ส่งใจช่วยประชาชนกรีซ : This too shall pass.

ส่งใจช่วยประชาชนกรีซ : This too shall pass.

ผมส่งต้นฉบับบทความนี้วันศุกร์ที่แล้ว จึงไม่ทราบผลประชามติของประเทศกรีซวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ว่าผลเป็นอย่างไร

เช้าวันนี้เราคงทราบกันแล้วว่า กรีซลงมติรับหรือไม่รับข้อเสนอของกลุ่มเจ้าหนี้ แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เศรษฐกิจกรีซก็คงวุ่นวายและทรุดตัวอีกระยะหนึ่งก่อนจะดีขึ้น แต่ผู้ที่ต้องอดทนมากไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็คือประชาชนชาวกรีซ ที่มาตรฐานความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตประจำวันจะถูกกระทบมาก แต่ก็เป็นความไม่สะดวกที่พวกเขาพร้อมเผชิญ เพราะประชาชนกรีซได้ร่วมกันตัดสินใจแล้วว่า จะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างไร และต้องขอชมเชยพลังของความเป็นประชาธิปไตยของกรีซ ที่ผู้มีอำนาจ คือ รัฐบาลฟังและเคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน วันนี้จึงขอเขียนเรื่องนี้ และขอส่งกำลังใจช่วย

โอกาสสุดท้ายที่การเจรจาระหว่างกลุ่มเจ้าหนี้กับรัฐบาลกรีซ จะมีข้อยุติได้ในวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน ก็ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย เพราะคู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่ยอมลดทอนความต้องการของแต่ละฝ่าย สำหรับกรีซ การปฏิบัติตามเงื่อนไขกลุ่มเจ้าหนี้ ทุกเรื่องคงเป็นสิ่งที่ไม่อยากทำ เพราะเศรษฐกิจขณะนี้แย่มาก อัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 25 และสูงถึงร้อยละ 50 ในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว สำหรับกลุ่มเจ้าหนี้ การผ่อนปรนก็ทำไม่ได้ เพราะจะเสียวินัยการให้ความช่วยเหลือ ที่อาจเป็นตัวอย่างให้ประเทศลูกหนี้อื่นๆ ทำตาม เมื่อไม่มีข้อตกลง กรีซก็ผิดนัดชำระหนี้กับไอเอ็มเอฟในวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ แถลงข่าวเช้าวันพุธที่ 1 กรกฎาคมว่า ไม่ได้รับเงินชำระหนี้จากรัฐบาลกรีซ ณ สิ้นวันอังคารที่ 30 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลกรีซผิดนัดชำระหนี้ ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีหนี้สินติดค้างชำระ ทำให้ไอเอ็มเอฟจะไม่สามารถปล่อยกู้ให้กับกรีซได้ต่อไป และแถลงว่าประเทศกรีซได้ยื่นขอให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศพิจารณายืดเวลาชำระหนี้ ที่กรีซติดค้างกับไอเอ็มเอฟ ซึ่งทางคณะกรรมการไอเอ็มเอฟคงจะพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป

การผิดนัดชำระหนี้ของกรีซ เป็นการผิดนัดชำระหนี้กับกลุ่มเจ้าหนี้ คือรัฐบาลกลุ่มประเทศยูโรโซน ธนาคารกลางสหภาพยุโรป และไอเอ็มเอฟ แต่กรีซยังมีสถานะเป็นสมาชิกกลุ่มยูโรโซน และในฐานะประเทศสมาชิก ธนาคารกลางสหภาพยุโรปก็มีข้อผูกพันที่จะต้องให้ความช่วยเหลือกรีซ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งกรีซก่อนที่จะผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารกลางสหภาพยุโรปก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ธนาคารกลางกรีซ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ในกรีซมีสภาพคล่อง รองรับการถอนเงินฝากของประชาชน และถึงวันจันทร์ที่แล้วยอดเงินสะสมที่ได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วมีกว่า 89 พันล้านยูโร แต่ตั้งแต่รัฐบาลกรีซประกาศว่าจะให้มีการลงประชามติ ธนาคารกลางสหภาพยุโรปก็ได้หยุดที่จะให้ความช่วยเหลือเพิ่ม และในวันพุธที่ผ่านมาที่ธนาคารกลางสหภาพยุโรปมีการประชุมเรื่องนี้ และก็ไม่ได้เปลี่ยนนโยบาย ทำให้กรีซจำเป็นต้องพึ่งมาตรการควบคุมการถอนเงินฝาก ควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างประเทศ การปิดธนาคารพาณิชย์และตลาดหุ้นต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่องรุนแรงในระบบการเงิน

