จุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญทางเศรษฐกิจของเอเชีย

จุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญทางเศรษฐกิจของเอเชีย

ผมเชื่อว่าภายในปลายปีนี้ภูมิภาคเอเชียจะเดินไปสู่จุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญทางเศรษฐกิจ

โดยจะมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือจะเดินตามแนวของจีนหรือเดินตามแนวทางของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

ในส่วนของจีนนั้น หากลองกูเกิล “China’s new silk road” ก็คงจะได้เห็นแผนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของจีนที่กำหนดให้จีนเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายการขนส่งทางถนน รถไฟ เดินเรือและเดินอากาศ ที่โยงใยเอเชีย แอฟริกาและยุโรปเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ โดยจีนกำลังขับเคลื่อนธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย (Asia Infrastructure Investment Bank) ซึ่งมีประเทศลงนามเป็นผู้ก่อตั้งมากกว่า 50 ประเทศ รวมถึงประเทศในยุโรปตลอดจนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ด้วย

โดยการประชุมเตรียมการที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงในสิงคโปร์ได้วางแผนว่า AIIB จะเริ่มดำเนินการปล่อยกู้ให้ประเทศต่างๆ ได้ในปีหน้าเป็นต้นไป ทั้งนี้ จีนได้เพียรพยายามให้ AIIB เป็นองค์กรที่มีความคล่องตัว (ไม่มีขั้นตอนมาก) และไม่ถูกครอบหรือชี้นำโดยประเทศมหาอำนาจ เช่น ไอเอ็มเอฟ (ยุโรป) ธนาคารโลก (สหรัฐ) หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ญี่ปุ่น) แต่จีนก็จะเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่า 25% เพื่อมีอำนาจในการยับยั้งการตัดสินใจ (veto) ในเรื่องที่สำคัญๆ

กล่าวโดยสรุปคือ แนวทางของจีนคือการรวมตัวทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างความเชื่อมโยงโดยเครือข่ายที่เป็นถนนรถไฟ การเดินเรือและการเดินอากาศบนพื้นแผ่นดินที่เชื่อมต่อกันระหว่างยุโรป แอฟริกาและเอเชีย กล่าวคือหากจีนทำสำเร็จ เราอาจจะได้นั่งรถไฟจากกรุงเทพฯถึงกรุงปารีส ผ่านกรุงปักกิ่งก็เป็นได้

เมื่อเห็นความมุ่งมั่นของจีนผมเชื่อว่าการไปเยือนสหรัฐอเมริกา ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจึงเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญ โดยในการเดินทางไปเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคมนั้น นายกอาเบะได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ โดยได้มีโอกาสไปกล่าวสุนทรพจน์ต่อการประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนและวุฒิสภาของสหรัฐ ซึ่งเป็นครั้งแรกสำหรับผู้นำญี่ปุ่น แต่ที่สำคัญคือการรีบเร่งเจรจาการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่น ซึ่งมีท่าทีว่าจะใกล้ประสบผลสำเร็จ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากทางเศรษฐกิจการเมืองสำหรับทั้ง 2 ผู้นำเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ญี่ปุ่นถูกกดดันให้ยอมเปิดตลาดภาคเกษตร (รวมทั้งข้าว) และภาคบริการ ในขณะที่สหรัฐต้องยอมเปิดตลาดรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลดภาษีนำเข้ารถยนต์ปิกอัพจากญี่ปุ่น เป็นต้น

แต่การเจรจาเขตการค้าเสรีดังกล่าวนั้นยังบรรลุผลไม่ได้ ตราบใดที่ประธานาธิบดีโอบามาไม่สามารถมีอำนาจเจรจาการค้าแบบ Fast track ได้ กล่าวคือประธานาธิบดีสหรัฐนั้น มีอำนาจเจรจาเปิดตลาดกับต่างประเทศอยู่แล้ว แต่เมื่อเจรจาได้ข้อตกลงมาแล้วก็จะต้องนำเข้าสู่การให้ความเห็นชอบของสภาทั้งสองเหมือนกับกฎหมายทั่วไป แต่ในกรณีดังกล่าวข้อตกลงที่ประธานาธิบดีจัดทำมาแล้ว โดยการเจรจาด้วยความยากลำบาก ก็จะสามารถถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยคณะกรรมการของสภาที่เกี่ยวข้อง ทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐในทางกฎหมาย แม้มีอำนาจเจรจาทำข้อตกลงทางการค้า แต่ในทางปฏิบัติแล้วจะไม่สามารถเจรจาอะไรกับประเทศคู่ค้าได้เลย หากไม่มีการออกกฎหมายที่เรียกว่า Fast track Authority ซึ่งกำหนดว่าเมื่อประธานาธิบดีจัดทำข้อตกลงทางการค้ากับต่างประเทศแล้ว ก็จะเสนอให้สภาลงคะแนนให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ แต่จะไม่สามารถแก้ไขข้อตกลงดังกล่าวได้

