บำบัดใจ วัยทำงาน

บำบัดใจ วัยทำงาน

คุณพ่อวัยทำงานที่รู้จักกันเป็นการส่วนตัวท่านหนึ่งมาปรึกษา เรื่องการใช้เวลาเพื่อหาความสุขให้กับตัวเอง เนื่องจากมองว่าชีวิตต้องรับผิดชอบเยอะ

ตื่นตีห้า ออกบ้านหกโมงเช้า เพื่อไปส่งลูกๆ และไปทำงาน ช่วงเย็นภรรยาไปรับลูกแทน เนื่องจากเขาทำงานเลิกช้าประกอบกับรถติด กลับถึงบ้านสองถึงสามทุ่ม เมื่อถึงบ้านก็ต้องดูแลลูกๆ พูดคุยกับภรรยา และรีบเข้านอนเวลาห้าทุ่มเนื่องจากต้องรีบตื่นแต่เช้า ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ต้องขับรถไปส่งลูกเรียนพิเศษและรอรับกลับบ้าน ระหว่างรอมักหลับรอในรถ หรือเข้าร้านอาหารฟาสฟูดส์ ขณะที่คุณภรรยาทำงานอยู่บ้าน

ฟังดูแล้วหลายคนอาจมองว่า คุณพ่อท่านนี้ ช่างเป็นคุณพ่อตัวอย่าง ที่รับผิดชอบมาก นอกจากจะขยันทำงานแล้ว ยังดูแลเอาใจใส่ลูกๆและภรรยา อย่างมากอีกด้วย ปัจจุบันคุณพ่ออายุ 45 ปี รู้สึกเหนื่อยแทบขาดใจทุกวัน แต่ก็หยุดใช้ชีวิตแบบนี้ไม่ได้เนื่องจากรักภรรยาและลูกมาก

ผู้เขียนไม่ได้ต้องการให้คุณพ่อเลิกดูแลคุณภรรยาและลูกๆ แต่หากคุณพ่อสามารถใช้เวลาของตนเองให้มีค่าอย่างมีความสุขได้ จะทำให้คุณพ่อท่านนี้รักตนเองมากขึ้น ผ่อนคลาย มองสิ่งที่ทำอยู่ว่า “มีค่า” ไม่ใช่ “ภาระ” และส่งผ่านความสุขไปยังคนรอบข้าง แม้ว่าตารางกิจกรรมในชีวิตแต่ละวันไม่เปลี่ยนไปนัก

เวลาที่มีอยู่ หมายความว่าอย่างไร ?

หมายความว่า เวลาที่เราอยู่กับตนเองคนเดียวหรืออยู่กับคนอื่น อาจเป็นเวลาไม่กี่นาทีไม่กี่ชั่วโมง กรณีคุณพ่อท่านนี้ เวลาที่คุณพ่อมี คือ เวลาตอนเช้าขณะขับรถส่งลูกไปโรงเรียนและไปทำงาน เวลาทำงาน เวลาพักระหว่างทำงาน เวลาทานอาหาร เวลาขับรถกลับบ้าน เวลาอยู่กับลูกๆและภรรยาช่วงหัวค่ำ เวลารอลูกๆเรียนพิเศษช่วงวันหยุด และเวลาครึ่งชั่วโมงก่อนนอน

ทำเวลาให้มีค่า ทำอย่างไร ?

การทำเวลาให้มีค่า กรณีนี้ ไม่ได้แปลว่าต้องทำกิจกรรมเป็นเรื่องเป็นราว อย่างเล่นกีฬาหรือไปเที่ยวต่างจังหวัดเสมอไป การทำเวลาให้มีค่าสำหรับความสุขของตนเองนั้นทำได้หลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับความชอบและความสนใจของแต่ละคน

ตัวอย่างกรณีคุณพ่อท่านนี้ เวลารอลูกเรียนพิเศษในวันหยุด แทนที่จะนั่งมองนาฬิกาว่าเมื่อไหร่ลูกจะเรียนเสร็จ จะรีบรับกลับบ้านเพื่อไปพักผ่อน คุณพ่อท่านนี้สามารถชวนภรรยาออกจากบ้านมาด้วยกัน ระหว่างที่ลูกๆ เรียนพิเศษ อาจชวนคุณภรรยาไปทานอาหารหรือขนมอร่อยๆ ระหว่างนั่งคุยแลกเปลี่ยนเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันให้กันฟัง เมื่อลูกเรียนพิเศษเสร็จแล้ว แทนที่จะรีบกลับบ้าน ครอบครัวนี้สามารถหากิจกรรมทำร่วมกันได้อีกในวันนั้นๆ หรือจะไปชมภาพยนต์สนุกๆสำหรับครอบครัวกันซักเรื่อง

ช่วงระหว่างรับประทานอาหาร ควรพูดคุยในเรื่องที่มีประสบการณ์ร่วมกัน อาทิ  อาหารที่ทานร่วมกันนั้นใครชอบอาหารจานไหนบ้าง ไอศครีมรสชาติไหนเป็นอย่างไร และอนาคตอยากทานอาหารอะไรกันบ้าง

ช่วงเช้าขณะขับรถไปส่งลูกไปโรงเรียน แทนที่จะใจจดจ่ออยู่ไฟแดงว่าจะเปลี่ยนเป็นไฟเขียวเมื่อใด หรือจดจ่ออยู่กับความคิดของตนเองเรื่องงานที่จะต้องรีบไปทำในเช้าวันนั้น คุณพ่อท่านนี้อาจชวนคุณลูกร้องเพลงกันในรถ หรือชวนดูสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่น่าสนใจ หรือชวนให้คุณลูกพูดคุยแบ่งปันเรื่องราวสนุกๆ ที่โรงเรียน เป็นต้น 

ผู้เขียนมั่นใจว่าหากคุณพ่อได้เห็นรอยยิ้ม ได้ยินเสียงหัวเราะจากลูกๆ แล้ว เรื่องอื่นที่กังวลอยู่ก็จะหายหายไปได้ทันที

เพราะ “การได้เห็นคนที่เรารักยิ้มแย้มและมีความสุข สามารถเป็นพลังฟื้นฟูชีวิตและจิตใจของเราได้เป็นอย่างดี”

ดังนั้น เราควรเริ่มบำบัดใจของเราได้แล้ว เริ่มเลยวันนี้