ธนาคารน้ำ ทางเลือกใหม่ต้านภัยแล้ง

ธนาคารน้ำ ทางเลือกใหม่ต้านภัยแล้ง

สำนักข่าวไทย (Thai News Agency) รายงานว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2540 และ 2541

ทำให้ผู้คนเสียชีวิตประมาณ 2,000 คน และสร้างความเสียหายทั่วโลกประมาณ 30-37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับประเทศไทยซึ่งเกิดเอลนีโญรุนแรงที่สุดในปี 2541 เช่นกัน ทางรัฐบาลต้องชดเชยความเสียหายทางเกษตรกรรมเป็นมูลค่าถึง 1,500 ล้านบาท

ปรากฏการณ์เอลนีโญ คือ สภาวะความแห้งแล้งเกิดจากการไหลย้อนกลับของผิวทะเลที่อุ่นในช่วงเวลาหนึ่ง จากบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ไปแทนที่กระแสน้ำเย็นที่พัดอยู่เดิม ตามบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก และบริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ โดยจะปรากฏชัดในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกแถบชายฝั่งทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้

ในปี 2558 นี้ กรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศไทยระบุว่า ข้อมูลการวัดทุ่นในน้ำทะเลกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลการวัดอุณหภูมิผิวน้ำทะเล จากดาวเทียมสำรวจภูมิอากาศ ยืนยันได้ว่า ผิวน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยประมาณ 1.4 องศาเซลเซียวทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ทั้งนี้ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น คือ ดัชนีชี้วัดของขนาดเอลนีโญ (El Nino-Southern Oscillation: ENSO) ที่สำคัญและชัดเจนที่สุดตัวหนึ่ง ยิ่งอุณหภูมิสูงเท่าไหร่ ปรากฏการณ์ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ จะปรากฏไปจนถึงสิ้นปี 2558 โลกจึงมีความร้อนที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณฝนตกมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าปกติ ทำให้ประเทศต่างๆ จะยังคงเกิดภาวะภัยแล้งต่อไป ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิล เกาหลีเหนือ รวมถึงประเทศไทย

รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ประสบภัยแล้งรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากว่า ปี 2558 นับเป็นปีที่ 4 ของการเผชิญภัยแล้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียจึงออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อลดปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ โดยให้ประชาชนผู้อยู่อาศัยในรัฐแคลิฟอร์เนียลดการใช้น้ำลงร้อยละ 25 รวมถึงสั่งให้หน่วยงานท้องถิ่นของรัฐ ให้ปรับเปลี่ยนลานสนามหญ้าเป็นลานหินที่ไม่ต้องการใช้น้ำในการบำรุงรักษา

สถาบันแปซิฟิก (Pacific Institute) ได้ศึกษาข้อมูลการใช้น้ำในรัฐแคลิฟอร์เนียพบว่า กว่าร้อยละ 80 คือ การใช้น้ำสำหรับการทำการเกษตร และอีกร้อยละ 20 คือการใช้น้ำในครัวเรือน โดยมีแหล่งน้ำมาจากแหล่งเดียวกัน คำถามที่สำคัญคือ ทำไมถึงไม่มีการใช้มาตรการนี้กับกลุ่มชาวนาที่ทำการเกษตรในรัฐแคลิฟอร์เนีย ทั้งที่ใช้น้ำเป็นจำนวนมากกว่า?

ซึ่งคำตอบคือ รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแห่งการเกษตร และให้ความสำคัญกับการทำการเกษตร เพราะเป็นการทำการเกษตรเพื่อการบริโภคในประเทศเป็นสำคัญ โดยรัฐแคลิฟอร์เนียสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้ 2 ใน 3 ส่วนจากที่ผลิตได้ทั้งประเทศ และทำเงินได้มากกว่ารัฐใดๆ ในสหรัฐอเมริกา การใช้น้ำเพื่อการเกษตรจึงเป็นสิ่งจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะน้ำเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ดังนั้น ทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับช่วงเวลาแห่งการขาดแคลนน้ำของรัฐแคลิฟอร์เนียคือ การทำธนาคารน้ำ (water banking) ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องมือที่มีคุณูปการอย่างสูงในการบริหารจัดการน้ำในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ธนาคารน้ำ คือแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จากการดูดซึมของหินใต้พื้นผิวดินที่มีน้ำหรือการส่งต่อน้ำบาดาลผ่านบ่อซึม โดยในกระบวนการกักเก็บน้ำมีอยู่ 2 วิธีการคือ การเติมน้ำลงในแอ่งน้ำ (Basin) โดยตรง กับการใช้การแทนที่เพื่อเติมน้ำลงในแอ่งน้ำ ซึ่งจากทั้ง 2 วิธี จะทำให้ได้น้ำบาดาลที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ภายหลัง

การทำธนาคารน้ำ ใช้หลักตลาดเสรี (free market) ทางเศรษฐศาสตร์เป็นกรอบแนวคิด น้ำถูกมองเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง และนับว่าเป็นสินค้าหายาก ราคาของน้ำถูกกำหนดจากปริมาณน้ำที่มีอยู่ สถานที่ที่ต้องการใช้น้ำ ระยะเวลาในการใช้น้ำ และปริมาณน้ำที่ต้องการ

