นโยบายการเงิน (1)

นโยบายการเงิน (1)

ผมขอเขียนถึงนโยบายการเงินเพราะเชื่อว่าจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีบทบาทนำ เพราะผมมองว่าประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกคือ สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น

นโยบายการคลัง (ภาษี+การใช้จ่ายของรัฐบาล) จะมีข้อจำกัดอย่างมาก ตัวอย่างเช่น


1. สหรัฐ ดังที่เคยเขียนในครั้งก่อนหลายคนจะรู้จัก Janet Yellen แต่น้อยคนจะรู้จักชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐ เพราะรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาอยู่ในช่วงที่จะยังต้องรัดเข็มขัดทางการคลังต่อไปและจะเสนอมาตรการหรือนโยบายการคลังใหม่ๆ ได้ยาก เพราะเสียงข้างมากในทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเป็นของพรรครีพับลิกันที่จะต้องช่วงชิงกับพรรคเดโมเครตของประธานาธิบดีโอบามาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปีหน้า ดังนั้น เพียงแต่รัฐบาลกับรัฐสภาสหรัฐพยายามประคองกันไปโดยไม่ทำให้เกิดวิกฤติทางงบประมาณและต้องปิดรัฐบาลเช่นที่เคยเกือบเกิดขึ้นปีก่อนๆ ก็คงจะเป็นที่พอใจของสาธารณชนโดยรวมแล้ว


2. ยุโรป ประเทศที่มีศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังคือประเทศเยอรมัน แต่กระแสการเมืองของเยอรมันนั้นค่อนข้างจะนิยมการมีวินัยทางการคลังและรู้ตัวว่าต้องเตรียมการและมุ่งมั่นทำให้ภาคการคลังมีความแข็งแกร่งเพื่อรองรับการแก่ตัวลงของประชากรของประเทศเยอรมัน นอกจากนั้น เศรษฐกิจเยอรมันในขณะนี้ก็ถือได้ว่าขยายตัวดีกว่าประเทศหลักอื่นๆ ในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อค่าเงินยูโรอ่อนตัวลงไป 20% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และนโยบายการเงินของอีซีบีที่เพิ่งเริ่มคิวอีเมื่อเดือนเม.ย. (น่าจะทำต่อเนื่องไปอีกถึงกลางปีหน้า) ทำให้ไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม


ในส่วนของฝรั่งเศสนั้นแม้เศรษฐกิจโดยรวมจะยังค่อนข้างอ่อนแอ แต่หนี้สาธารณะก็อยู่ในระดับที่สูงมากเช่นกันและรัฐบาลก็ได้รับความนิยมต่ำจึงคงจะผลักดันมาตรการทางการคลังในเชิงของการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้มากนัก (อันที่จริงควรมุ่งเน้นปรับโครงสร้างและลดกฎเกณฑ์และข้อจำกัดต่างๆ ของราชการมากกว่า) อีกประเทศหลักของยุโรปคือ อังกฤษ ซึ่งพรรคอนุรักษนิยมเพิ่งได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งโดยการยืนยันว่านโยบายการคลังที่พยายามลดบทบาทและงบประมาณของรัฐบาลนั้นมาถูกทางแล้ว ดังนั้น จึงน่าจะดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดทางการคลังต่อไป นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรีคาเมรอนก็คงจะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาหลักเชิงเศรษฐกิจการเมือง 2 เรื่องหลักคือการเพิ่มอำนาจปกครองตนเองให้กับสกอตแลนด์และการเจรจากับสหภาพยุโรปให้ผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ลดอธิปไตยของอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มีคนจากยุโรปสามารถเดินทางเข้ามาทำงานและได้รับสิทธิประโยชน์จากสวัสดิการในอังกฤษอย่างเสรีตามสนธิสัญญาที่นำไปสู่การรวมตัวกันทางเศรษฐกิจของยุโรป ซึ่งนายคาเมรอนต้องแสวงหาข้อผ่อนปรนซึ่งเป็นที่พอใจของประชาชนอังกฤษภายในปลายปี 2017 ที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดทำประชามติให้ประชาชนตัดสินใจว่าอังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่


3. ญี่ปุ่น ในส่วนของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นมีข้อจำกัดอย่างมากในการใช้นโยบายการคลังเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะหนี้สาธารณะสูงถึง 240% ของจีดีพีแล้ว จึงถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงมาหลายครั้งแล้ว ทั้งนี้ ภายในปลายปีหน้ารัฐบาลญี่ปุ่นน่าจะต้องปรับขึ้นภาษีหรือดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดทางการคลังเพราะหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในกลุ่มของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก


