INDC ภารกิจต่อไป บนเส้นทางลดโลกร้อน

INDC ภารกิจต่อไป บนเส้นทางลดโลกร้อน

เข้มข้นเข้ามาทุกขณะก่อนเปิดฉากเวทีเจรจาระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศครั้งที่ 21 (COP21)

 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-12 ธันวาคม 2015 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อหาข้อสรุปของการตกลงด้านโลกร้อนในฉบับใหม่ ช่วงหลังปี ค.ศ.2020 นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ซึ่งจะมีผลผูกพันทางกฎหมายกับประเทศสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกด้วย

ย้อนกลับไปดูสาระจากข้อเสนอเดอร์บัน (Durban Platform 2011) มติจากการประชุม COP17 ที่ ประเทศแอฟริกาใต้ ส่งผลให้มีการจัดทำกรอบความตกลงฉบับใหม่มาใช้ หลังจากที่พิธีสารเกียวโตช่วงที่ 2 (2012-2020) จะสิ้นสุดลง โดยข้อสรุปจากการประชุม COP19 ในอีก 2 ปีต่อมา ได้เดินไปสู่การเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศ เสนอเป้าหมายการดำเนินงานของประเทศในระดับมุ่งมั่น หรือที่เรียกว่า Intended Nationally Determined Contribution (INDC) ต่อสหประชาชาติ ก่อนจะถึงเวทีเจรจาปลายปีนี้ แทนตัวเลขข้อผูกมัด (Pledge) เดิมที่ใช้เฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วก่อนปี 2020

เป้าหมาย INDC ยังคงอยู่บนโจทย์ของการแก้ปัญหาและรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศา และการสร้างความเป็นธรรม (Ambition and Equity) โดยมุ่งเน้นไปที่การดำเนินงานใน 3 ด้าน คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Adaptation) และการสร้างเครื่องมือกลไกไปสู่การปฏิบัติ (Means of Implementation: MOI) ที่จะทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสนับสนุนทางการเงิน และการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรจากประเทศพัฒนาแล้วสู่ประเทศกำลังพัฒนาได้

แต่จนถึงตอนนี้มีประเทศสมาชิกส่งเป้าหมาย INDC เพียง 11 ประเทศ กับอีก 1 กลุ่มประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ ลัตเวียร่วมกับสหภาพยุโรป นอร์เวย์ เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา กาบอง รัสเซีย อันดอร์รา แคนาดา โมร็อกโค และเอธิโอเปีย โดยมี 6 ประเทศและสหภาพยุโรป ส่งเฉพาะเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 5 ประเทศที่เหลือเป็นการส่งทั้งในส่วนเป้าการลดการปล่อยก๊าซ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ตัวอย่างจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศปล่อยก๊าซมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ในปีนี้ INDC ของอเมริกายังยืนยันเจตจำนงเดิม ที่ได้ประกาศจุดยืนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่ระดับตัวเลขการลดการปล่อยก๊าซร้อยละ 26-28 ในปี 2025 จากระดับปีฐาน 2005 ซึ่งในการที่ไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ จำเป็นที่ต้องใส่ความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซจากสาขาต่างๆ โดยเฉพาะภาคการผลิตพลังงานและคมนาคมขนส่งให้มากขึ้น

ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาที่ส่งการบ้านเป็นประเทศแรก และกำลังถูกจับตามองอย่างยิ่ง คือ เม็กซิโก ผลต่อเนื่องมาจากเวที COP18 ที่เม็กซิโกเป็นเจ้าภาพได้เคยประกาศเป้าหมายการลดก๊าซแบบสมัครใจที่ร้อยละ 30 ในปี 2030 และร้อยละ 50 ในปี 2050 จากระดับการปล่อยในปีฐาน 2000 ส่งผลให้มีการดำเนินนโยบายภายในประเทศอย่างเข้มข้นนั้น ได้เสนอเป้าหมาย INDC ในรอบนี้ที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 22 และการลดการปล่อยเขม่าจากการเผาไหม้ต่างๆ (Black Carbon) ร้อยละ 51 ในปี 2030 จากระดับการปล่อยตามปกติ (BAU)ยิ่งหากได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ เม็กซิโกประกาศจะทำการลดการปล่อยก๊าซร้อยละ 36 และการลดการปล่อยเขม่าคาร์บอนถึงร้อยละ 70 ในปี 2030

จุดเด่นอีกด้านของ INDC ที่เม็กซิโกเสนอ คือ การเสนอเป้าหมายการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระหว่างปี 2020-2030 ในด้านต่างๆ เช่น การปรับตัวของภาคสังคมในมิติความมั่งคงทางอาหาร ลดความเสี่ยงด้านต่างๆ ต่อกลุ่มที่เปราะบางต่อการได้รับผลกระทบอย่างชาติพันธุ์พื้นเมือง ผู้หญิงและเด็ก การจัดทำระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม ต่อการตั้งถิ่นฐานและการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มิติด้านระบบนิเวศน์ ได้แสดงจุดยืนที่สำคัญ คือ การลดการทำลายป่าถึงร้อยละ 0 ในปี 2030 (ย่อมหมายถึงว่าพื้นที่ป่าไม้จะไม่ลดลงอีกต่อไป) ทั้งนี้ ประเทศเม็กซิโกยังได้ย้ำถึงความจำเป็นที่จะได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศในการเพิ่มศักยภาพ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อทำให้บรรลุเป้าสูงสุดที่ได้ตั้งไว้ เรียกได้ว่าเป็นเป้าหมาย INDC ที่แสดงจุดยืนและความต้องการของประเทศได้อย่างชัดเจนทีเดียว

แล้วประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องนี้ไว้อย่างไร

ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ในช่วงเตรียมการและจัดทำร่าง INDC ของประเทศ ซึ่งไทยจะส่งเป้าหมายทั้งในส่วนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และได้เปิดให้มีการรับฟังความเห็นเบื้องต้น จากหน่วยงานกำหนดนโยบายและระดับปฏิบัติการไปแล้ว ซึ่งร่าง INDC ด้านการลดการปล่อยก๊าซอยู่ที่ร้อยละ 12-29 ในปี 2030 จากระดับปีฐานการปล่อยปกติ (BAU) เป็นการดำเนินงานในภาคพลังงาน ส่วนเป้าด้านการปรับตัว (อยู่ในระหว่างการปรับแก้ไขร่าง) จะให้ความสำคัญต่อการปรับตัวในรายสาขาที่มีความสำคัญ เช่น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการนำเครื่องมือกลไกต่างๆ เข้ามาบริหารจัดการความเสี่ยงต่อกลุ่มที่เปราะบางต่อการปรับตัว เช่น ระบบการเตือนภัยล่วงหน้า การจัดการน้ำอย่างบูรณาการ และคาดว่าไทยจะสามารถส่งฝ่ายเลขาธิการสหประชาชาติ ภายในเดือนสิงหาคมนี้

คงต้องจับตาดูเวทีเจรจาปลายปีนี้อย่างใกล้ชิดว่าการเยียวยารักษาโลกใบนี้จะสำเร็จมรรคผลหรือไม่

----------------

รัตนาภรณ์ อาณาประโยชน์

ผู้ช่วยผู้ประสานงานชุดโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สกว.