พัฒนาคนแบบเศรษฐกิจพอเพียง ไปไกลกว่า AEC

พัฒนาคนแบบเศรษฐกิจพอเพียง ไปไกลกว่า AEC

อยากเห็นประเทศไทยนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นปรัชญาในการบริหารประเทศทุกภาคส่วน เริ่มจากการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคล

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนไทยเราให้ความสนใจกับการก้าวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา การตลาด การบริหารบุคคล หรือการพัฒนาเทคโนโลยี  เราก็พยายามโยงไปกับเรื่องการเตรียมความพร้อมของไทยสู่ AEC ในปลายปีนี้เสมอๆ แต่เมื่อเราวิเคราะห์เจาะลึกถึงประเด็นความพร้อมของไทยในประเด็นต่างๆ เราก็จะตระหนักว่าในที่สุดเราก็ “ไม่พร้อม” ในทุกประเด็นที่กล่าวมาอยู่ดี ซึ่งถ้าเราหยุดการสนทนาไว้เพียงเท่านี้ หลายคน (รวมทั้งดิฉัน) คงรู้สึกไม่ค่อยดีเกี่ยวกับสถานภาพของไทยในเวลานี้ แต่ถ้าเราศึกษาสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเพื่อเปรียบเทียบความพร้อมของแต่ละประเทศ เราอาจจะรู้สึกดีขึ้นบ้างเพราะเพื่อนบ้านของเรา (ยกเว้นสิงคโปร์) ก็ไม่พร้อมเหมือนกันค่ะ โดยถ้าเราจะลองจัดอันดับความพร้อมของประเทศในอาเซียนกันอย่างคร่าวๆ เราจะพบว่าสิงคโปร์มีความก้าวหน้าและความพร้อมมากที่สุด ซึ่งเป็นความพร้อมแข่งขันในระดับโลก ไม่ใช่แค่ระดับภูมิภาค สิงคโปร์ขาดอย่างเดียวก็คือ ทรัพยากรบุคคล เพราะสิงคโปร์ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาหลายปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ความที่สิงคโปร์รู้ตัวล่วงหน้า ทางการสิงคโปร์ก็ได้เตรียมการรับมือเรื่องนี้เอาไว้แล้ว ในขณะที่ประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ยังอ้อแอ้เรื่องสังคมสูงอายุกันอยู่เลยค่ะ

รองลงมาจากสิงคโปร์แบบทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่นก็คือ มาเลเซีย ตามมาติดๆ อีก 3 ประเทศที่แย่งตำแหน่งที่สามกันก็คือ ไทย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ทิ้งช่วงห่างออกไปหน่อยคืออินโดนีเซียอยู่ประมาณอันดับสี่ ทิ้งห่างไปอีกช่วงไม่ห่างมากก็คือกลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งในกลุ่มนี้เวียดนามดูจะมาแรงที่สุด ข้อมูลการเปรียบเทียบประเทศไทยในระดับภูมิภาคอาจทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมาหน่อย แต่อย่าดีใจว่าไม่ได้มีประเทศเราประเทศเดียวที่ไม่พร้อม ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ย้อนหลังว่าไทยเราเคยยิ่งใหญ่และพัฒนามากกว่าสิงคโปร์และเกาหลีใต้ เรามีทรัพยากรธรรมชาติมากมายและมากพอที่จะผลักดันให้เราก้าวไกลไปกว่านี้ แต่สถานการณ์ทางการเมืองที่วุ่นวายเป็นระยะๆอย่างยืดเยื้อเมื่อกว่า 80 ปีมาแล้วตลอดเส้นทางประชาธิปไตยของเราทำให้เราขยับเดินหน้าอย่างต่อเนื่องไม่ได้สักที พอจะขยับเดินได้สักหน่อยก็จะต้องมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น เรามีกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มุ่งตักตวงผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้องโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของคนทั้งประเทศ จากผลการสำรวจความเห็นของ CEO ทั่วโลกที่จัดทำโดยสำนักสำรวจ Economist Corporate Network ประจำปี 2015 มองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน น่ามาทำธุรกิจน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทั้งนี้สาเหตุสำคัญก็คือเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองนั่นเอง

