เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นทำลาย “สังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่น”

เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นทำลาย “สังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่น”

หากใครเคยคิดว่าสังคมวัฒนธรรมญี่ปุ่นมีความเฉพาะเจาะจง ที่มีความต่อเนื่องมาโดยตลอด และความเฉพาะ/ความต่อเนื่องนี้

ส่งผลทำให้สังคมเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วงเวลาหลังสงครามโลก ก็คงจะต้องเปลี่ยนความคิดกันแล้ว นับจากรัฐบาลของนายชินโซะ อาเบะ นี้เป็นต้นไป

เพราะรัฐบาลของนายชินโซะ อาเบะ ได้เริ่มต้นทำลายสิ่งที่มีค่ามากที่สุดอย่างหนึ่งของสังคมญี่ปุ่น อันได้แก่ ทุนทางวัฒนธรรม (Culture Capital) ของญี่ปุ่น  

ผมเกือบจะไม่เชื่อสายตาตัวเองเมื่ออ่านข่าว นายชินโซะ อาเบะ กล่าวว่า “(มหาวิทยาลัย) เราควรที่จะสร้างอาชีวะศึกษาที่มีลักษณะปฏิบัตินิยมมากขึ้น เพื่อที่จะสอดคล้องไปกับความต้องการของสังคม“ (“we will conduct more practical vocational education that better anticipates the needs of society” The Japan Times) พร้อมกันนั้น รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาก็ได้ออกประกาศกระทรวงที่ใช้เงื่อนไขทางการเงินมาบังคับมหาวิทยาลัย โดยเน้นว่าจะจัดสรรงบประมาณจะให้แก่มหาวิทยาลัยที่ทำตามแผนการศึกษาใหม่ โดยต้องยกเลิก( abolish) ภาควิชาทางด้านมนุษยศาสตร์เสีย

กล่าวได้ว่าการที่รัฐบาลของนายชินโซะ อาเบะ ตัดสินใจในเรื่องนี้ เป็นผลมาจากกรอบการวิเคราะห์ที่มองจากมุมทางด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว ดังปรากฏในร่างประกาศของกระทรวงศึกษา ที่เน้นเพียงการตอบสนองทางด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และตลาดแรงงานเป็นหลักเท่านั้น

การคิดเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจเช่นนี้เกิดเข้มขึ้น หลังจากรัฐญี่ปุ่นพยายามจะแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษที่สูญหาย (Lost Decade) ความพยายามจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจนี้ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นหลงทางไปสู่การเดินตามสหรัฐอเมริกาไปอย่างน่าเสียดาย ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์แบบญี่ปุ่น ถูกแทนที่ด้วยความรู้เศรษฐมิติแบบอเมริกา กลุ่มนักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ที่แวดล้อมรัฐบาลญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่จบจากอเมริกา

อาจารย์อาคิระ สุเอฮิโร (Suehiro Akira) นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว เคยบ่นให้ฟังว่า เศรษฐมิติแบบอเมริกาใช้ประโยชน์ได้ในระยะสั้น เพราะจะถูกทำให้ “ผิด” ไปในเร็ววัน และที่สำคัญ ไม่เอื้อให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสังคม/วัฒนธรรม/คน กับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

น่าเสียดายที่รัฐบาลนายชินโซะ อาเบะ ไม่ได้รู้และไม่ได้คิดว่า โครงสร้างและกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นนั้น มีรากฐานมาจากความเข้าใจชีวิตและวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นเอง ลองคิดถึงการขยายตัวของการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ทำให้ญี่ปุ่นรุ่งโรจน์ในทศวรรษ 1960-1970 ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นผลมาจากความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่จะต้องแบ่งเบาภาระของแม่บ้าน ในช่วงเวลาที่พ่อบ้านต้องลงแรงกายและแรงในในที่ทำงาน

หากมองกว้างออกไป ก็จะพบว่าพลังทางสังคมวัฒนธรรมญี่ปุ่นหลังสงครามต่างหาก ที่ได้ผลักดันให้มนุษย์เงินเดือนของญี่ปุ่น อุทิศตนเองให้แก่บริษัทอย่างบ้าคลั่ง จนสามรถก้าวขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน (ไม่ใช่เพราะเงินเดือน/ค่าตอบแทนเท่านั้น)

