะปรับเมื่อระยะเวลาที่เหมาะสม คือเมื่อทำไประยะหนึ่งแล้วต้องมีระยะต่อไป ที่ต้องต่อเนื่อง ต้องมีปรับบ้าง แต่ไม่ได้ปรับเพราะมีความผิด หรือเพราะสังคมอะไรต่าง ๆ เราทำงานด้วยหลักการ สังคมอาจจะไม่ทันใจบ้างผมก็รับฟัง”(คมชัดลึก, http://www.komchadluek.net/mobile/detail/20150727/210514.html, 27 กรกฎาคม 2558)

ตามความน่าจะเป็น ผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่คือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

‘สมคิด’ ได้ชื่อว่าเป็นขุนพลเศรษฐกิจคนสำคัญในรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ นโยบายประชานิยม หรือนโยบายเศรษฐกิจหลายอย่าง มาจากแนวความคิดของ ‘สมคิด’ คิดให้‘ทักษิณ’

ระหว่างการทำงานการเมือง ‘สมคิด’ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีภาพลักษณ์ดี เก่งกาจ มีความเชี่ยวชาญ เชื่อมั่นในตัวเอง จนได้ชื่อว่า ในบางครั้งก็ไม่ทำตามนโยบายหรือแนวทางที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ กำหนดไว้เสมอไป

หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ‘สมคิด’ ลาออกจากสมาชิกพรรคไทยรักไทย หลังจากนั้นได้เป็นหนึ่งในตัวแทน ‘กลุ่มมัชฌิมา’

14 กุมภาพันธ์ 2550 ‘สมคิด’ ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้เป็นผู้ทำความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับต่างชาติ โดยเฉพาะไทยกับญี่ปุ่น แต่ทำได้เพียงไม่กี่วันก็ลาออก เนื่องจากเกิดแรงกดดันจากหลายฝ่าย

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาตัดสิทธิกรรมการบริหารไทยรักไทย เป็นเวลา 5 ปี มี ‘สมคิด’ รวมอยู่ในนั้นด้วย

จากนั้น มีชื่อ ‘สมคิด’ ร่วมอยู่ในชื่อผู้ก่อตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาโดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพรรค

สำหรับบทบาท‘สมคิด’ ในทางการเมืองเริ่มตั้งแต่เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.ทนง พิทยะ

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ทักษิณ ชินวัตร) ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (ทักษิณ ชินวัตร)

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (สม จาตุศรีพิทักษ์) ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร

17 กุมภาพันธ์ 2544 - 9 ตุลาคม 2544 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

9 ตุลาคม 2544 - 3 ตุลาคม 2545 รองนายกรัฐมนตรี

3 ตุลาคม 2545 - 8 กุมภาพันธ์ 2546 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

8 กุมภาพันธ์ 2546 - 9 มีนาคม 2547 รองนายกรัฐมนตรี

10 มีนาคม 2547 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

11 มีนาคม 2548 รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

2 สิงหาคม 2548 รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

  ‘สมคิดยังนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในฐานะแกนนำกลุ่ม ส.ส. ซึ่งสื่อมวลชนให้ชื่อกลุ่มแกนนำนี้ว่า “8ส.+ส.พิเศษประกอบด้วย สมศักดิ์ เทพสุทิน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล สุวิทย์ คุณกิตติ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ สนธยา คุณปลื้ม และสรอรรถ กลิ่นประทุม ส่วน ส.พิเศษ คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ชีวิตภายหลังการรัฐประหาร 2557 เป็นที่ปรึกษาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบเครื่องอย่างนี้หรือไม่จึงเป็นเหตุผลที่ ‘สมคิด’ มีชื่อติดโผครม.ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ รัฐบาลคสช.