ดังนั้น สำหรับกรีซ อาทิตย์ที่แล้วจึงเป็นช่วงของการประคับประคองไม่ให้มีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในประเทศ ก่อนจะถึงการลงประชามติ ซึ่งประชาชนชาวกรีซก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ปรับตัวรับสถานการณ์ มีการต่อแถวเข้าคิวถอนเงินฝากตามโควต้าประจำวันอย่างเป็นระเบียบ ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง แสดงให้เห็นถึงวินัยและความตั้งใจของประชาชนกรีซทุกระดับ ที่จะร่วมแก้ไขปัญหา และอาทิตย์ที่แล้วประเทศกลุ่มเจ้าหนี้และรัฐบาลกรีซก็ใช้เวลาที่เหลืออยู่ก่อนถึงวันอาทิตย์ พยายามหาทางออก พร้อมกับเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังวันลงประชามติ

สำหรับกลุ่มเจ้าหนี้ โจทย์สำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้ผลประชามติออกมาเป็นการยอมรับเงื่อนไข เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีต่อความคงอยู่ของระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินยูโร และเตรียมมาตรการรับมือกับสถานการณ์สุดโต่ง ในกรณีที่ผลประชามติออกมาตรงข้าม คือเป็นการปฏิเสธข้อเสนอ ที่อาจนำไปสู่การออกจากกลุ่มยูโรโซนโดยกรีซ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยผลกระทบที่ต้องดูแลเพิ่มเติมก็จะมีสามเรื่องคือ ความผันผวนในตลาดการเงิน การขาดแคลนสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ และผลกระทบข้างเคียงต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศอื่นๆ ในยุโรป

สำหรับรัฐบาลกรีซโจทย์ที่ต้องคิดก็คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนกรีซมาลงมติสนับสนุนการปฏิเสธข้อเสนอของกลุ่มเจ้าหนี้อย่างท่วมท้น และเตรียมรับมือกับความรุนแรงของสถานการณ์เศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นหลังประชามติ จากปัญหาการขาดสภาพคล่องรุนแรง ที่จะเกิดขึ้นเพราะการหยุดการให้ความช่วยเหลือของกลุ่มเจ้าหนี้ และจากการไม่ปล่อยเงินกู้ต่อของภาคเอกชนอื่นๆ เพราะกรีซได้ผิดนัดชำระหนี้

ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นอาทิตย์ที่แล้วเหมือนมีแคมเปญทั้งสองฝ่าย ที่พยายามชี้นำให้ผลประชามติออกมาในทิศทางที่ต้องการ โดยกลุ่มเจ้าหนี้แสดงความเห็นต่อเนื่องว่า การปฏิเสธเงื่อนไข หมายถึงกรีซออกจากกลุ่มยูโร (เพราะเข้าใจดีว่าประชาชนกรีซส่วนใหญ่อยากให้กรีซอยู่ในระบบยูโรต่อไป) ขณะที่รัฐบาลกรีซและผู้สนับสนุน ก็ออกมาแสดงพลังสนับสนุนการปฏิเสธไม่รับข้อเสนอ โดยชี้ว่าการปฏิเสธคือการแสดงพลังความรักชาติของกรีซ ที่จะไม่ยอมรับเงื่อนไขการรัดเข็มขัดของกลุ่มเจ้าหนี้

