แก้ปัญหาเด็ดขาด ต้องไม่ผ่อนปรน

แก้ปัญหาเด็ดขาด ต้องไม่ผ่อนปรน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

 กล่าวการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและขาดการควบคุม (ไอยูยู) ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้ หลังจากกฎหมายการประมงฉบับใหม่ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรียืนยันอย่างหนักแน่นว่า จะไม่มีการผ่อนปรนหรือผ่อนผันให้เกิดการทำประมงอย่างผิดกฎหมาย แต่ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายและเงื่อนไขของไอยูยู

การประมงไทยถือว่ามีความซับซ้อนอย่างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย ดังจะเห็นได้จากการจัดประเภทเรือประมงของหน่วยงานรัฐบาล ที่จำแนกไว้เป็น 3 ประเภท คือ   เรือประมงนอกน่านน้ำ เรือประมงทั่วไปในน่านน้ำ และ เรือประมงพื้นบ้าน ซึ่งหากยึดตามมาตรฐานไอยูยู ก็เชื่อแน่ว่าเรือประมงทุกประเภทล้วนแต่มีปัญหาทั้งสิ้น เพียงแต่ประเภทใดจะมีมากหรือน้อย และสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมมากแค่ไหน

จากมาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาลตามไอยูยู ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการประมงค่อนข้างมาก เนื่องจากเรือประมงจำนวนมากหยุดการทำการประมง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการประมงและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประมง ทั้งเรื่องแรงงานและการค้าขาย ดังนั้น ยิ่งเรือประมงหยุดออกเรือนานเท่าไร ผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นลูกโซ่ก็ย่อมมีมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันต้องให้รัฐบาลหาทางผ่อนปรนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการประมง

ดังนั้นกระแสเรียกร้องให้มีการผ่อนปรน และให้รัฐบาลเจรจากับทางสหภาพยุโรป (อียู) ที่เกิดขึ้นจากผู้ได้รับผลกระทบ ย่อมมีมากขึ้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา และยิ่งมีประชาชนเกี่ยวข้องกับกิจการการประมงมาก ก็ยิ่งสร้างแรงกดดันกับรัฐบาลมากขึ้นเท่านั้น โดยประเด็นความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจถือเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นทุกครั้ง เมื่อรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาการทำประมงของไทยในอดีต จนทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆได้ นอกจากการตามแก้ปัญหาเฉพาะรายเฉพาะกรณีไป

 อย่างไรก็ตาม ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นเป็นที่รับรู้กันทั่วไป โดยเฉพาะประชาชนในแถบชายฝั่งทะเลที่มีอาชีพการประมง ยกเว้นกรณีของประมงพื้นบ้านที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่มาตรการการแก้ไขในครั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องเลือกระหว่างความเดือดร้อนในระยะสั้นจากการบังคับใช้กฎหมายกับมาตรการแก้ปัญหาระยะยาว ตามมาตรการไอยูยู ซึ่งมาตรการระยะยาวถือเป็นการแก้ปัญหาหลายด้าน ทั้งเรื่องการทำประมงอย่างผิดกฎหมายและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

รัฐบาลจึงอาจอยู่บนทางสองแพร่งในขณะนี้ว่าจะเลือกด้านใด แต่จากการฟังท่าทีของนายกรัฐมนตรีและคนในรัฐบาล ต่างยืนยันว่าเราจำเป็นต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งใกล้กับกำหนดเวลาของอียูที่ให้เวลากับไทยในการแก้ปัญหา หากเราไม่สามารถทำได้ก็อาจส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนด้านอื่นตามมาด้วย รวมทั้งตัวอุตสาหกรรมการประมงเองก็จะได้รับผลกระทบตามมาด้วยเช่นกัน และยิ่งประเทศนำเข้าอื่นเตรียมใช้มาตรการเดียวกัน ก็ยิ่งมีผลกระทบมากขึ้น

เราเห็นว่ารัฐบาลจะต้องดำเนินการ โดยไม่มีการผ่อนปรนต่อการบังคับใช้กฎหมาย เพราะที่ผ่านมาไทยทำการประมงอย่างผิดกฎหมายมานาน ทำให้กระทบทรัพยากรธรรมชาติและจะทำให้ไม่เกิดความยั่งยืนในการประมงไทยเอง เราหวังว่ารัฐบาลจะไม่มีการผ่อนปรนและต้องจัดระเบียบทั้งหมดสำหรับเรือประมงทุกประเภทโดยไม่มียกเว้น เพราะเราหวังว่าหากรัฐบาลทำได้และดำเนินการอย่างจริงจังได้อย่างต่อเนื่อง การประมงไทยก็จะกลับมาสู่ความยั่งยืนอีกครั้ง และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว