ทำไมเราจึงไม่เชื่อมั่นในตัวนักการเมือง?

ทำไมเราจึงไม่เชื่อมั่นในตัวนักการเมือง?

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐอยู่ในความสนใจของผู้คนจำนวนมาก

และยังถูกใช้เป็นเหตุผลในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทยหลายครั้ง ตั้งแต่การชุมนุมประท้วงที่นำไปสู่การทำรัฐประหารครั้งล่าสุด การเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” โดยประชาชนบางกลุ่มยังมีเป้าหมายหลัก คือ การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในหมู่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จนนำไปสู่การปฏิเสธการเลือกตั้งโดยคนกลุ่มดังกล่าว

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าหนึ่งในปัญหาของตามระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยก็คือ การขาดความเชื่อมั่น (trust) ในตัวนักการเมืองและพรรคการเมือง ว่าจะสามารถบริหารประเทศโดยปราศจากคอร์รัปชัน นักการเมืองและพรรคการเมืองที่จะกลายเป็นรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย ถูกมองว่าจะต้องใช้อำนาจที่มีอยู่ไปกระทำการทุจริตอย่างแน่นอน 

อย่างไรก็ดี ทางแก้ที่ภาครัฐและกลุ่มองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ หรือ NGOs ที่มีบทบาทในการต่อต้านคอร์รัปชันในไทยส่วนมากเน้นใช้ก็คือ การรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้คนในสังคมมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกง และต้องเลือกคนที่ไม่โกงเข้าไปเป็นรัฐบาลด้วย (ซึ่งก็น่าสังเกตว่า หลายโครงการรณรงค์เลือกใช้คำว่า “คนไม่โกง” มากกว่า “นักการเมืองที่ไม่โกง” ราวกับว่านักการเมืองที่ไม่โกงนี่ไม่มีอยู่จริง)

การที่คนส่วนหนึ่งในสังคมไทยไม่เชื่อมั่นในตัวนักการเมืองก็ไม่น่าแปลกใจนัก แนวคิดทางประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง นักการเมือง และการเลือกตั้งเอง ล้วนเป็นของใหม่สำหรับคนไทยที่เอามาใช้ยังไม่ถึงร้อยปีด้วยซ้ำ แถมยังถูกคั่นด้วยรัฐประหารจนหายไปจากเวทีการเมืองหลายครั้ง สิ่งใหม่เหล่านี้ถูกนำมาใส่ในสังคมที่มีการปกครองแบบอำนาจเบ็ดเสร็จ (Absolute power) มาเป็นเวลานานกว่าหลายเท่าตัว จึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะมีข้อกังขาในตัวพรรคการเมืองและนักการเมือง จนไม่สามารถเชื่อมั่นในคนและสถาบันใหม่นี้ได้ และหากดูพัฒนาการของประเทศอื่นที่มีระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งแล้ว คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าเราจะสามารถมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งเช่นนั้นได้

ผู้เขียนไม่ได้ต้องการจะบอกว่า การรณรงค์ปลูกฝังค่านิยมไม่คดโกงให้แก่คนในสังคมจะไม่เกิดผล ตรงกันข้ามกลับเห็นด้วยว่าควรจะมี แม้ผู้เขียนจะยังไม่แน่ใจว่า คนไม่โกงนี่ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาเหล่านี้เป็นคนไม่โกง อย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็พอจะเข้าใจว่าการณรงค์ศีลธรรมและจริยธรรมนี้ เป็นความพยายามในการคัดกรองคนที่จะเข้าไปเป็นผู้แทนฯในสภา และกลายไปเป็นรัฐบาลในที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญแน่นอน

แต่เลือกคนดีเข้าไปในสภาแล้วยังไงต่อ? ในเมื่อกระบวนการทุจริตเริ่มขึ้นภายหลังคนเหล่านี้เป็นรัฐบาลแล้ว คือมีอำนาจแล้วจึงจะทุจริตไม่ใช่หรือ? แล้วปัจจุบันเรามีเครื่องมืออะไรบ้างที่จะทำให้เราเชื่อมั่นว่า คนดีที่ไม่โกงของเรานี้ เมื่อกลายเป็นนักการเมืองที่มีอำนาจ จะสามารถครองตัวอยู่ในศีลธรรมอันดี ไม่ข้องเกี่ยวกับคอร์รัปชันเลยตลอดวาระดำรงตำแหน่ง และพรรคการเมืองที่เราเลือกเข้าไปจะไม่กลายเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์? ดังนั้น สิ่งที่เราต้องการนอกจากคนดีที่ไม่โกงก็คือ การตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองและพรรคการเมือง

ประเด็นเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนี้ ก็เป็นของใหม่ในสังคมไทยเช่นกัน สังคมไทยเราคุ้นเคยกับอำนาจเบ็ดเสร็จมาเป็นเวลานาน แถมการพัฒนาประชาธิปไตยที่ผ่านมา ยังเป็นประเด็นรองจากความมั่นคงและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลจากสงครามเย็น และการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น จากการเปิดเสรีในหลายประเทศ นอกจากนี้ การที่ประชาธิปไตยถูกแทรกแซงหลายครั้ง ยังทำให้แนวคิดทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของไทย ได้รับอิทธิพลการใช้อำนาจแบบทหาร ที่สั่งการจากบนลงล่าง โดยที่ด้านล่างไม่สามารถตั้งคำถามหรือตรวจสอบด้านบน ซึ่งมีอำนาจเหนือกว่านั้นได้เลย เวลาที่เกิดปัญหาจากการใช้อำนาจของรัฐบาล นักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐ สิ่งที่คนไทยทำกันมานานจนติดเป็นนิสัยคือ ไปฟ้องคนที่มีอำนาจเหมือนกันหรือมากกว่าให้จัดการคู่กรณี  ไม่ว่าจะถูกกฎหมายอย่างตำรวจ หรือ ปปช.หรือนอกกฎหมาย เช่น เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลก็ตาม จนถึงปัจจุบันก็ยังมีการยื่นถวายฎีการ้องเรียนปัญหาอยู่เลย โดยที่เราลืมไปว่า โดยหลักของประชาธิปไตยแล้ว ประชาชนคือผู้มีอำนาจสูงกว่ารัฐบาล เนื่องจากเป็นคนที่เลือกนักการเมืองเข้าไปเป็นรัฐบาล และจึงควรเป็นผู้ที่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้

ดังนั้น สิ่งที่เราควรปฏิรูปก่อนเลือกตั้งนี้ จึงต้องรวมถึงการติดตั้งเครื่องมือในการตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองและรัฐบาลด้วย ปัจจัยสำคัญที่จะขาดไม่ได้คือ ข้อมูลของรัฐ เช่น ข้อมูลการใช้และร่างงบประมาณ การบริหารนโยบายและโครงการ และการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น และต้องเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ในภายในระยะเวลาที่จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด เช่น ช่วงก่อนที่จะตัดสินนโยบายสำคัญที่ต้องใช้งบประมาณสูง ไม่ใช่มาเปิดตอนที่ดำเนินนโยบายไปแล้ว หรือตนพ้นความรับผิดชอบแล้ว แต่ต้องบังคับให้รัฐจัดทำและบันทึกข้อมูลเหล่านี้ในรูปแบบที่เข้าใจได้ด้วย

ประสบการณ์จากประเทศประชาธิปไตยใหม่อย่างเกาหลีใต้ ที่เคยมีระดับการทุจริตคอร์รัปชันสูงเช่นกัน น่าจะเป็นบทเรียนให้แก่สังคมไทยได้อย่างดี กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในเกาหลี เริ่มไล่เลี่ยกับไทย และยังมีช่วงที่ถูกแทรกแซงโดยรัฐประหารเหมือนกัน อย่างไรก็ดี ภาคประชาสังคมของเกาหลีใต้ขับเคลื่อนประชาธิปไตยไปพร้อมกับการต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะหากปราศจากสิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว โอกาสในการตรวจสอบข้อมูลการใช้อำนาจรัฐนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ และนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันในที่สุด

ตัวอย่างที่สำคัญ คือ Freedom of Information Act ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลของรัฐในเกาหลีใต้ ก็ถูกผลักดันโดยภาคประชาชน จึงน่าจะถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องมีเครื่องมือในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนี้ เพื่อให้เราสามารถเชื่อมั่นในตัวนักการเมืองและพรรคการเมืองที่เราเลือกไปเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยได้มากขึ้น

(หมายเหตุ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันแต่อย่างใด)

------------------------------------

ดร.บุญวรา สุมะโน

นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย