ประชามติกรีซท้าทายอนาคตยูโรโซน

ประชามติกรีซท้าทายอนาคตยูโรโซน

วิกฤติกรีซกำลังสั่นสะเทือนอนาคตยูโรโซน ซึ่งกลายเป็นเรื่องวิกฤติของความเชื่อมั่น

 และเป็นความอ่อนไหว ทั้งปัญหาทางการเมืองและปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะไม่ว่าผลของประชามติวันที่ 5 ก.ค.นี้ จะออกมาเป็นโหวต “NO” หรือ “YES” จะยังคงเป็นปัญหาที่ท้าทายต่ออนาคตยูโรโซนว่า จะยังมีกรีซอยู่ร่วมเป็นสมาชิกหรือไม่ และจะสามารถรักษาความน่าเชื่อถือต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะการรักษามูลค่าสกุลเงินยูโรที่กำลังเสื่อมค่าลง หลังจากที่เกิดเป็นข้อบาดหมาง ระหว่างกรีซที่เป็นลูกหนี้กับกลุ่มเจ้าหนี้ทรอยก้าที่ประกอบด้วยสหภาพยุโรป กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งผลใค่าเงินยูโรลดลงกว่า 20% นับจากเดือนมิ.ย. 2557 เป็นต้นมา และค่าเงินยูโรได้ทรุดลงอีกครั้งจาก 1.12 ดอลลาร์ต่อยูโร มาอยู่ที่ 1.09 ดอลลาร์ต่อยูโร เมื่อกรีซตกอยู่ในฐานะประเทศผิดนัดชำระหนี้ เมื่อเวลา 05.00น.ของวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ตามเวลาในไทย

รัฐบาลกรีซภายใต้การนำของนายอเล็กซิส ซีปราส ได้แหวกกดของลูกหนี้ที่มียอดค้างชำระเงินกู้ต่างประเทศสูงถึง 324,000 ล้านยูโร โดยในจำนวนนี้เป็นเงินกู้ช่วยเหลือจากกลุ่มทรอยก้า 240,000 ล้านยูโร ไม่ยอมรับเงื่อนไขตามโปรแกรมรัดเข็มขัดของเจ้าหนี้ ที่ทำให้การเจรจากับเจ้าหนี้ตลอดช่วงเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา นับจากการเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีของนายอเล็กซิส ซีปราส ต้องพบกับความล้มเหลวเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยที่ผู้นำกรีซได้ทิ้งไพ่สำคัญประกาศจัดทำประชามติในวันอาทิตย์ที่ 5 ก.ค.นี้ให้ประชาชนโหวตไม่รับหรือรับโปรแกรมการช่วยเหลือจากเจ้าหนี้ต่างประเทศ ขณะที่นายอเลกซีส ซีปราส ได้รณรงค์ให้ประชาชนกรีซโหวตไม่รับ เพื่อหวังให้เป็นประชามติที่นำไปต่อรองกับกลุ่มเจ้าหนี้ แต่กลุ่มเจ้าหนี้กลับทิ้งทวนตัดความช่วยเหลือทางการเงินทุกๆด้าน และกดดันให้กรีซต้องผิดนัดชำระหนี้ที่มีต่อไอเอ็มเอฟในวงเงิน 1,600 ล้านยูโร

ชะตากรรมของกรีซที่เกิดวิกฤติหนี้มาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2558 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีติดลบไปถึง 35% มีคนตกงานสูงถึง 25% และในจำนวนนี้เป็นแรงงานวัยหนุ่มสาวที่ไม่มีงานทำสูงถึง 50% ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะของรัฐบาลอยู่ที่ 180%ของจีดีพี ซึ่งปัจจุบันกรีซได้เข้าสู่ภาวะวิกฤติการเงินและเศรษฐกิจ มีการแห่ถอนเงินฝาก จนกระทั่งรัฐบาลต้องประกาศปิดทำการแบงก์ 1 สัปดาห์ โดยจำกัดให้มีการถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มได้วันละ 60 ยูโรตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. โดย 2 วันถัดมาได้ผ่อนคลายเปิดแบงก์ 1,000 สาขาให้เบิกถอนเงินบำเหน็จบำนาญได้คนละ 120 ยูโร พร้อมกับงัดมาตรการควบคุมเงินทุนไหลออกมาใช้ ทำให้กรีซกำลังเผชิญหน้ากับการที่กรีซอาจต้องเข้าสู่การเป็นประเทศที่ล้มละลาย หรือออกจากยูโรโซนและนำเงินดรัคมากลับมาใช้แทนสกุลเงินยูโรหรือไม่

 ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟได้ส่งเสียงเตือนว่ากรีซกำลังเผชิญปัญหาทางการเงินครั้งใหญ่ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อความอยู่รอด ก่อนที่ประชาชนกรีซจะออกมาใช้สิทธิ์ลงประชามติตัดสินอนาคตในช่วงสุดสัปดาห์นี้

ไอเอ็มเอฟระบุว่ากรีซต้องการเงินมากถึง 50,000 ล้านยูโรในช่วง 3 ปีข้างหน้า รวมถึงเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม 36,000 ล้านยูโรจากสหภาพยุโรป ซึ่งในรายงานฉบับใหม่นี้ออกมาเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ก่อนที่กรีซจะผิดนัดชำระหนี้ ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับยุโรปที่ต้องให้ความช่วยเหลือต่อกรีซเพิ่มเติม โดยยอมรับว่าช่วงหลายเดือนมานี้ โอกาสของกรีซได้ถดถอยลงไปอย่างมาก จากการปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 0% จากเดิมที่เคยประเมินไว้ 2.5% ในเดือนเม.ย. ทำให้กรีซมีความต้องการทางการเงินเพิ่มขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่เจ้าหนี้ต้องมีการตัดหนี้สูญหรือ haircut หนี้ราว 30% หากต้องการให้เศรษฐกิจกรีซที่เติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้มากนี้ สามารถดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจได้

 อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราส และนายยานิส วารูฟาคิส รัฐมนตรีคลังของกรีซ เชื่อว่าเอเธนส์จะสามารถเจรจาจนได้เงื่อนไขที่ดีกว่าเดิมนั้นรวมถึงการผ่อนปรนหนี้ หากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงโหวต“NO” ขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณว่าจะมีการลาออกหากประชาชนโหวต “YES” ดังนั้นประชามติในวันที่ 5 ก.ค.จะชี้ชะตาทั้งวิกฤติหนี้กรีซและท้าทายยุโรปจะตกนั่งลำบากในอนาคตหรือไม่