ถอนฟืนใต้กระทะ

ถอนฟืนใต้กระทะ

กลยุทธ์ “ถอนฟืนใต้กระทะ” หรือ ฝูตี่โชวซิน เป็นกลยุทธ์ที่หมายถึงการพิเคราะห์เปรียบเทียบ กำลังของศัตรูในการทำศึกสงคราม

 ถ้ากองทัพมีน้อยกว่า ควรพึงหาทางบั่นทอนขวัญ และกำลังใจ ความฮึกเหิมของศัตรูให้ลดน้อยถอยลง

คัมภีร์อี้จิง กล่าวว่า ดุจฟ้าอยู่เหนือน้ำ โดยคำว่า “น้ำ” หมายถึงความแข็งแกร่ง คำว่า “ฟ้า” หมายถึงความอ่อนแอ เมื่อรวมกันแล้ว “ดุจฟ้าอยู่เหนือน้ำ” หมายความถึงความอ่อนชนะความแข็ง คือการพึงใช้วิธีอ่อนพิชิตแข็ง ฉกฉวยจังหวะ และโอกาสในการทำลายกองทัพส่วนหนึ่งของศัตรูให้แตกพ่ายย่อยยับในภายหลัง

ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ ถอนฟืนใต้กระทะ ไปใช้ได้แก่ “เกียงอุย” ที่วางกลอุบายให้ “พระเจ้าโจฮวน” หลงเชื่อว่า “เตงงาย” คิดหมายตั้งตนเองเป็นใหญ่ และสั่งให้จับไปฆ่า

กรณี ศาลทหารกรุงเทพ พิจารณาให้อนุญาตปล่อยตัวนักศึกษา กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ซึ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด มิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และร่วมกันมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองที่ใด ๆ จำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ข้อ 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ประกอบมาตรา 83 หลังครบกำหนดฝากขังผลัดแรก 12 วัน

14 นักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ประกอบด้วย 1.นายรังสิมันต์ โรม 2.นายวสันต์ เสดสิทธิ 3.นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ 4.นายพายุ บุญโสภณ 5.นายอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ 6.นายรัฐพล ศุภโสภณ 7.นายศุภชัย ภูคลองพลอย 8.นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ 9.นายภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ 10.นายสุวิชา พิทังกร 11.นายปกรณ์ อารีกุล 12.นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา 13.นายพรชัย ยวนยี และ14.น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว

ศาลทหารกรุงเทพ พิจารณาคำร้องของพนักงานสอบสวน และมีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากเห็นว่าไม่มีเหตุในการควบคุมตัวต่อ นักศึกษาและนักกิจกรรมทั้งหมดจึงได้รับอิสรภาพ

แม้นักศึกษา และนักกิจกรรมทั้ง 14 คน จะไม่ถูกควบคุมตัว แต่กระบวนการยุติธรรม ยังคงดำเนินต่อไป เมื่อครบกำหนดหากอัยการทหารส่งฟ้องต่อศาลทหาร ก็ต้องพิจารณาคดีตามที่ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง 3/2558 ที่ออกโดยมาตรา 44 และมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี

กรณี 14 นักศึกษา นักกิจกรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะบังคับใช้กฎหมายโดยเข้มงวด ก็ย่อมได้ แต่การที่ศาลทหารกรุงเทพ อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ย่อมตีความได้ว่า ใช้ ความอ่อน ชนะ ความแข็ง กล่าวคือการพึงใช้วิธีอ่อนพิชิตแข็ง

กรณี 14 นักศึกษา คือ ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ ถอนฟืนใต้กระทะ