ดังนั้น ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโอบามาจึงได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะโน้มน้าวให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรผ่านกฎหมาย Trade Promotion Authority หรือ TPA ซึ่งจะให้อำนาจ Fast track กับประธานาธิบดีไปอีก 3 ปี ทั้งนี้ จะเป็นประโยชน์กับผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปลายปี 2016 เป็นต้นไปอีกด้วย

หากประธานาธิบดีโอบามาไม่สามารถโน้มน้าวให้รัฐสภาสหรัฐผ่านกฎหมาย TPA ออกมาได้ภายในปลายปีนี้ ก็ยากที่จะทำให้ผ่านกฎหมายดังกล่าวในปี 2016 เพราะสหรัฐจะเข้าสู่กระบวนการหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้กิจกรรมของภาครัฐ (ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และรัฐบาลท้องถิ่น) กลายเป็นเรื่องของการเมืองระหว่างพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกันเป็นหลัก จะไม่สามารถผ่านกฎหมาย TPA ที่จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างสองพรรคการเมืองได้ ซึ่งผมได้เขียนให้เห็นถึงความแตกแยกและการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายของกลุ่มที่สนับสนุนการค้าเสรี และกลุ่มที่ต่อต้านข้อตกลงเปิดตลาดเสรี ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีโอบามาต้องพึ่งพาเสียงของพรรครีพับลิกันเป็นหลัก เพื่อผ่านกฎหมาย TPA

ผมขอกล่าวถึงความสำคัญของ TPA ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้สหรัฐ ญี่ปุ่น สามารถเจรจาทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกัน ที่ยังคั่งค้างกันอยู่ในขณะนี้ให้เสร็จสิ้นลงไปได้โดยเร็ว (เพราะเมื่อญี่ปุ่นเห็นว่าประธานาธิบดีโอบามามีอำนาจ Fast track ก็จะมั่นใจได้ว่าสิ่งที่เจรจาตกลงไปจะไม่เปล่าประโยชน์) และเมื่อสำเร็จแล้ว ข้อตกลงสหรัฐ-ญี่ปุ่น ก็น่าจะเป็นกรอบของการเจรจากับประเทศสมาชิก Trans-Pacific Partnership (TPP) อีก 10 ประเทศ ซึ่งรวมประเทศหลักๆ ที่อยู่ขอบซ้ายและขอบขวาของมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งหมด โดย TPP นั้น มีขนาดจีดีพีและมูลค่าการค้าประมาณ 40% ของจีดีพี และการค้าของโลก ตรงนี้จะทำให้เห็นได้ว่า เป็นยุทธศาสตร์เพื่อรวมตัวเศรษฐกิจของฟากซ้ายและฟากขวาของมหาสมุทรแปซิฟิก ให้เป็นศูนย์กลางหลักของเศรษฐกิจโลก แตกต่างจากยุทธศาสตร์ New Silk Road ของจีนที่มุ่งจะทำให้จีนเป็นจุดศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก

จะเห็นได้ว่าการให้ได้มาซึ่ง TPA จะเป็นบันไดไปสู่การทำข้อตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่น และการเกิดขึ้นของเขตการค้าเสรีสำหรับประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยอเมริกาจะเป็นจ่าฝูง ทั้งนี้ ประเทศหลักที่ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก TPP คือจีน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และไทย แต่สำหรับอินโดนีเซียนั้น หากเข้าร่วมก็คงไม่มีปัญหา ส่วนเกาหลีใต้จะสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่ยาก เพราะได้ทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหรัฐไปก่อนหน้าแล้ว สำหรับจีนก็คงเป็นเรื่องที่จะสูญเสียโอกาสที่จะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในภูมิภาคให้กับสหรัฐและญี่ปุ่น

ดังนั้น การให้ได้มาซึ่ง TPA ของประธานาธิบดีโอบามา จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งสำหรับนโยบาย Asia pivot (การหักเหมาสู่เอเชีย) ของประธานาธิบดีโอบามา และหากสามารถจัดทำข้อตกลง TPP ได้สำเร็จ ก็จะเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายที่สำคัญสำหรับประธานาธิบดีโอบามาก่อนจะอำลาตำแหน่ง ดังนั้น ประธานาธิบดีโอบามาจึงกล่าวกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย TPA ว่า หากไม่มี TPA จีนก็จะเป็นผู้ “เขียนกฎ” (write the rules) และธุรกิจสหรัฐก็จะถูกกันออกจากเอเชียและการลงคะแนนเสียงคัดค้าน TPA “is a vote against me”