นโยบาย ‘น่านฟ้าเสรี’

นโยบาย ‘น่านฟ้าเสรี’

ตามข้อความในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 23 พ.ค.2558 อ้างถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง

ให้ทบทวนนโยบายน่านฟ้าเสรี (Open Sky Policy) ผู้เขียนและอดีตผู้บริหารบริษัทการบินไทยมีความยินดีและขอบคุณอย่างยิ่งที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลเห็นความสำคัญที่ต้องทวน “นโยบายน่านฟ้าเสรี”

เพื่อความกระจ่างต่อบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในวงการๆ บิน ผู้เขียนขอใช้โอกาสนี้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างในเรื่อง “นโยบายน่านฟ้าเสรี” กับ “นโยบายร่วมทุนระหว่างสายการบิน”

เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ริเริ่มเรื่องนโยบาย “น่านฟ้าเสรี หรือ Open Sky Policy” โดยสหรัฐอเมริกาได้ทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศ ในเรื่องน่านฟ้าเสรีโดยมีคำจำกัดความในเรื่องนี้คือสายการบินจะเป็นกี่สายก็ได้ของประเทศหนึ่งสามารถบินไปอีกประเทศหนึ่งที่เป็นคู่สัญญาโดยไม่จำกัดเที่ยวบินหรือขนาดของเครื่องบิน ถือเป็นการใช้สิทธิการบินในเข้าและออกของสู่สนามบินสากล (International airports) ภายในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำการบินในเส้นทางภายในประเทศ (Domestics) หรือบินต่อไปยังประเทศที่ 3 ได้ “นี่คือข้อกำหนดในคู่สัญญานโยบายน่านฟ้าเสรี”

ในเดือนพ.ค.2546 รัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดี บุช ได้เสนอให้เปลี่ยนสัดส่วนการถือครองหุ้น ของสายการบินต่างชาติ ที่มาร่วมทุนกับสายการบินของสัญชาติอเมริกัน (ขอย้ำว่าเป็นการร่วมทุนระหว่างสายการบินกับสายการบิน ไม่ใช่การร่วมทุนกับบริษัทเอกชนที่ไม่ใช่สายการบิน) เพิ่มจาก 25% มาเป็น 49% เพื่อที่จะได้เปิดโอกาสให้สายการบินต่างชาติ ที่มีขีดความสามารถและมีสถานะภาพการเงินที่มั่นคงให้การสนับสนุนสายการบินที่ทำการบินภายในประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมากระทรวงการคมนาคม (DOT) ของสหรัฐอเมริกาเริ่มแสดงความห่วงใยต่อความมั่นคงของประเทศในการร่วมทุนระหว่างสายการบินอเมริกันและสายการบินต่างชาติ รัฐบาลสหรัฐจึงได้เสนอแก้ไขโดยเสนอให้มีข้อจำกัด เช่น ผู้บริหารระดับสูง (CEO) ต้องถือสัญชาติอเมริกันตลอดจนมีอำนาจในการกำกับดูแลในการบริหารและกำหนดนโยบาย การลงมติใดๆ ให้ถือมติของสายการบินอเมริกันเป็นสัดส่วน 75% และของสายการบินต่างชาติเป็นสัดส่วน 25% โดยไม่คำนึงถึงสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทร่วมทุน ขณะนี้ประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปเริ่มติดตามเพื่อหาทางแก้ไขในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน สำหรับนโยบายน่านฟ้าเสรี (Open Sky) ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับนโยบายร่วมทุนระหว่างสายการบินแม้แต่น้อย ถ้าจะเปรียบเทียบนโยบายน่านฟ้าเสรีคือการประกอบธุรกิจการบินระหว่างสายการบินของประเทศคู่สัญญาเท่านั้น

นโยบายร่วมทุนระหว่างสายการบินกับสายการบินคือการประกอบธุรกิจการบินซึ่งมีข้อผูกพันและสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด ในราวปี 2547 รัฐบาล พันตำรวจตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้เปลี่ยนกฎหมายการร่วมทุนกับสายการบินแห่งชาติจาก 70/30 เป็น 51/49 โดยเอาเรื่องน่านฟ้าเสรีเป็นข้ออ้างซึ่งนำมายังการร่วมลงทุนระหว่าง ชินคอร์ป 49% (ซึ่งไม่ใช่สายการบิน) และแอร์เอเชีย 49% ส่วนอีก 2% บริษัทกุหลาบแก้วเป็นผู้ถือครองหุ้น ในอดีต “บริษัทการบินไทย” ได้ถือกำเนิดในปี 2503 จากการร่วมลงทุนระหว่างสายการบินด้วยกันในอัตราส่วน 70/30 คือ “บริษัทเดินอากาศไทย” ถือ 70% และ “สายการบินสแกนดิเนเวีย” ถือ 30% เป็นที่ชัดเจนว่าสัดส่วนการถือครองหุ้นในลักษณะ 49% ต่อ 49% และมีสัดส่วนอีก 2% ถือโดยบุคคลอื่น ในลักษณะนี้จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างมากหากสัดส่วน 2% นั้นเป็นการถือครองหุ้นแทนหรือเป็น NOMINEE ให้กับสายการบินต่างชาติ การร่วมทุนระหว่างบริษัท ชิน คอร์ป และสายการบินแอร์เอเชียถือได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้สายการบินแอร์เอเชีย ใช้สิทธิการบินของประเทศไทยได้อย่างเสรีทั้งในการทำการบินภายประเทศและไปยังต่างประเทศ และถือได้ว่าสายการบินแอร์เอเชียยังใช้กรุงเทพเป็นศูนย์กลางการบินอีกด้วย

จากการเปลี่ยนกฎหมายสัดส่วนการถือครองหุ้นโดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงของประเทศทำให้สายการบินต่างประเทศแห่กันมาร่วมทุนกับบริษัทคนไทยหลายรายเพื่อใช้สิทธิการบินของประเทศ จนนำมาซึ่งความหละหลวมของการควบคุมดูแลของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ ICAO ต้องแจ้งความบกพร่องของประเทศไทยในการควบคุมดูแลสายการบินของตนไปยังสมาชิกของ ICAO ซึ่งขณะนี้ทางรัฐบาลไทยกำลังรีบแก้ไขมิฉะนั้นจะกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศและต่อธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นรายได้สำคัญของประเทศและอาจนำมาซึ่งผลเสียต่อสิทธิการบินของประเทศไทย

อีกตัวอย่างหนึ่งของเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นอันนำมาซึ่งความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศและต่อสายการบินแห่งชาติ “บริษัทการบินไทย” ในการที่สายการบินนกแอร์เข้าร่วมลงทุนกับสายการบิน Scoot (สายการบิน Scoot ถือเป็นสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์เพราะสิงคโปร์แอร์ไลน์ถือหุ้น 100%) ตามรายงานประจำปีของบริษัท Scoot ที่ผ่านมา สายการบิน Scoot มีผลดำเนินการขาดทุนมาตลอดเนื่องจากศักยภาพในการประกอบสายการบินต้นทุนต่ำของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ไม่ประสบความสำเร็จรวมทั้งสายการบิน Tiger Airways สายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ด้วยเหตุผลถึงการไม่ประสบความสำเร็จ สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์จึงพยายามที่จะเข้ามาดำเนินการทำธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำภายในประเทศไทยเนื่องจากประเทศไทยมีประชากรกว่า 60 ล้านคนและมีจุดท่องเที่ยวหลากหลายจึงเป็นโอกาสดีที่สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์จะเข้ามาร่วมทุนกับสายการบินของประเทศไทยซึ่งน่าจะเกิดผลดีกว่าที่จะประกอบกิจการธุรกิจต้นทุนต่ำในประเทศสิงคโปร์ซึ่งประสบการขาดทุนทั้งสายการบิน Scoot และสายการบิน Tiger Airways ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น

 ข้อควรสังเกตคือ ในการร่วมทุนระหว่างสายการบินนกแอร์และสายการบิน Scoot โดยมติคณะกรรมการของบริษัทสายการบิน Nokair เห็นควรให้มีการจัดตั้งบริษัท นกมั่งคั่ง ขึ้นเพื่อเป็นลักษณะตัวแทนของสายการบิน Nokair ในการเจรจาร่วมทุนกับบริษัท Scoot โดยมติกรรมการให้ บริษัท นกมั่งคั่ง ถือครองหุ้น 49% Scoot 49% และอีก 2% เป็นของกลุ่มบุคคลอื่น ในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2557 คณะกรรมการของบริษัทการบินไทยสามท่านที่คณะกรรมการบริษัทการบินไทยแต่งตั้งให้เข้าไปเป็นกรรมการในบริษัท Nokair นอกจากได้ลงมติสนับสนุนให้ร่วมจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Nokscoot) แล้ว ยังได้เห็นชอบอนุมัติให้มีการกู้ยืมเงินจำนวนไม่เกิน 970 ล้านบาท ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ด้วยเหตุผลที่บริษัทการบินไทยถือหุ้นอยู่ในบริษัท Nokair ถึง 39% ตัวแทนคณะกรรมการบริษัทการบินไทยควรต้องยับยั้งและคัดค้านในการเข้าร่วมลงทุนกับบริษัท Scootข องสิงคโปร์แอร์ไลน์ อันถือเป็นการขัดกันเรื่องผลประโยชน์และนำมาเรื่องการแข่งขันโดยตรงและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทคู่แข่งได้ประโยชน์ ทั้งเข้ามามีส่วนใช้สิทธิการบินของประเทศไทยทำการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศทัดเทียมกับบริษัทการบินไทย การร่วมทุนครั้งนี้ถือว่าสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ได้ประโยชน์ในหลายด้านกล่าวคือ การเช่าหรือซื้อเครื่องบินตลอดจนการซ่อมบำรุงเครื่องบินตามสัญญาต้องนำไปดำเนินการที่ประเทศสิงคโปร์เท่านั้น การร่วมทุนดังกล่าวยังเอื้อให้สายการบิน Scoot ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์มีศูนย์ปฏิบัติการบินที่กรุงเทพฯหรือประเทศไทยอีกด้วย

ผู้เขียนขอสรุปว่า การไม่ปกป้องสิทธิการบินของประเทศ และหากไม่มีการควบคุมและมีข้อจำกัด ย่อมนำความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ทั้งนี้ ผู้เขียนต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อีกครั้ง ที่ท่านได้มีนโยบายและประกาศที่จะทบทวนในเรื่องนโยบายน่านฟ้าเสรีหรือ Open Sky Policy อย่างจริงจัง