เราต่างก็เป็น ‘พลังบริสุทธิ์’

เราต่างก็เป็น ‘พลังบริสุทธิ์’

ที่ต้องการ ‘จุดติด’ ความเป็น ‘ประชาธิปไตย’

นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า นักศึกษา 14 คนที่ถูกจับเพราะต่อต้านรัฐประหารเป็น พลังบริสุทธิ์ และเป็นห่วงอนาคตของเยาชวน แต่กฎหมายก็ต้องเป็นกฎหมาย

เครือข่ายอาจารย์เรียกร้องให้รัฐบาล ปล่อยตัวนักศึกษาโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะพวกเขาและเธอเป็นเพียง นักโทษทางความคิด

นักศึกษากลุ่มนี้ไม่ยอมรับอำนาจของศาลทหาร บอกว่าถ้าจะขึ้นศาลก็ต้องเป็นศาลพลเรือน และขอให้มีการไต่สวนอย่างเปิดเผย ให้สาธารณชนได้รับทราบ

รัฐบาลบอกว่าบ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ จึงต้องมี คสช. นักศึกษาควรจะเข้าใจว่าเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นมาอย่างไร จึงตกอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่

นักศึกษายืนยันในเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น ต้องการให้ทหารเคารพสิทธิของประชาชน และการใช้วิธี อารยะขัดขืน เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

คนที่ติดตามข่าวคราวเรื่องนี้ก็จะเห็นว่า สังคมไทยแบ่งเป็นฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้าน แล้วแต่เหตุผลของแต่ละฝ่าย ซึ่งก็มีน้ำหนักเท่ากับความเชื่อของแต่ละฝ่าย

มีคนตั้งประเด็นว่าการประท้วงของนักศึกษากลุ่มนี้จะ จุดติด หรือไม่?

ความหมายของ “จุดติด” นิยามอย่างไรไม่ชัดเจน แต่เข้าใจว่าเป็นภาษาการเมืองไทย หมายถึงจะได้รับการตอบสนองจากส่วนอื่นๆ ของสังคมจนบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่โตจนคุกคามเสถียรภาพของผู้มีอำนาจหรือไม่

แต่ผมคิดว่าคำว่า จุดติด ควรจะหมายความถึงการที่สามารถทำให้คนในสังคม เกิดการกระตุ้นเตือนให้เห็นความสำคัญ ของการถกแถลงอย่างเปิดเผยว่าเส้นทางสู่ ประชาธิปไตย ของไทยควรจะต้องเดินไปข้างหน้าอย่างไร และบทบาทของแต่ละฝ่ายจะต้องแสดงความรับผิดชอบกันอย่างไร

หากความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของนักศึกษา และอาจารย์ที่ตั้งคำถามว่าด้วย อำนาจพิเศษ กับ ประชาธิปไตย ก่อให้เกิดการตื่นตัวของสังคมทั้งมวล ที่จะลุกขึ้นร่วมกันแลกเปลี่ยนอย่างจริงจัง และเปิดกว้างว่าประเทศไทยจะก้าวพ้นความขัดแย้งและ วงจรอุบาทว์ ของเลือกตั้งสลับกับรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าได้อย่างไร ผมก็ถือว่าเป็นการ “จุดติด”

และเป็นการ “จุดติด” ที่มีประโยชน์ต่อสังคมทั้งมวล

นายกฯบอกว่านักศึกษาที่ประท้วงเป็น “พลังบริสุทธิ์” ขณะที่ก่อนหน้านี้คนใหญ่คนโตในรัฐบาลบางคนบอกว่ามี นักการเมืองบางคนบางกลุ่มอยู่เบื้องหลัง

หากผู้นำประเทศเชื่อเช่นนั้นจริงก็จะต้องฟัง “พลังบริสุทธิ์” ของคนทั้งประเทศ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ล้วนต้องการ “ด้วยความบริสุทธิ์ใจ” ให้ประเทศปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่เคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน

นักศึกษาเป็นคนรุ่นใหม่ของบ้านเมือง เป็นผู้ต้องรับช่วงต่อจากรุ่นนี้ มีความคิดความอ่านที่ต้องการเห็นบ้านเมืองอยู่ในระบบที่ถูกต้องเป็นธรรม ไม่มีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้อำนาจเผด็จการกดขี่บังคับคนอื่นด้วยอำนาจที่ไม่ถูกต้อง

ขณะเดียวกัน “พลังบริสุทธิ์” ของสังคมก็ต้องการเห็นประชาชนสามารถควบคุมการทำงานของนักการเมืองที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศ ต้องการจะป้องกันและปราบปรามความชั่วร้ายของสังคมที่มาในรูปของการฉ้อราษฎร์บังหลวง มีผลประโยชน์ทับซ้อน และใช้อำนาจการเมืองเพียงพอสร้างความร่ำรวยและยึดกุมอำนาจทางการเมืองให้ยาวนานที่สุดด้วยวิธีการฉ้อฉลทุกรูปแบบ

“พลังบริสุทธิ์” ของสังคมไทยควรต่อต้านทั้งรัฐประหารและนักการเมืองทุนสามานย์เพราะทั้งสองแนวทางนี้ทำให้เกิดคนมีอำนาจเบ็ดเสร็จกลุ่มเดียว

เพราะท้ายที่สุดแล้ว หากประชาชนสามารถสร้าง “พลังบริสุทธิ์” ตามความหมายที่แท้จริงของ “ประชาธิปไตย” แล้วรัฐประหารและ “ทุนนิยมสามานย์” ก็ย่อมจะเกิดไม่ได้

“พลังบริสุทธิ์” ของสังคมไทยจึงไม่ควรให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นเงินหรือรถถังแบ่งแยกประชาชนเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างที่เห็นอยู่ขณะนี้

พลังบริสุทธิ์ต้อง จุดติดเพราะ เบื้องหลังของความเคลื่อนไหวเพื่อ ประชาธิปไตยนั้นคือ ประชาชนทุกหมู่เหล่า