แม้ว่าคอลัมน์นี้จะไม่ใช่คอลัมน์การเมืองและเศรษฐกิจโดยตรง แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจส่งผลกระทบโดยตรงกับปัญหาเรื่องคนและการบริหารพัฒนาคนทั้งประเทศค่ะ การที่เรามีรัฐบาลที่อายุไม่ค่อยยืน ไม่ค่อยจะอยู่ครบเทอม (ไม่ขอวิเคราะห์สาเหตุนะคะ เพราะเดี๋ยวจะออกนอกเรื่องมากไป) มีผลทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา และเรื่องอื่นๆของประเทศไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง พอเปลี่ยนรัฐบาลที ก็เหมือนต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ จึงยากยิ่งนักที่กระบวนการพัฒนาประเทศจะเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ดิฉันให้ความสำคัญมากพอๆกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองก็ คือ การพัฒนาระบบการศึกษา ประเทศที่พัฒนาอย่างยั่งยืนที่เราได้เห็นในโลกมีประชากรส่วนใหญ่ที่มีการศึกษา ซึ่งการศึกษานี้มิได้หมายถึงปริญญาบัตร แต่หมายถึงการมีภูมิปัญญา (Wisdom) คนหลายคนมีความรู้ (Knowledge) ที่เรียนจากตำรา หรือเรียนจากโรงเรียน แต่ไม่มีภูมิปัญญาที่จะทำมาหาเลี้ยงชีวิตและดูแลครอบครัวอย่างมีความสุขอย่างถูกทำนองคลองธรรม การมีเงินใช้มากมายไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คนเรามีครอบครัวที่มีความสุขอย่างถูกทำนองคลองธรรม  การศึกษาจึงไม่ใช่เพียงเครื่องมือทำมาหากินสร้างรายได้ แต่หมายถึงการมีภูมิปัญญาที่รู้จักแยกแยะความผิดชอบชั่วดี ทำให้ครองตัวเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคมโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม

เมื่อใช้คำว่า “พัฒนาประเทศ” มันเป็นวลีที่ยิ่งใหญ่ ใหญ่จนไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี แต่ถ้าเราพิจารณาถึงคำว่า “ประเทศ” หรือ “ชาติ” ย่อมหมายถึงประชาชนที่อยู่ในชาตินั้น สำหรับดิฉัน การพัฒนาประเทศหมายถึงการพัฒนาคนของประเทศนั้น ถ้าคนดีแล้วอะไรๆก็จะดีตามมาเอง ดิฉันไม่เชื่อว่าถ้าถนนหนทางหรือตึกรามบ้านช่องดูดี หรูหราทันสมัย แล้วคนจะฉลาดและทันสมัยตาม มีให้เห็นมากมายที่คนเราใช้เครื่องมือเครื่องใช้ทันสมัยไฮ-เทค แต่มีภูมิปัญญาต่ำ ประเทศไทยเรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงผ่านประสบการณ์การศึกษาและใช้ชีวิตในประเทศทางตะวันตกที่ทันสมัย แต่พระองค์ท่านมิได้ถูกครอบงำด้วยองค์ความรู้ทางตะวันตก ท่านทรงกลั่นกรองเลือกสรรวิเคราะห์สกัดองค์ความรู้จากนานาอารยประเทศแล้วมาบูรณาการกับภูมิปัญญาไทย พัฒนาขึ้นเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศของเรา ซึ่งก็คือ แนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียง ซึ่งแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แนวความคิดเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตของเอกัตบุคคล (Individual) ของชุมชน ขององค์กร และของประเทศ คำว่าพอเพียงไม่จำเป็นต้องแปลว่ามีน้อย หรือไม่มั่งคั่ง ความพอเพียงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยและเงื่อนไขของแต่ละคน บางคนเกิดมาร่างกายแข็งแรงมาก มีสติปัญญาสูง ครอบครัวมีฐานะดี ก็ได้รับการศึกษาสูง จึงมี “ต้นทุน” ที่จะดำเนินชีวิตมากกว่าบางคนที่เกิดมาร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง สติปัญญาปานกลาง ครอบครัวแค่พอมีพอกิน ไม่มีเหลือกินเหลือใช้ “ต้นทุน” ของเขาเหล่านี้จึงมีต่ำกว่าคนกลุ่มแรก คิดง่ายๆว่าถ้าคนสองกลุ่มนี้คิดจะลงทุนดำเนินธุรกิจอะไรสักอย่าง คนกลุ่มแรกจะมีทรัพยากรในการลงทุนมากกว่า การลงทุนแบบพอเพียงของคนกลุ่มแรกจึงเป็นการพอเพียงที่น่าจะมีตัวเลขสูงกว่าคนกลุ่มที่สองที่มีทุนต่ำกว่า แต่ถ้าคนมีทุนน้อย อยากลงทุนมากกว่าที่ตนเองมี แบบนี้ก็ไม่เรียกว่าพอเพียง ถึงแม้จะไปกู้ยืมมาลงทุนได้ แต่ถ้าขาดวิจารณญาณในการบริหารที่ดี ก็อาจจะล้มเหลว สูยเสียทั้งกำไร และต้นทุน และไม่มีเงินไปใช้หนี้ แบบนี้ก็เรียกว่าทำอะไรเกินกำลัง ไม่รู้จักทำเท่าที่ตัวเองมีพอเพียงที่จะทำ สู้ทำแบบเล็กๆน้อยๆ ค่อยๆทำไป รู้จักพอเพียง อาจใช้เวลาหน่อย แต่ก็สามารถบรรลุเป้าหมายประสบความสำเร็จได้