ที่เขียนมาข้างต้นก็เพื่อชี้ให้เห็นว่านโยบายการคลังนั้นมีข้อจำกัดมากและน่าจะกลายเป็นช้างเท้าหลังไปอีกหลายปีในเศรษฐกิจโลกโดยรวม เพราะสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่นนั้นก็มีจีดีพีรวมกันประมาณ 60% ของจีดีพีโลกเข้าไปแล้ว นอกจากนั้น บางประเทศเช่นประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กลุ่มประเทศโอเปกและออสเตรเลียก็ประสบปัญหารายได้ภาครัฐตกต่ำอย่างมาก ทำให้ต้องลดรายจ่ายของภาครัฐหรือรัดเข็มขัดทางการคลังพร้อมกันไปอีกด้วย ดังนั้น จึงน่าจะสรุปได้ว่า ในส่วนของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคนั้นเหมือนกับคนที่มีแขนข้างเดียว คือใช้งานได้แต่นโยบายการเงิน ส่วนนโยบายการคลังน่าจะมีบทบาทน้อยมากในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทำให้สมควรที่จะต้องหันมาให้ความสำคัญและเข้าใจนโยบายการเงินมากขึ้น ซึ่งจะเป็นเรื่องที่สาธารณชนมักจะมีความเข้าใจน้อยกว่านโยบายการคลังเพราะการเก็บภาษีและการใช้จ่ายของรัฐบาลนั้นเป็นเรื่องที่มองเห็นได้อย่างตรงไปตรงมาอยู่แล้ว


แต่นโยบายการเงินนั้นนอกจากจะเข้าใจยากกว่าแล้วก็ยังจะมีการพูดถึงหลักการว่าจะต้องเป็นอิสระจาก “การเมือง” และจะต้องไม่ถูกกดดันจากปัจจัยเฉพาะหน้า แต่จะต้องให้ผู้ที่เชี่ยวชาญกำหนดนโยบายใน “ระยะยาว” เพื่อ “เสถียรภาพและความยั่งยืน” ซึ่งฟังดูแล้วอาจทำให้มีความเข้าใจว่าองค์กรที่ดำเนินนโยบายการเงินนั้นเป็นองค์กร “อิสระ” และต้องไม่ถูก “แทรกแซง” โดยความต้องการระยะสั้น ซึ่งโดยรวมทำให้เกิดความรู้สึกว่าคนส่วนใหญ่ไม่ควรแตะต้องหรือแตะต้องไม่ได้ ซึ่งหากรู้สึกเช่นนั้นก็จะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ผมจึงอยากให้หันมาทำความเข้าใจกับกลไกของเศรษฐกิจในส่วนนี้ ซึ่งผมเชื่อว่าจะมีความสำคัญยิ่งโดยเฉพาะในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งวันนี้จะขอกล่าวถึงหลักการพื้นฐานของนโยบายการเงินก่อน


กล่าวคือ นโยบายการเงินที่ดี คือ การสร้างวินัยทางการเงิน ได้แก่ การทำให้เงินเฟ้อต่ำ ส่งเสริมให้ระบบธนาคารมั่นคงและป้องกันมิให้เกิดการใช้จ่ายเกินตัวหรือสร้างหนี้เกินตัวทั้งของรัฐบาลของประชาชนและของภาคธุรกิจ ทั้งนี้ โดยธนาคารกลางเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบเป็นหลัก แต่มิใช่เป็นความรับผิดชอบของธนาคารกลางแต่ฝ่ายเดียว โดยอาจมองได้ว่าธนาคารกลางมีหน้าที่ดูแล 3 เรื่องหลักคือ การกำกับดูแลระบบธนาคาร การควบคุมเงินเฟ้อและการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ในบางประเทศเช่นสหรัฐนั้น หน้าที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนอยู่กับกระทรวงการคลังและในหลายประเทศการกำกับดูแลระบบธนาคารก็แยกออกมาจากภาระหน้าที่ของธนาคารกลาง


ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าหัวใจของนโยบายการเงินซึ่งเป็นภาระหน้าที่หลักของธนาคารกลางคือการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับต่ำ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในปัจจุบันปัญหาของเศรษฐกิจโลกไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะควบคุมเงินเฟ้อไม่ได้ แต่ในทางตรงกันข้ามปัญหาคือหลายประเทศกลัวภาวะเงินฝืดและการขยายตัวอย่างเชื่องช้าและเปราะบางของเศรษฐกิจ ดังนั้นนโยบายการเงินในสภาวะปัจจุบันจึงต้องเผชิญกับสิ่งที่หลายคนไม่เคยประสบมาก่อน จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและทำให้ต้องมีมาตรการใหม่ที่แหวกแนว เช่นคิวอีซึ่งผมจะเขียนถึงในตอนต่อไปครับ