เสน่ห์ของญี่ปุ่นที่ทำให้นักท่องเที่ยวต้องมาเที่ยวตลอดมา และจะเพิ่มมากขึ้นอีกก็คือ พลังทางสังคมวัฒนธรรม ไม่ใช่เพียงแค่ปราสาทหรือสถานที่สวยงามเท่านั้น สถิติอาชญากรรมที่มีน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะตำรวจญี่ปุ่นเข้มแข็งนะครับ หากแต่มาจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่กำกับชีวิตและพฤติกรรมผู้คนโดยทั่วไป

ต้องเน้นในที่นี้ว่า พลังทางสังคมวัฒนธรรมที่ค้ำยันสังคมญี่ปุ่นอยู่จนถึงวันนี้ก็คือ ความรู้ทางมนุษยศาสตร์ที่ดำเนินมาอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง

ในช่วงทศวรรษ 1970 ประเทศต่างๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนแล้วแต่เคลื่อนไหวต่อต้านสินค้า/คนญี่ปุ่น แต่ด้วยการลงทุนทางด้านมนุษยศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น จึงก่อให้เกิดความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งทำให้คนในประเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่รู้สึกว่าญี่ปุ่นเป็นเพื่อน

การประกาศให้มหาวิทยาลัยละทิ้งการศึกษามนุษยศาสตร์ ด้วยการใช้เงื่อนไขงบประมาณเช่นนี้  น่าจะประสบผลสำเร็จ เพราะหลังจากที่มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นออกนอกระบบราชการแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องอ่อนข้อให้แก่รัฐมากขึ้น ในขณะเดียวกัน งบประมาณจากรัฐจะถูกกำหนดได้ตามอำเภอใจของรัฐบาลมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่เราจะพบเห็นแน่ๆ ก็คือ มหาวิทยาลัยต่างๆ จะยุบทิ้งการศึกษาทางด้านมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยใหญ่หน่อย มีแรงต่อรองมากหน่อย ก็อาจจะค่อยๆ ยุบไปทีละส่วน แต่มหาวิทยาลัยเล็กๆ ก็คงจะยุบไปเลย

นโยบายการศึกษาของรัฐบาลนี้ จึงเป็นการทำลายสังคมญี่ปุ่นที่รากฐานกันเลยทีเดียว 

กล่าวได้ว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 1970 พนักงานและคนญี่ปุ่นรู้สึกว่าตนเองถูกบริษัทหักหลัง  เพราะถูกให้ออก และการจ้างงานก็กลายมาเป็นคนงาน ตามแบบสัญญาการทำงานที่ไม่ยาวนาน (Haken) แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปนี้ ก็คือ การหักหลังคนทั้งหมดในสังคมญี่ปุ่น โดยรัฐบาลนายชินโซะ อาเบะ

ผมไม่รู้เหมือนกันว่าพลังทางมนุษยศาสตร์ที่ก่อกำเนิดงานวรรณกรรม งานภาพยนตร์ งานศิลป์ ฯลฯ จะอยู่รอดได้อย่างไรภายใต้รัฐบาลที่สายตาสั้นเช่นนี้ และที่น่าตกใจก็คือ รัฐบาลพรรคนี้ก็คงอยู่ไปอีกนานแสนนาน แม้ผมไม่คิดว่าคนญี่ปุ่นผู้มิสิทธิเลือกตั้งจะชอบใจกับรัฐบาลพรรคนี้ แต่ก็น่าเสียดายที่พรรคฝ่ายค้านมีโอกาสเป็นรัฐบาล ก็ไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยน/ผลักดันระบบราชการ ให้ทำงานตามนโยบายของตนได้

ผมอยากจะเปรียบเทียบว่า ครั้งหนึ่งสังคมไทยก็มีความแข็งแกร่งทางสังคมวัฒนธรรม เช่นเดียวกับญี่ปุ่น แต่ความรู้มนุษยศาสตร์ของเราถูกทำให้ “อ่อนแอ” จึงทำให้เราเผชิญกับปัญหาที่เราไม่รู้ จึงทำให้แก้ไขอะไรไม่ได้ ต้องรัฐประหารกันเรื่อยมา ซึ่งก็ทำให้เละมากขึ้น (ฮา)

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นการมองจากคนที่รู้สึกว่าเป็นเพื่อนกับสังคมญี่ปุ่น ไม่อยากให้สังคมญี่ปุ่นเคลื่อนไปสู่ความเสื่อมสลาย (ผมมองโลกในแง่ร้ายนะครับว่า) เพราะจากนี้ต่อไป ผมเชื่อว่าสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นจะอ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ และจะก่อปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย เกินกว่าจะจินตนาการ