ดิฉันอยากเห็นประเทศไทยนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นปรัชญาในการบริหารประเทศทุกภาคส่วน ทั้งนี้ขอเริ่มจากการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดของชาติก่อน เชื่อไหมคะว่าถ้าใช้แนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาพัฒนาระบบการศึกษาของเรา เราไม่ต้องใช้เม็ดเงินมากมายมหาศาลเท่าที่เคยเป็นมา ไม่จำเป็นที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงราคาแพงมากอย่างที่คิด แต่เราต้องเน้นการศึกษาที่สอนให้ “คิดเป็น” และ “คิดในทางที่ถูก” ไม่เน้นปริญญา แต่เน้นความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่นำไปใช้ทำงานได้ผลจริง  ลองติดตามเรื่องราวของเกษตรกรที่มีชีมิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พ้นภาวะหนี้สินเพราะพัฒนาวิธีคิดและวิธีการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริ ซึ่งทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตของเกษตรกรเหล่านี้เริ่มจากการทดลองปฏิบัติให้เห็นจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ก่อน ไม่ใช่เชื่ออย่างงมงาย เมื่อปฏิบัติเห็นผลจริงก็เท่ากับเป็นการพิสูจน์องค์ความรู้ว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ชาวไร่ชาวนาก็รู้แจ้งเห็นจริง ภูมิปัญญาชาวบ้านเกิดต่อยอดขึ้นไปอีก และเขาสามารถนำหลักการนั้นไปใช้พัฒนาชีวิตในด้านอื่นได้อีก ไม่ต้องเรียนจนได้ปริญญาก็ทำมาหากินเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างดีมีความสุข ประสบความสำเร็จดีกว่าบัณฑิตหลายคนทั่วโลกที่มีความรู้แต่อาจขาดภูมิปัญญาในการดำเนินชีวิต

อย่างไรก็ตาม ดิฉันไม่ได้ต่อต้านระบบการศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย รวมทั้งไม่ได้ดูถูกดูหมิ่นปริญญาบัตรด้วย แต่อยากเสนอมุมมองอีกมุมมองหนึ่งว่า ความสำเร็จทางด้านการศึกษาไม่ควรมุ่งไปที่การได้รับปริญญาเพียงถ่ายเดียว แต่ควรมุ่งที่การสร้างภูมิปัญญาในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิตร่วมกัน ทั้งนี้ก่อนที่จะวางหมุดเส้นทางพัฒนาการศึกษา ผู้บริหารประเทศต้องไตร่ตรองให้ดีผ่านแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงก่อนว่า เป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศคืออะไรที่มันเหมาะและพอเพียงกับประเทศของเรา คนไทยบ้านเรามีมันสมองและภูมิปัญญามากพอที่จะพัฒนาประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นแบบฉบับของชาติ ไม่จำเป็นต้องไปใช้โมเดลการพัฒนาของประเทศอื่น ไม่จำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษาต่างชาติค่าตัวแพงๆเสมอไป ทั้งนี้ต้องพัฒนาให้คนไทยที่มีภูมิปัญญามีจำนวนมากขึ้นๆ เมื่อคนไทยทั้งประเทศมีภูมิปัญญามากขึ้น เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของไทยก็จะพัฒนาขึ้น เพราะใครก็มาหลอกคนไทยไม่ได้ ซึ่งคนที่จะหลอกคนไทยได้เจ็บปวดที่สุด ก็คือคนไทยด้วยกันเอง