ความโปร่งใส ผลประโยชน์ทับซ้อน และจริยธรรมทางวิชาการ

ความโปร่งใส ผลประโยชน์ทับซ้อน และจริยธรรมทางวิชาการ

ในช่วงที่ผ่านมา ผลการศึกษาเรื่อง “ผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ”

ในช่วงที่ผ่านมา ผลการศึกษาเรื่อง “ผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ” โดย ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร และคณะจากทีดีอาร์ไอ ได้ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน โดยมีบางส่วนที่นำไปเผยแพร่อย่างคลาดเคลื่อน ซึ่งทำให้เกิดคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์ต่อผลการศึกษา นอกจากนี้ มีนักวิชาการสองคน ยังเขียนบทความโดยตั้งคำถามในเชิงกล่าวหาต่อทีดีอาร์ไอในด้านความโปร่งใส จริยธรรมทางวิชาการ และผลประโยชน์ทับซ้อน ในประเด็นของผลการศึกษา คณะนักวิจัยของทีดีอาร์ไอได้ชี้แจงไปบางส่วนแล้ว ในบทความนี้ ผู้เขียนในฐานะผู้บริหารของทีดีอาร์ไอ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ที่มีการตั้งข้อกล่าวหา

นักวิชาการทั้งสองได้หยิบยกประเด็นต่างๆ ซึ่งพอสรุปได้ 3 ประเด็นคือ 1.ทีดีอาร์ไอไม่เปิดเผยผลการศึกษาหรือเปิดเผยผลการศึกษาล่าช้า 2. นักวิจัยของทีดีอาร์ไอห้ามผู้อื่นอ้างอิงหรือวิจารณ์งานของตน ในขณะที่วิจารณ์งานของผู้อื่น และ 3.ทีดีอาร์ไอมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการศึกษา ทำให้ผลการศึกษาออกมาเป็นคุณกับหน่วยงานว่าจ้าง

1. ทีดีอาร์ไอไม่เปิดเผยข้อมูล?

ในช่วงเดือนมิถุนายน 2558 มีการเรียกร้องให้ทีดีอาร์ไอเปิดเผยรายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ และภายหลังซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเมื่อพบว่ารายงานดังกล่าวได้เปิดเผยแล้ว ก็เปลี่ยนไปใช้ถ้อยคำว่า “ขณะนี้ งานของทีดีอาร์ไอ ได้เปิดให้ดาวน์โหลดทั้งฉบับแล้ว..จากเดิมที่ดาวน์โหลดได้เพียงบทสรุปผู้บริหารและสารบัญเท่านั้น” และยังเรียกร้องให้ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยข้อมูลดิบ (raw data) ที่ใช้ในการวิจัยอีกด้วย

ข้อเท็จจริงคือ รายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ได้เปิดเผยต่อสาธารณะผ่านเวบไซต์ของทีดีอาร์ไอมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 แล้ว และส่งให้ห้องสมุดต่างๆ จำนวน 15 แห่ง รวมทั้งสำนักบรรณสารการพัฒนาของ NIDA ซึ่งเป็นสถาบันต้นสังกัดของนักวิชาการผู้นี้ ซึ่งได้ทำหนังสือตอบรับมาว่า ได้รับรายงานดังกล่าวแล้ว

การที่ทีดีอาร์ไอเปิดเผยรายงานผลการศึกษาต่างๆ ต่อสาธารณะนั้น เป็นธรรมเนียมปฏิบัติขององค์กรที่มีมานาน โดยอยู่บนพื้นฐานของหลักคิดที่ว่า การวิจัยเชิงนโยบายซึ่งเกี่ยวข้องกับประชาชน ควรถูกเปิดเผย เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ว่า คณะผู้วิจัยได้สรุปผลการศึกษาตามข้อเท็จจริงหรือไม่ และได้เสนอแนะแก่ผู้กำหนดนโยบายอย่างสอดคล้องกับผลการศึกษาหรือไม่ ทั้งนี้ ความสามารถในการตรวจสอบได้ดังกล่าว จะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือขององค์กรที่ศึกษา และช่วยป้องกันไม่ให้องค์กรถูกอ้างอิงในทางที่ผิดๆ ทั้งจากผู้กำหนดนโยบาย หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในการศึกษานี้ ทีดีอาร์ไอไม่ใช่เจ้าของข้อมูลดิบ จึงไม่มีสิทธิในการเปิดเผยข้อมูลนั้น ผู้สนใจจึงควรขอจากหน่วยงานเจ้าของข้อมูลคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลางและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

2. ห้ามอ้างอิง-วิจารณ์ทีดีอาร์ไอ?

