จับเข่าแลกเปลี่ยนมุมมอง กับท่านทูตจากแดนมังกร

จับเข่าแลกเปลี่ยนมุมมอง  กับท่านทูตจากแดนมังกร

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ท่านเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย “หนิงฟู่ขุย” (宁赋魁) เชิญบรรณาธิการ และผู้บริหารเครือเนชั่นไปกินข้าว

และตั้งวงสนทนาอย่างเป็นกันเอง ว่าด้วยบทบาทของจีน และความสัมพันธ์กับไทย กับสถานการณ์ระหว่างประเทศในย่านเอเชียอย่างกว้างขวางได้สาระอย่างดียิ่ง

ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย เส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล (One Belt, One Road) ของจีน หรือการตั้งธนาคารเพื่อส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) ตลอดถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ที่ครบรอบการลงนามฟื้นสัมพันธ์ทางการทูตครบ 40 ปีในปีนี้ ล้วนเป็นหัวข้อที่มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา

ท่านทูตหนิงชอบคำภาษาไทย ตรงไปตรงมา ถามล่ามถึงความหมายของคำนี้หลายรอบ และย้ำกับเราว่าท่านต้องการให้การสื่อสารระหว่างเราเป็นไปอย่าง “ตรงไปตรงมา” จริง ๆ

ท่านทูตยืนยันว่าการเติบใหญ่ของจีนด้านเศรษฐกิจและด้านอื่น ๆ นั้น ก็เพื่อสร้างความผาสุกให้กับประชาชนคนจีน และที่สำคัญคือจะต้องสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้ด้วย

“ผมยืนยันว่าจีนไม่มีนโยบายรุกรานใคร จีนต้องการจะพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้าน เพราะเราไม่สามารถพัฒนาได้หากเพื่อนบ้านเราไม่พัฒนาด้วย จีนจึงมีนโยบายที่จะช่วยเพื่อนบ้านในการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานผ่านธนาคาร AIIB และกองทุนทางสายไหมด้วย....”

แน่นอนว่าประเด็นเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับสมาชิกอาเซียนบางประเทศเป็นคำถามที่ต้องซักถามจุดยืนของปักกิ่งจากท่านทูต

ท่านบอกว่าจีนต้องการแก้ไขความขัดแย้งในทะเลจีนใต้แน่นอน เพราะเส้นทางขนส่งทางน้ำผ่านทะเลจีนใต้มีความสำคัญต่อจีนไม่น้อย

“ร้อยละ 80 ของน้ำมันและปิโตรเลียมของจีนต้องขนส่งผ่านเส้นทางนี้ เราจึงไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งในแถบนี้แน่นอน....”

ท่านบอกว่าการถมทรายในเกาะแก่งทะเลจีนใต้ เป็นการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจีนและเพื่อการวิจัยทางทะเล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่น ๆ ในแถบนี้

ผมเรียนท่านทูตว่าไทยเราไม่ได้เป็นคู่กรณีในข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ และไทยก็เป็น ผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับจีน ในขณะนี้ด้วย ผมจึงอยากเห็นไทยเรามีบทบาทของการสร้างความเข้าใจระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้คึกคักกว่าที่ผ่านมา

โครงการสร้างทางรถไฟความเร็วปานกลางของจีนในไทย ใกล้จะได้เห็นผลการศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) เดือนสิงหาคมนี้เมื่อผลออกมาแล้ว ฝ่ายไทยกับจีนก็จะมาตกลงกันว่าจะใช้รูปแบบการลงทุนอย่างไร ท่านทูตบอกว่าจีนพร้อมจะพิจารณาการลงทุนทุกรูปแบบที่ประเทศไทยจะเสนอ

เพราะการสร้างทางรถไฟในไทยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง เส้นทางสายไหมยุคใหม่ ที่จีนต้องการจะเชื่อมเส้นทางคมนาคมจากจีนผ่านอาเซียนไปส่วนอื่น ๆ ของโลก

“ใครที่วิจารณ์ว่าจีนไม่พร้อมจะควักกระเป๋าลงทุนสร้างทางรถไฟในไทยแสดงว่าไม่เข้าใจเรื่องนี้จริง ๆ” ท่านทูตหนิงบอกเรา

นักท่องเที่ยวจีนมาไทยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ท่านทูตบอกว่าในสามเดือนแรกของปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น 100%

ปีที่แล้ว นักท่องเที่ยวจีนมาไทยทั้งหมดกว่า 4 ล้านคน ปีนี้น่าจะเกิน 5 ล้านคน

แน่นอนว่าเมื่อจำนวนผู้มาเยือนมากขนาดนี้ ก็ต้องมีปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวบางคนบางกลุ่ม หรือกรณีขาดแคลนมัคคุเทศก์ไทยที่พูดภาษาจีนได้ รวมไปถึงบริษัททัวร์บางแห่งที่ต้มตุ๋น, ฉ้อฉล, บังคับให้นักท่องเที่ยวจีนต้องซื้อของจากร้านรวงบางแห่ง

ขอความเข้าใจจากคนไทยและสื่อไทยด้วยว่า การที่มีนักท่องเที่ยวจีนบางคนบางกลุ่มแสดงมารยาทที่ไม่ดีไม่งามนั้น เป็นเพียงส่วนน้อยนิด อย่าเข้าใจว่าคนจีนทั้งหมดเป็นเช่นนี้ เพราะเราเชื่อว่าการท่องเที่ยวจะช่วยเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ไม่น้อย... ท่านทูตบอกเรา

ผมขอบคุณที่ท่านทูตเปิดกว้างสำหรับการแลกเปลี่ยนความเห็น เพราะในฐานะ พี่ใหญ่ จีนที่กำลังผงาดขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจ ย่อมจะต้องถูกจับตาและวิพากษ์วิจารณ์ในหลาย ๆ ด้าน จึงหวังว่าท่านจะรับฟังความเห็นจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายอย่างเปิดใจและ “ตรงไปตรงมา” ด้วย

ท่านยืนยันว่าจะรับฟังความเห็นทุกด้านอันจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันให้ลุ่มลึกมากขึ้น

“จีนอาจจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก แต่ตัวเลขธนาคารโลกบอกว่าในแง่รายได้ต่อหัวแล้ว จีนอยู่อันดับที่ 80 ของโลก เราจึงต้องเข้าใจถึงความขัดแย้งอยู่ในตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจจีน...”

ท่านทูตหนิงฟู่ขุยพูดคุยด้วยอารมณ์ขันเป็นกันเองและตอบเกือบทุกคำถาม ทิ้งท้ายด้วยการบอกเราว่า

“ผมขอให้สื่อไทยฟังข่าวสารและความเห็นของเราด้วย อย่าฟังแต่สื่อตะวันตกเท่านั้น...”

เรายืนยันว่าในฐานะสื่อวิชาชีพก็พร้อมจะรับฟังข้อมูลข่าวสารของทุกฝ่าย เพื่อนำเสนอต่อสาธารณชนอย่างตรงไปตรงมาจากทุกแง่มุมของข่าวสาร หากทุกฝ่ายเปิดประตูและหน้าต่างแห่งข่าวสารอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องเท่านั้น