จับตา “ทวาย” ใต้ปีกรัฐบาล 3 ชาติ

จับตา “ทวาย” ใต้ปีกรัฐบาล 3 ชาติ

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 ได้นำคณะรัฐมนตรี ลงพื้นที่เปิดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งที่ประชุมครม.สัญจรครั้งนี้ มีมติเห็นชอบร่างบันทึกแสดงเจตจำนง(เอ็มโอไอ) 3 ฝ่ายระหว่าง รัฐบาลไทย เมียนมาร์ และญี่ปุ่น โดยเป็นเอ็มโอไอว่าด้วยความร่วมมือ ในการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ของเมียนมาร์

ผลจากที่ประชุมดังกล่าว ครม.ได้มอบหมายให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เป็นผู้ลงนาม ในสัญญาเอ็มโอไอ ร่วมกับทางพม่าและญี่ปุ่น ส่วนรัฐบาลเมียนมาร์ ได้มอบหมายให้นายฮั่ง เส่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงขนส่งของเมียนมาร์ เป็นผู้ลงนาม ขณะที่ผู้แทนของญี่ปุ่น ยังรอการมอบหมายจากรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ

เอ็มโอไอฉบับนี้ จะมีขึ้นในระหว่างการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างวันที่ 3-4 ก.ค.นี้ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะไปเป็นสักขีพยานในการลงนามในครั้งนี้ด้วย

ความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในข้อตกลงครั้งนี้ ดูน่าจะเป็นข่าวดีสำหรับหลายคนที่รอความชัดเจนโครงการพัฒนาทวาย ซึ่งตั้งลำมาแล้วหลายรอบ แต่ก็ไม่อาจก้าวย่างคืบหน้าไปกว่าจุดเดิม เอกชนที่เกี่ยวข้องเริ่มท้อกับความไม่แน่นอน และไม่ชัดเจน ในความร่วมมือที่ผ่านมา แต่ภายใต้รัฐบาลชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อประกาศเดินหน้าแล้ว หวังว่าจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ได้ไม่ยาก

รายละเอียดเบื้องต้น เอ็มโอไอล่าสุด หรือบันทึกแสดงเจตจำนงร่วมกันพัฒนาฉบับนี้ จะมีผลในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ลงนาม หลังจากนั้นจะต่ออายุอีกครั้งละ 5 ปี เว้นแต่ประเทศหนึ่งประเทศใด แจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรแก่อีกสองประเทศ ซึ่งต้องทำล่วงหน้า 6 เดือน

การลงนามในเอ็มโอไอฉบับนี้ ยังมีผลให้ญี่ปุ่น เข้ามามีบทบาทในการศึกษาการพัฒนาโครงการทวาย ในระยะสมบูรณ์อย่างเต็มรูปแบบ โดยทั้ง 3 ประเทศ แสดงเจตจำนงที่จะศึกษาในรายละเอียดของแผนแม่บทการพัฒนาโครงการทวาย โดยการศึกษาเทคนิคที่จำเป็น การออกแบบทางวิศวกรรม และแผนการพัฒนาโดยละเอียด ภายใต้กรอบระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้การดำเนินโครงการ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยรัฐบาลไทย และรัฐบาลเมียนมาร์ ยินดีให้รัฐบาลญี่ปุ่น เข้าร่วมลงทุนใน บริษัท ทวาย เอส อี แซด ดีวีลล็อปเมนต์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ(เอสพีวี) ผ่านทางหน่วยงานญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (IBIC) และ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA)

หวังว่าโครงการความร่วมมือพัฒนาทวาย ในนามรัฐบาลครั้งนี้ จะเดินหน้าต่อเนื่องได้อย่างรวดเร็ว ไม่เหมือนเมื่อครั้ง โครงการทวายเริ่มต้นจากการลงนามระหว่างรัฐบาลพม่า และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเม้นต์ ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งล้มไปอย่างเงียบๆ จากหลายปัจจัย

มารอบนี้ เมื่อรัฐบาลลงมาเล่นเอง โครงการก็ควรเดินหน้าโดยไม่มีข้อจำกัด หรืออย่างน้อย ก็ไม่ต้องสะดุดกับคำว่า โครงการนี้ตกเป็นผลประโยชน์แก่เอกชนรายใดรายหนึ่ง คงต้องรอติดตามกันว่า การลงนามเอ็มโอไอร่มพัฒนาทวาย ระหว่าง 3 ประเทศ ไทย เมียนมาร์ และญี่ปุ่น จะเกิดขึ้นในเวทีการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 ที่กรุงโตเกียว วันที่ 3-4 ก.ค.นี้ ได้หรือไม่ หลังลงนามแล้วจะมีรายละเอียด ความร่วมมือใดๆ ออกมาเป็นรูปธรรมได้บ้าง