มีการอ้างว่า “ทีดีอาร์ไอห้ามอ้างอิงงานวิจัยของตน..ซึ่งเป็นเรื่องแปลก เพราะนักวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานก็เพราะต้องการให้คนอ้างอิงถึง” และกล่าวหาว่า การที่ทีดีอาร์ไอให้ตีความว่า ผู้ป่วยของ สปสช.ไม่ได้ตายมากผิดปกตินั้น “ออกจะไม่เป็นธรรม ขาดความใจกว้างทางวิชาการ” และยังกล่าวด้วยว่า “นักวิจัยมืออาชีพทั้งหลายล้วนตระหนักว่า วิชาการจะมีความงอกงามได้นั้น เกิดจากวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์..แม้กระทั่งทีดีอาร์ไอเอง ก็วิจารณ์วิเคราะห์งานวิจัยของผู้เขียนทั้งสอง”

ข้อเท็จจริงคือ ไม่มีนักวิชาการใดในทีดีอาร์ไอที่ห้ามผู้อื่นวิจารณ์ หรืออ้างอิงงานของตน มีแต่บทความของ ดร.ตรีนุชที่บอกว่า “การสรุปผลการศึกษาวิจัยใดๆ ควรพิจารณาตามหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เป็นอยู่อย่างตรงไปตรงมา โดยนักวิจัยไม่พึงคาดเดาเกินกว่าที่ข้อมูลสามารถอธิบายได้” ซึ่งน่าจะเป็นจริยธรรมพื้นฐานของนักวิจัยทุกคน ส่วนที่นักวิชาการทั้งสองอ้างว่า ดร.วรวรรณกล่าวว่า “ทีดีอาร์ไอแจงอย่าอ้างวิจัยโจมตีคุณภาพรักษาบัตรทอง” นั้น เป็นถ้อยคำของเวบไซต์แห่งหนึ่งที่พาดหัวข่าวไม่ตรงกับสิ่งที่นักวิจัยกล่าวในเนื้อข่าว

โดยสรุป ทีดีอาร์ไอไม่เคยห้ามผู้ใดอ้างอิงหรือวิจารณ์งานวิจัย แต่สิ่งที่ผู้วิจัยขอร้องคือ ไม่ควรนำเอาสิ่งที่ไม่ใช่ผลการวิจัย ไปอ้างว่าเป็นผลการวิจัย แน่นอนว่า ผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างย่อมมีสิทธิอย่างเต็มที่ แต่ควรระบุให้ชัดว่า ส่วนใดเป็นผลการวิจัย และส่วนใดเป็นความคิดเห็นของตน โดยไม่พึงเอาความคิดเห็นของตนไปอ้างเสมือนว่าเป็นผลการศึกษาวิจัย ดังตัวอย่างที่ปรากฏในบทความของนักวิชาการทั้งสองว่า “ทีดีอาร์ไอได้รายงานอัตราการตายของผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองสูงผิดปกติ” ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีที่ใดในรายงานการศึกษาดังกล่าวที่ชี้ว่า อัตราการตายของผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทอง “สูงผิดปกติ” และไม่อาจจะชี้เช่นนั้นได้จากข้อมูลที่ใช้ ดังที่ ดร.ตรีนุชได้เขียนบทความอธิบายไว้แล้ว

นอกจากนี้ การที่นักวิจัยของทีดีอาร์ไอกล่าวว่า “ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ป่วยแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน” ก็แตกต่างเป็นอย่างมากกับการกล่าวว่า “ประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทองนั้นตายเพราะมีการศึกษาต่ำกว่า ความรู้น้อยกว่า ไม่รู้จักดูแลตัวเอง” ในบทความของนักวิชาการทั้งสอง ซึ่งชวนให้เข้าใจว่า เป็นคำกล่าวของนักวิจัยทีดีอาร์ไอ เพราะประโยคแรกเป็นเรื่องข้อเท็จจริง แต่ประโยคหลังแฝงไปด้วยทัศนคติที่ดูถูกประชาชน

การนำเอาความคิดเห็นของตนไปแสดงเสมือนเป็นความเห็นของผู้อื่นในลักษณะข้างต้น หากเป็นการกระทำโดยไม่เจตนา ก็ควรเพิ่มความระมัดระวังต่อไปในอนาคต แต่หากเป็นการกระทำโดยเจตนา ก็น่าจะถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการ และไม่มีจริยธรรม

3.ทีดีอาร์ไอมีผลประโยชน์ทับซ้อน?