การทำธนาคารน้ำ เป็นการทำลีสซิ่งเช่าซื้อน้ำ (leasing water) ในระยะเวลาที่จำกัด ตามที่มีการทำข้อตกลงระหว่างผู้ถือสิทธิหรือผู้ครอบครองน้ำกับผู้ต้องการใช้น้ำ และสามารถถ่ายโอนสิทธิชั่วคราวในการถือครองน้ำ โดยไม่ใช่เป็นถ่ายโอนสิทธิผู้ครอบครองน้ำอย่างถาวร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและจำนวนน้ำที่ต้องการเช่าซื้อ โดยส่วนมากการตัดสินใจเช่าซื้อน้ำของแต่ละคน จะขึ้นอยู่กับมูลค่าของตลาดน้ำในปัจจุบัน ความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม รวมถึงมูลค่าตลาดของพืชที่จำเป็นต้องใช้น้ำ สำหรับขั้นตอนการฝากน้ำ มีวิธีการที่เคร่งครัดและคล้ายคลึงกับการฝากเงินหรือแลกเปลี่ยนเงินที่ธนาคาร

การทำธนาคารน้ำที่ประสบความสำเร็จในรัฐแคลิฟอร์เนีย อยู่ในเขตเคิร์น (Kern County) ทางตอนใต้ของหุบเขา San Joaquin เพราะเป็นพื้นที่ที่มีดินปนทราย เหมาะสำหรับการถ่ายทอดน้ำใต้ดินผ่านบ่อซึม มีพื้นที่ประมาณ 20,000 เอเคอร์ (80 ตารางกิโลเมตร) แอ่งน้ำมีความจุทั้งหมดที่ 10 ล้านเอเคอร์ฟุต โดยปกติสามารถกักเก็บน้ำขั้นต่ำได้ปีละ 360,000 เอเคอร์ฟุต แอ่งน้ำที่เคิร์นมีปริมาณเฉลี่ยที่พร้อมใช้งานที่ 1.5 ล้านเอเคอร์ฟุต และสำหรับในช่วงปี 2553ที่มีปริมาณฝนตกมาก คนในเขตเคิร์นที่เป็นสมาชิกในธนาคารน้ำ และมีสิทธิ์ถือครองน้ำเพื่อการเช่าซื้อ สามารถฝากน้ำรวมกันได้มากกว่า 1 ล้านเอเคอร์ฟุต ในเพียงไม่กี่เดือน และในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีการสูบน้ำออกมาใช้เรื่อยๆ ประมาณ 250,000-274,000 เอเคอร์ฟุตต่อปี โดยในปี 2558 นี้ คนในเขตเคิร์นยังคงมีน้ำและรักษาการกักเก็บน้ำได้อยู่

สำหรับประเทศไทย มีการทำธนาคารน้ำเช่นเดียวกันที่จังหวัดพัทลุง มีจุดเริ่มต้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เพื่อเก็บออมน้ำและจัดสรรทรัพยากรในชุมชน มีวิธีการคล้ายๆ กับการทำฝายกั้นน้ำ เน้นกักเก็บน้ำจากธรรมชาติ ใช้ความแตกต่างของระดับชั้นของสายน้ำ โดยในช่วงที่มีน้ำมาก ธนาคารน้ำช่วยให้ชาวบ้านสามารถกลับมาทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง จากแหล่งน้ำที่เคยใช้ได้เพียง 6 เดือน ธนาคารน้ำทำให้สามารถใช้สอยน้ำได้นานขึ้นเป็น 8-9 เดือน หรือบางแห่งสามารถใช้น้ำได้ตลอดปี

แม้ว่าธนาคารน้ำของไทยและสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างกัน ทั้งวิธีการสร้าง กระบวนการควบคุมดูแล และวิธีการกักเก็บน้ำ แต่การทำธนาคารน้ำในประเทศไทย นับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจในการเตรียมตัวเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ต้องมีการออกกฎหมายเรื่องการจัดทำการดำเนินงาน และเรื่องการใช้น้ำบาดาลให้ดี มีความครอบคลุมชัดเจน ออกกฎระเบียบข้อบังคับกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และควรมีการสำรวจว่าพื้นที่ไหนสามารถทำได้ก่อน

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายคนที่ไม่เคยได้ยินคำว่าธนาคารน้ำ ภาครัฐจึงควรจัดทำเอกสารให้ความรู้เพิ่มเติม มีการศึกษาวิจัยเพื่อคัดเลือกวิธีการทำธนาคารน้ำ ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศกับประเทศไทยมากที่สุด ทั้งลักษณะดิน แหล่งน้ำ รวมถึงเงินลงทุนและต้นทุนทางสังคม เพื่อให้ประเทศไทยฝ่าฟันปัญหาภัยแล้งในปี 2558 ได้  

 ----------------------

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)

[email protected],  www.kriengsak.com