รับมืออย่างไม่ประมาท

รับมืออย่างไม่ประมาท

วิกฤติกรีซที่พลิกผันไปแทบทุกวัน ทำให้สถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ และอาจเกิดการพลิกผันได้

 ล่าสุดรัฐมนตรีคลังกรีซกล่าวทำนองว่า รัฐบาลกรีซอาจลาออกหากประชาชนเห็นชอบ เงื่อนไขเจ้าหนี้ในการลงประชามติวันอาทิตย์ที่ 5 ก.ค. ขณะที่การสำรวจความเห็นของสื่อกรีซระบุว่าผู้มีสิทธิออกเสียง 46% ตั้งใจจะไปออกเสียง “ไม่รับ” เงื่อนไขเจ้าหนี้ ลดลงจาก 57% ในการสำรวจความเห็นก่อนหน้านี้ ส่วนผู้สนับสนุนเงื่อนไขเจ้าหนี้มีจำนวน 37% และ 17% ยังไม่ได้ตัดสินใจ

การแสดงความเห็นของรัฐมนตรีคลังกรีซมีขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีกรีซ ส่งจดหมายบอกว่าพร้อมยอมรับข้อเสนอล่าสุดของเจ้าหนี้ แม้มีเงื่อนไขบางอย่างพ่วงไปด้วยก็ตาม แต่ก็ถือเป็นการแสดงท่าทีประนีประนอม อย่างไรก็ตาม ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงต่อมาผู้นำกรีซกลับแถลงเรียกร้องให้ประชาชนอย่ายอมรับเงื่อนไขจากเจ้าหนี้ ด้วยเหตุผลว่าการคัดค้านเงื่อนไขจากเจ้าหนี้ จะทำให้กรีซมีแต้มต่อมากขึ้นในการเจรจา

การปรับเปลี่ยนท่าทีไปมา ประกอบกับปัจจัยแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนหลายประการ ทำให้รัฐมนตรีคลังยูโรโซนเห็นพ้องที่จะรอจนกว่ากรีซจัดการลงประชามติให้เสร็จสิ้นไป ก่อนกลับไปนั่งโต๊ะเจรจากันรอบใหม่ ในส่วนของเจ้าหนี้อย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ซึ่งกรีซขอเลื่อนชำระหนี้จากวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นเดือนพฤศจิกายนนั้น ปรากฎว่าไอเอ็มเอฟระบุว่าการปล่อยให้ลูกหนี้ชะลอการจ่ายเงิน เป็นการช่วยเหลือที่ไม่มีประสิทธิภาพในการทำให้ประเทศนั้นพ้นวิกฤติ พร้อมเรียกร้องให้กรีซดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจก่อนที่เจ้าหนี้จะพิจารณาเรื่องลดหย่อนหนี้ให้

ปัญหาในกรีซที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นปีในช่วงของการเจรจากับเจ้าหนี้ และก่อนหน้านี้ก็ประคับประคองเศรษฐกิจมาหลายปี ในช่วงของการปฏิรูปด้านต่างๆ นั้น หลายฝ่ายมองว่าจะไม่กระทบประเทศของตัวเองมากนัก ไม่ว่าจะเป็นบรรดาประเทศในเอเชีย อย่างจีน ญี่ปุ่น อินเดีย หรือประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึงไทยเองที่มีผู้มองว่าไม่น่าจะมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม และเสถียรภาพด้านต่างประเทศ อีกทั้งในแง่ทุนสำรองระหว่างประเทศ ไทยก็อยู่ในระดับที่จะรองรับความผันผวนจากการไหลออกของเงินทุนได้

ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นและเงินเอง ผลกระทบน่าจะมีอย่างจำกัด แม้ในช่วงแรกตลาดหุ้นหลายแห่งในโลกพากันร่วงลงไปมาก แต่หลังจากนั้นก็ดีดตัวขึ้นมาและทรงตัวอยู่ได้ ท่ามกลางการคาดหมายว่าสองฝ่ายจะหาทางออกกันได้ ประกอบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมานับจากวิกฤติหนี้และปัญหาการเงินที่หลายประเทศในยุโรปเคยเผชิญ จนสามารถหลุดพ้นมาได้ อย่างกรณีของไอร์แลนด์นั้น ยุโรปได้จัดตั้งกลไกบรรเทาและป้องกันผลกระทบทางการเงินลุกลามไปยังประเทศอื่น

กระนั้น สถานการณ์ในกรีซยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตา เพราะดังที่ระบุไว้ข้างต้นว่าอาจพลิกผันไปอย่างเหนือความคาดหมายได้ รวมถึงแม้อาจไม่กระทบโดยตรงถึงหลายประเทศ แต่ก็อาจมีผลกระทบทางอ้อม อันอาจทำให้สถานการณ์ที่เปราะบางของในบางประเทศนั้นต้องอยู่ในสภาพที่ระมัดระวังมากขึ้น ดังนั้นการคอยติดตามอย่างไม่ประมาท จึงเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้