เมื่อครูเป็นหนี้สินล้นพ้น จะปฏิรูปการศึกษาได้อย่างไร?

เมื่อครูเป็นหนี้สินล้นพ้น จะปฏิรูปการศึกษาได้อย่างไร?

ข่าวเรื่องกระทรวงศึกษา และกระทรวงการคลัง จับมือกับธนาคารออมสิน “พักหนี้” และ “ชะลอฟ้อง”

 ครูทั่วประเทศ ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมครูไทย จึงเป็นหนี้เป็นสินได้หนักหน่วงรุนแรงเช่นนี้

ท่านปลัดกระทรวงศึกษา นพ.กำจร ตติยกวี บอกในรายการวิทยุสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าครูในสังกัดของกระทรวงศึกษามีทั้งหมด 9 แสนกว่าคน ประมาณ 4 แสนกว่าคนเป็นหนี้รวมกันถึง 1.1 ล้านล้านบาท!

เหตุเพราะใช้จ่ายเกินตัว ขาดวินัย มีช่องทางกู้เงินได้ง่ายและไม่เดินตามแนวทาง เศรษฐกิจพอเพียง ทั้ง ๆ ที่อัตราเงินเดือนของครูไทยในช่วงหลังนี้ไม่ได้น้อยกว่าของข้าราชการประเภทอื่น ๆ

เมื่อครูมีหนี้ก็ย่อมไม่มีสมาธิพอที่จะสอนเด็ก จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมคุณภาพการศึกษาของประเทศจึงมีปัญหาอย่างที่เห็นกัน

รัฐมนตรีศึกษา พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย บอกว่าได้หารือเรื่องหนี้สินของครูกับ รองนายกฯ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และรัฐมนตรีคลังสมหมาย ภาษี กับผู้อำนวยการธนาคารออมสินแล้วได้ข้อยุติว่า

ให้แบ่งลูกหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็น 3 กลุ่ม

    ลูกหนี้ขั้นวิกฤติรุนแรง อันหมายถึงลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างถูกฟ้อง ถูกดำเนินคดีหรือถูกบังคับคดี ขาดความสามารถในการชำระหนี้ลูกหนี้ใกล้วิกฤติ ค้างชำระหนี้เกินกว่า 12 งวดติดต่อกันลูกหนี้ปกติ คือที่ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้ และยังสามารถบริหารจัดการหนี้ได้

มาตรการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ขั้นวิกฤตรุนแรงคือ

    ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดีหรือบังคับคดีไม่เกิน 3 ปี โดยต้องมีระยะเวลาฟ้องคดีเหลือไม่น้อยกว่า 2 ปีพักชำระดอกเบี้ยไม่เกิน 3 ปี แต่ให้ชำระเงินต้น ส่วนลูกหนี้ใกล้วิกฤตให้พักชำระดอกเบี้ยไม่เกินครึ่งหนึ่งเป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี แต่ให้ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยส่วนที่เหลือลูกหนี้ปกติให้พักชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี แต่ให้ชำระดอกเบี้ย

ตามกติกานี้ ลูกหนี้ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการภายในวันที่ 31 ก.ค.นี้ หากลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการไม่ชำระหนี้ตามเงื่อนไข 2 งวดติดต่อกัน ให้กลับเข้าสู่เงื่อนไขและมาตรการตามสัญญาเดิม

นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขว่าครูที่เป็นลูกหนี้ จะต้องไม่สร้างภาระหนี้เพิ่มกับสหกรณ์ออมทรัพย์อีก และต้องมีการ รวมหนี้ อันหมายถึงการเปิดเผยข้อมูลของลูกหนี้ที่มีกับสหกรณ์ออมทรัพย์ด้วย

เพราะภายใต้กติกาใหม่นี้ลูกหนี้ ต้องยินยอมให้กรมบัญชีกลางหักเงินเดือน ชดใช้หนี้ให้ธนาคารออมสิน และต้องได้รับความยินยอมจากผู้ค้ำประกันเงินกู้ด้วย

ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโยงใยกับเรื่องนี้อีกหน่วยงานหนึ่ง คือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)

ที่ครูเป็นหนี้กันมากเพราะสามารถ เอาเงินอนาคตมาใช้ ด้วยการเป็นสมาชิกของโครงการ ฌาปนกิจสงเคราะห์ อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ช่วยเพื่อนครู (ช.พ.ค.) โดยครูที่เป็นสมาชิกทุกคนจะออกเงิน 1 บาทสำหรับช่วยงานศพของครูที่เสียชีวิต

ครูทั่วประเทศในโครงการนี้มีประมาณ 9 แสนคน ดังนั้นทายาทของครูที่เสียชีวิตจะได้คนละ 9 แสนถึง 1 ล้านบาท

นี่คือที่มาของการใช้เงิน ล่วงหน้า ก้อนนี้ค้ำประกันเงินกู้ของครูจากธนาคารที่เดิมตั้งไว้ที่ 2 แสนบาท แต่ต่อมาก็ขยายเพดานเป็น 6 แสนถึง 1 ล้านบาท จนถึงวันนี้กลายเป็น 3 ล้านบาทก็มี

ว่ากันว่าระยะหลังนี้ ธนาคารขอให้ครูทำประกันชีวิตด้วย ให้เป็นผู้ได้รับประโยชน์ด้วย ทำให้มีช่องทางกู้ได้เพิ่มขึ้นมาอีก

ท่านปลัดกระทรวงศึกษาบอกในรายการวิทยุจุฬาฯวันก่อนว่า มีข่าวว่า บางคนใน สกสค. เป็นนายหน้าหาลูกค้าเงินกู้ให้ธนาคารโดยได้รับผลตอบแทนกลับมาด้วย...

ยิ่งทำให้วงจรแห่งการสร้างหนี้สร้างสินของครูเลวร้ายทับซ้อนลงไปอีก

เลวร้ายถึงขั้นที่ว่าครูบางคนรับเงินเดือนแล้ว หักที่ต้องจ่ายเงินกู้แล้วเหลือแค่ 200 กว่าบาทเท่านั้น

อย่างนี้จะทำให้คุณภาพของครูไทยดีขึ้นกว่าเดิมเพื่อ ปฏิรูปการศึกษา ย่อมเป็นไปไม่ได้

นอกจากมาตรการเรื่องพักชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้แล้ว กระทรวงศึกษาก็จะสร้างวินัยทางการเงิน ด้วยการให้ความรู้ในการบริหารการเงินส่วนตัวของครูทุกคนตามแนว เศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จะปฏิรูปการศึกษาเพื่อนักเรียนต้องเริ่มที่ปฏิรูปวิถีปฏิบัติชีวิตของครู!