นักวิชาการดังกล่าวได้ตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำของทีดีอาร์ไอในเรื่องนี้ “สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างรุนแรง” และกล่าวว่า “ในทางวิชาการ ผู้ใดก็ตามจะตีพิมพ์ต้องชี้แจงว่า ตัวเองมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ เช่น การที่ทีดีอาร์ไอมีนักวิชาการจำนวนมากได้หรือได้ทุนวิจัยจำนวนมากจาก สปสช.เคยเป็นกรรมการสปสช.น่าจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์”

ข้อสังเกตนี้เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงแต่เลื่อนลอย ข้อเท็จจริงก็คือ ทีดีอาร์ไอได้เปิดเผยชัดเจนว่า การวิจัยชิ้นนี้ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก สปสช.และมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์ ดังปรากฏในหน้าปกรายงานผลการศึกษาซึ่งเผยแพร่ทั่วไปดังที่กล่าวมาแล้ว ดร.อัมมาร สยามวาลา ซึ่งเป็นอดีตกรรมการ สปสช.ก็ไม่ได้อยู่ในคณะผู้วิจัย และไม่มีหน้าที่และไม่อยู่ในฐานะใดๆ ที่จะสั่งให้ สปสช.ให้เงินสนับสนุนแก่ทีดีอาร์ไอ ข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลสาธารณะอยู่แล้ว หากนักวิชาการทั้งสองจะคิดว่า เนื่องจาก ดร.อัมมาร เคยเป็นกรรมการ สปสช.เมื่อ 4 ปีก่อน ทีดีอาร์ไอจึงไม่ควรทำการศึกษาให้ สปสช.หรือหากจะศึกษาให้ สปสช.ก็ต้องตีความในทางเดียวกันกับท่านทั้งสอง มิฉะนั้นก็จะถือว่ามีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ก็คงเป็นความคิดที่ขาดความใจกว้าง และผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะในทางวิชาการนั้น การตีความข้อมูลต้องทำอย่างตรงไปตรงมา โดยปราศจากอคติ ไม่เกี่ยวกับว่าใครเป็นผู้ว่าจ้าง

ผู้เขียนเชื่อว่า การที่ทีดีอาร์ไอได้รับความเชื่อถือจากสังคม เพราะนักวิจัยมีความตรงไปตรงมา ไม่ต้องเอาใจหน่วยงานผู้ว่าจ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นได้เพราะไม่มีหน่วยงานใดที่ครอบงำการให้ทุนทีดีอาร์ไอ เนื่องจากทีดีอาร์ไอมีนโยบายกระจายการรับทุนวิจัยจากหน่วยงานจำนวนมาก และไม่มีนโยบายการตั้งเป้าเพิ่มรายได้ เนื่องจากเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร จากนโยบายเช่นนี้ ทีดีอาร์ไอจึงเป็นฝ่ายเลือกหน่วยงานผู้ว่าจ้าง ไม่น้อยกว่าที่ผู้ว่าจ้างเป็นฝ่ายเลือกทีดีอาร์ไอ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ติดต่อให้ทีดีอาร์ไอเข้าร่วมศึกษาวิจัยหลายเรื่องในแต่ละสัปดาห์ แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีนักวิจัยไม่พอ

เมื่อผู้เขียนเข้าร่วมงานในทีดีอาร์ไอใหม่ๆ ได้พบกรณีที่ ทีดีอาร์ไอเคยเสนอให้ยุบหน่วยงานที่ว่าจ้างให้มีการศึกษานั้น ในปัจจุบัน ผู้เขียนเองก็วิจารณ์การกำกับดูแล กสทช.มาโดยตลอด ดังเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป แม้ได้รับการว่าจ้างให้ศึกษาวิจัยในเรื่องต่างๆ จากสำนักงาน กสทช.ก็ตาม

ผู้เขียนเชื่อว่า หลักประกันที่จะป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ในการวิจัยด้านนโยบายที่มีประสิทธิผลที่สุดคือ การเปิดเผยผลการศึกษาต่อสาธารณะ ซึ่งจะช่วยให้สาธารณชนตรวจสอบว่า ผลการศึกษาอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือเกิดขึ้นโดยผลประโยชน์ทับซ้อนใด

-----------------------

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ 
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)