ไผเป็นไผ..ที่หน้าหอศิลป์

ไผเป็นไผ..ที่หน้าหอศิลป์

กิจกรรมครบรอบ 1 ปี คสช.ที่ชื่้อว่า “ศุกร์ 22 มาฉลองกันมะ?” ที่ด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 อาจไม่ใช่ข่าวกระแสหลัก แต่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กก็เล่นกันเลือดสาดเหมือนกัน

ระหว่างวาทกรรม ผลไม้พิษ หรือ สมุนแม้ว กับ ทหารปราบนักศึกษา แชร์กันสนั่นโลกออนไลน์

วันก่อน นักข่าวภาคสนามเพิ่งนึกขึ้นได้ว่ามีการเชิญตัวกลุ่มนักศึกษา 30 กว่าคน ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวัน เลยถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม เหมือนจงใจจะถามให้ถูกคน และก็ได้ผลตามที่ปรารถนา

“ไม่ได้ทำร้ายร่างกาย ทำร้ายยังไงวะ พูดส่งเดช ก็ผลักดัน ควบคุม แล้วไปขัดขืนเขา ทำไมต้องขอร้อง ให้ทำตามกติกา” พล.อ.ประวิตร ออกการเบรกแตกทันที

จะว่าไปแล้ว ช่วงที่มีการฉุดกระชากลากถูกันนั้นคงไม่เจ็บเท่ากับ “สงครามข่าว” ที่เล่นกันในวันถัดมา เพราะฝ่ายปกป้อง คสช. ชี้หน้าว่า กลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมหน้าหอศิลป์ในวันนั้น เป็น “ทาสแม้ว” ไปเรียบร้อยแล้ว

จริงอยู่ ในกลุ่มนักศึกษาจำนวนหนึ่งอาจมีความสัมพันธ์กับนักวิชาการสายนิติราษฎร์ และสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย

จริงอยู่ ในจำนวน 30 กว่าคนวันนั้นไม่ใช่นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ทั้งหมด “พวกเขา” จำนวนเกือบครึ่งหนึ่งเป็นอดีตอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย, เอ็นจีโอ, ติวเตอร์ และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย

สมัยเป็นนักศึกษา พวกเขาทำงานด้านสังคม เช่น การคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ, การรณรงค์กฎหมายเพื่อคนจน 4 ฉบับ, การคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ฯลฯ

อย่างเช่น “แมน” ปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางสังคมทั้งประเด็นการศึกษาที่เป็นธรรม, ปฏิรูปที่ดิน, แรงงาน ฯลฯ และ “ตาม” ธิวัชร์ ดําแก้ว กรรมการ “ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย” (YPD) ทั้งคู่เรียนจบปริญญาตรีแล้ว

  สมัยเรียนมหาวิทยาลัย แมน-ตามเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กินนอนอยู่ในทำเนียบรัฐบาลในปี 2551

หลังจากนั้นได้ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มแรงงานเพื่อเรียกร้องสวัสดิการและค่าแรง กลุ่มชาวบ้านเรื่องที่ดินทำกิน และกลุ่มนักศึกษาโดยเฉพาะเรื่องการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

ก่อนรัฐประหารปี 2557 นั้น “แมน-ตาม” ร่วมเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง แต่ทั้งคู่ก็ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

ดังนั้น เมธา มาสขาว นักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย โพสต์ข้อความสั้นๆในเฟซบุ๊คส่วนตัวในกรณีการจัดกิจกรรมหน้าหอศิลป์ว่า

  “การต่อต้านคณะรัฐประหาร ครบรอบ 1 ปี การยึดอำนาจการปกครองที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ มีทั้งสายเสรีนิยม และสายสังคมนิยมมาร่วมกัน

เช่นเดียวกับ กลุ่มดาวดิน นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยการออกไปสู่ชนบท เรียนรู้และร่วมแก้ปัญหาความทุกข์ยากกับชาวบ้าน

เหตุผลที่กลุ่มดาวดินคัดค้านการรัฐประหาร เพราะการบริหารประเทศโดยกลุ่มทหาร ทำให้ประเด็นปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติ กลายเป็นเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน และไม่สนในประเด็นเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ และสิทธิชุมชน

ปฏิบัติการของ “กลุ่มดาวดิน” ยังคงไม่จบแค่นี้ ให้จับตาดูนับแต่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป ซึ่งเป็นภารกิจ “ทวงคืนผืนป่า” ของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ตั้งเป้ายึดโค่นสวนยาง 6 แสนไร่ ในปี 2558

แม้ “บิ๊กหนุ่ย” จะอ้างว่าไม่ให้กระทบชาวบ้านร้านถิ่น แต่ในความเป็นจริง สวนยางชาวบ้านที่โดนตัดโค่น ส่วนพวกนายทุนก็โดนโค่นแค่ครึ่ง และยังเหลืออีกครึ่ง

สำหรับกลุ่มนักกิจกรรมเหล่านี้ จุดยืนอยู่ข้างชาวบ้านผู้ยากไร้กับการต้านอำนาจเผด็จการเป็นเรื่องเดียวกัน จึงยากที่จะเลี่ยงการเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐของขุนทหาร

  นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ปฏิบัติการจิตวิทยาแบบตื้นเขิน อาจเป็นแนวร่วมมุมกลับให้ฝ่ายตรงข้าม คสช.โดยไม่รู้ตัว