‘ประชาชน’ คือจำนวน ‘พลเมือง’ อยู่ที่คุณภาพ

‘ประชาชน’ คือจำนวน ‘พลเมือง’ อยู่ที่คุณภาพ

ข้อถกเถียงประเด็นว่าด้วยคำว่า “พลเมือง” กับ “บุคคล” หรือ “ประชาชน” หรือ “ราษฎร”

 เป็นหัวข้อสำคัญ ไม่ใช่เพียงความเห็นต่างระหว่างคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กับคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภานิติบัญญติแห่งชาติ หรือ สนช. เท่านั้น

เพราะความแตกต่างในความหมายมีนัยสำคัญมากพอ ที่จะต้องมีการถกแถลงกันของคนไทย ในความพยายามจะเข้าใจบทบาทของ เจ้าของประเทศ อย่างถ่องแท้

ข่าวบอกว่า ครม. และ สนช. บางท่านต้องการให้เปลี่ยนคำว่า พลเมือง” ในร่างรัฐธรรมนูญเพราะมีความหมายด้านอุดมคติมากเกินไป หรือยึดหลักทฤษฏีมากไป ควรจะใช้คำว่า “บุคคล” หรือ ประชาชน ดั่งที่ใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ

แต่คุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแย้งกลับว่า คำว่า พลเมือง มีนัยสำคัญ ไม่ใช่เพียงวาทกรรมทำนองเดียวกับ เรือแป๊ะ หรือ เกินลงกา แต่ “พลเมือง” คือความพยายามแก้ไขวัฒนธรรมของราษฎรในการไม่ซื้อสิทธิขายเสียง

ผมเข้าไปค้นหาคำนิยามของ “พลเมือง” ในหลาย ๆ แหล่งข้อมูลในอินเตอร์เน็ท ก็ได้สาระที่น่าสนใจว่า

ประชาชน หมายถึงคนของประเทศ เช่น ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ต้องรู้กฎหมาย ใครจะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่ได้ คำว่า ประชาชน ในบางครั้ง อาจหมายถึงผู้ที่ไม่ใช่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หรือนักบวช และในบางครั้งหมายถึงผู้ที่มิได้เป็นพ่อค้าด้วย

ส่วน ประชากร หมายถึง คนโดยทั่วไป แต่มักใช้ในกรณีที่จะพิจารณาถึงจำนวน คือจำนวนคนของประเทศหรือของโลก ในทางสถิติ มีการใช้คำว่า ประชากร หมายถึงจำนวนของสัตว์ หรือสิ่งที่สำรวจที่พิจารณาด้วย 

พลเมือง หมายถึง หมู่คนที่เป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง คนทั้งหมดซึ่งเป็นกำลังของประเทศ ทั้งในทางเศรษฐกิจ การทหาร และอำนาจต่อรองกับประเทศอื่น โดยนัยของความหมาย คำว่า พลเมือง หมายถึง คนที่สนับสนุนเป็นกำลังอำนาจของผู้ปกครอง เป็นคนที่อยู่ในการควบคุมดูแลของผู้ปกครอง

หากเป็นภาษาอังกฤษคำว่าพลเมืองคงหมายถึง citizen ซึ่งไม่เหมือนกับคำว่า people หรือ population เสียเลยทีเดียว

ยิ่งถ้าเป็น บุคคล ก็จะแปลเป็น “persons” หรือ “individuals” ซึ่งบางคนก็อาจจะแปลเป็นไทยว่า ปัจเจก ซึ่งก็จะยิ่งไกลจากความหมายของการเป็น “พลเมือง” ออกไปอีก

ท่านผู้รู้อีกท่านหนึ่งยืนยันว่าคำว่า “พลเมือง” มีความหมายแตกต่างจากคำว่า “ประชาชน”แน่นอน เพราะความเป็นพลเมืองนั้นหมายถึงคนที่มีความสามารถที่จะแสดงความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและส่วนรวม พลเมืองจึงต้องเป็นผู้มีความรู้และเข้าไปช่วยตัดสินใจในปัญหาสำคัญๆ ของสังคม ของชุมชน ของประเทศ หมายถึงเข้าไปอยู่ในกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีความคิดอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ต่างจากคำว่า ประชาชน ที่กลายเป็นผู้รับคำสั่ง ทำตามผู้อื่น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจึงอยู่ที่การเปลี่ยนให้ประชาชนคนธรรมดาได้กลายเป็นพลเมืองที่มีสิทธิกำหนดทิศทางของประเทศได้

หากตีความตามความหมายนี้ ก็พอจะเข้าใจได้ว่าคนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องการใช้คำว่า “พลเมือง” เพื่อตอกย้ำความสำคัญของการทำให้ ประชาชนทั่วไป หรือ ราษฎร กลายเป็น “พลเมือง” ซึ่งมีพลังอำนาจในการต่อรองและพร้อมจะลุกขึ้นปกป้องสิทธิของตน อีกทั้งยังไม่ยอมให้ใครมีพฤติกรรมซื้อสิทธิ์ขายเสียงอันเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

คุณบวรศักดิ์บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการเขียนให้ พลเมืองเป็นใหญ่ ซึ่งอาจตีความได้ว่าหากประชาธิปไตยเป็นไปตามที่ควรจะเป็นนักการเมืองต้องรับใช้พลเมือง และจะเกิดเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อพลเมืองมีความฉลาด รู้ทัน และมีความภูมิใจในความเป็นเจ้าของประเทศ ไม่ยอมให้นักการเมืองมาซื้อเสียงหรือใช้เป็นเครื่องมือในการยึดอำนาจรัฐเป็นของตนด้วยวิธีการฉ้อฉลทั้งหลายทั้งปวง

แต่ท้ายที่สุด ตัวหนังสือก็คือตัวหนังสือ ตราบเท่าที่ยังไม่สามารถจะสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่ เจ้าของประเทศ เป็นใหญ่จริง และสามารถกำหนดชะตากรรมชีวิตของตนและประเทศชาติได้จริง ประชาชนก็เป็นได้เพียง พลเมืองชั้นสอง” เท่านั้นเอง

เราจึงต้องเร่งสร้าง Active Citizens หรือ พลเมืองตื่นรู้ทั่วทุกหัวระแหงในประเทศ....ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พลเมืองเป็นใหญ่จะผ่านหรือไม่ผ่าน และจะผ่านด้วยเงื่อนไขอะไรก็ตาม!