ในตลาดการเงิน ช่วงอาทิตย์ที่แล้วก็มีการแสดงความคิดเห็นกว้างขวางในเรื่องนี้ โดยนักวิเคราะห์และนักวิชาการ ที่มีทั้งสนับสนุนการรับเงื่อนไขและปฏิเสธเงื่อนไขมากพอๆ กัน ฝ่ายสนับสนุนส่วนใหญ่จะมาจากนักลงทุน ที่ไม่อยากให้มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นในตลาด เพราะจะกระทบตลาดหุ้นและผลตอบแทนในการลงทุน ขณะที่ผู้สนับสนุนส่วนใหญ่จะเป็นนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ที่มองว่า เงื่อนไขของกลุ่มเจ้าหนี้จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของกรีซได้ แต่การออกจากสหภาพยุโรป จะทำให้กรีซมีเครื่องมือเพิ่มเติมที่จะช่วยกรีซแก้ไขปัญหา นั้นก็คือ มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นของตัวเอง

ในเรื่องนี้ ในทางเศรษฐศาสตร์การแก้ไขปัญหาความเป็นหนี้ของประเทศ ทำได้สองทางหนึ่ง ประหยัดลดทอนรายจ่าย เพื่อให้มีเงินเหลือมาชำระหนี้ สอง ลดค่าเงินของตัวเอง เพื่อกระตุ้นการส่งออก ให้มีรายได้เงินตราต่างประเทศเข้าประเทศและชำระหนี้ ที่ผ่านมากรีซไม่มีเครื่องมือด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพราะอยู่ในระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินยูโร และค่าเงินยูโรก็แพงเกินที่จะช่วยการส่งออกของกรีซ การแก้ปัญหาจึงต้องเน้นใช้การประหยัด หรือลดทอนรายจ่ายอย่างเดียว ซึ่งก็คือเงื่อนไขของกลุ่มเจ้าหนี้ แต่กรีซได้ใช้แนวทางนี้ติดต่อมาแล้วห้าปี สถานการณ์เศรษฐกิจของกรีซก็ไม่ดีขึ้น แต่กลับแย่ลง เพราะประเทศไม่มีรายได้เงินตราต่างประเทศเข้ามาเสริมความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ต้องพึ่งเงินกู้จากกลุ่มเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้

วันนี้ ประชามติของประชาชนกรีซว่าได้เลือกอะไรคงชัดเจนแล้ว ถ้าผลออกมาเป็นการยอมรับเงื่อนไข การเจรจารอบใหม่ก็จะเกิดขึ้นทันที และรัฐบาลกรีซชุดปัจจุบันก็คงต้องลาออก และกรีซก็ต้องอยู่กับเงื่อนไขของกลุ่มเจ้าหนี้ต่อไป แต่ถ้าผลออกมาเป็นไม่รับข้อเสนอ กรีซก็เหมือนอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกโดดเดี่ยว ไม่มีการช่วยเหลือจากกลุ่มยูโรโซน จะขาดสภาพคล่องเงินยูโรรุนแรง ที่จะนำมาใช้จ่ายและชำระหนี้ ทำให้รัฐบาลอาจไม่มีทางเลือกอื่น ต้องประกาศนำเงินสกุลของตนเองเดิมมาใช้ พิมพ์ธนบัตรสกุลเงินท้องถิ่นออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ขนานไปกับการใช้เงินยูโร เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจมีสภาพคล่องเพียงพอ แต่เงินสกุลใหม่คงมีค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่อ่อนลงมากเทียบกับเงินยูโร แต่จะเป็นกลไกที่จะช่วยกรีซหารายได้เงินตราต่างประเทศจากการส่งออก และการท่องเที่ยวมาชำระหนี้ได้มากขึ้น

ก็ขอเอาใจช่วยประชาชนกรีซ ทุกวิกฤติต้องจบสิ้น ทุกความยากลำบาก ถึงวันหนึ่งข้างหน้าก็จะผ่านไปเป็นอดีต ก็ขอส่งกำลังใจให้ประชาชนกรีซให้ผ่านช่วงเวลาของความยากลำบากนี้ไปด้วยดี This too shall pass.

สำหรับผู้ที่สนใจว่าเรื่องกรีซจะจบอย่างไร ขอให้ติดตามอ่านได้ในหนังสือเล่มแรกของผู้เขียน “ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลก” ที่จะวางจำหน่ายปลายเดือนนี้