โจทย์ท้าทาย 'ไทย-อาเซียน'

โจทย์ท้าทาย 'ไทย-อาเซียน'

ย้อนมองปัญหาของไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมา แต่ละเรื่อง “หนักหน่วง” ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น “ภัยธรรมชาติ” เช่น มหาอุทกภัยเมื่อปี 2554

 มาวันนี้เรากำลังเผชิญกับ “ภัยแล้ง” ขณะที่ สิ่งแวดล้อม ก็มีปัญหาหลายเรื่อง เช่น การบุกรุก ตัดไม้ ทำลายป่า หรือ “หมอกควัน” จากประเทศเพื่อนบ้าน 

ooo ด้าน อาชญากรรมข้ามชาติ ไทยก็ถูกกล่าวหาเป็นแหล่ง “ฟอกเงิน” และ“พาสปอร์ตปลอม” อีกทั้งเคยเป็นแหล่งที่พักพิงของเครือข่าย “ก่อการร้าย” หรือทางผ่านการลักลอบ “ค้าอาวุธ” ยังไม่นับรวม ค้ามนุษย์ ชาวโรฮิงญาในพื้นที่ภาคใต้ที่ไล่เช็คบิลกลุ่มขบวนการไปแล้วแต่ก็มีข้อยังกังขาถึง “เบื้องหลัง” อยู่ หรืออย่างคดี “ยูฟัน” ซึ่งเข้าข่ายเป็น “แชร์ลูกโซ่” ข้ามชาติ

ooo อาชญากรรมไซเบอร์ เป็นอีกปัญหาที่นับวันจะรุนแรงขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มแฮกเกอร์ นาม GhostShell เผยแพร่ข้อมูลการเจาะระบบเว็บไซต์มหาวิทยาลัย และเว็บไซต์บริษัทเอกชนทั่วโลก กว่า 500 แห่ง ได้ข้อมูล ผู้ใช้งาน กว่า 13,000 คน ในปฏิบัติการนี้มีเว็บไซต์ในประเทศไทยถึง  “82 โดเมน แบ่งเป็น เว็บไซต์มหาวิทยาลัย 58 โดเมน โรงเรียน 3 โดเมน และหน่วยงานเอกชน 21 โดเมน ปัจจุบัน ไทยเซิร์ต ได้ประสานแจ้งหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบแล้ว

ooo ปัญหาเหล่านี้ สากลเรียกว่า ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ซึ่งในงานสัมมนาวิชาการของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง เอเชีย: พลวัต และความเปลี่ยนแปลง ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ มีการพูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

ooo โดยในหัวข้อเรื่อง อาเซียนกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่: พัฒนาการและความท้าทาย ของ อาจารย์สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกชัดว่า ภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่เหล่านี้ เปลี่ยนแปลง-สลับซับซ้อน ลำพังใช้แต่ ความมั่นคง จัดการไม่ได้ ต้องมี ภาคประชาสังคม ร่วมด้วย เพราะว่าภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ไม่สนใจเส้นเขตแดน ฉะนั้นทุกประเทศต้องร่วมมือกัน

ooo แต่จะรวมประชาคมอาเซียนกันสิ้นปีนี้แล้วก็ยังมีความท้าท้ายอีกหลายเรื่องที่ไทยและอาเซียนต้องทำให้ได้ โดยเฉพาะการสร้าง ค่านิยม ร่วมกัน 

ooo พ.อ.นเรศน์ วงศ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการ สำนักปฏิบัติการ กรมยุทธการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย

ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า เราไม่อาจมองปัญหาใดปัญหาหนึ่งด้วยเรื่องเดียวโดดๆ ไม่ได้อีกต่อไป เช่น ปัญหาผู้อพยพย้ายถิ่นจะใช้ การสกัดกั้น หรือตรวจคนเข้าเมือง เท่านั้น

ooo อย่างไรก็ดี นายทหารผู้นี้บอกว่า รัฐบาลเข้าใจและพยายามแก้ไขความสลับซับซ้อนอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็มีความท้าทายที่สำคัญคือ องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ถูกแยกเป็นส่วนๆ ทำให้ทำงานยาก โดยเรื่องหนึ่งเรื่องต้องอาศัยคนหลายส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่วิธีบริหารจัดการความมั่นคงรูปแบบใหม่ยังขาด สะพานเชื่อม” ระหว่างองค์กร หน่วยงานต่างๆ ทั้งที่เป็นองค์กรภาครัฐและไม่ใช่ภาครัฐ...เป็นเรื่องใหญ่ของไทยและอาเซียน

ooo แล้วอะไรคือ อาวุธ ที่ใช้แก้ปัญหา คำตอบของ พ.อ.นเรศน์ คือ ความรู้ เพราะทุกวันนี้เราต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันที่ วาทกรรม หรือ ความคิด แต่จุดอ่อนความรู้ของเราคือ มีลักษณะเป็นท่อนๆ ไม่มีความรู้ที่เป็น สหวิทยาการ และนี่จึงเป็น ความท้าทาย ของไทยรวมทั้งอาเซียนว่าจะทำให้เกิด แพคเกจ ความรู้ร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงที่ทุกวันนี้เปรียบเสมือน ของเหลว ผสมปนเปกันไปหมดทุกเรื่อง