ภาคเกษตรกับการก้าวไปสู่ประเทศรายได้สูง

ภาคเกษตรกับการก้าวไปสู่ประเทศรายได้สูง

หลายประเทศกำลังติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle income trap) ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย

ล่าวคือ ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถขยับไปเป็นประเทศรายได้สูง แม้จะสามารถสร้างรายได้จากการพัฒนาอุตสาหกรรมและการส่งออก จนทำให้ประชาชนในประเทศมีความกินดีอยู่ดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (high income countries) ได้ เนื่องจากเหตุที่ขาดแนวทางที่เหมาะสมหลายประการในการพัฒนาขีดความสามารถในภาคการผลิต บริการ และเกษตรของตน


งานวิจัยของ Per Pinstrup - Andersen และRajulPandya - Lorchกล่าวไว้ว่า การเจริญเติบโตทางภาคการเกษตรเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยลดความยากจนของประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำ ด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ 1) เกิดการสร้างงานในชนบท ทำให้เกิดการจ้างงานและการสร้างรายได้ในชนบท 2) แนวโน้มความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเติบโตขึ้นของจำนวนประชากรและมีความเป็นเมืองมากขึ้น 3) เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม เพราะประเทศรายได้ต่ำมีภาคเกษตรที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 4) เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ แต่ภาคการเกษตรช่วยลดความยากจนได้เพียงการเปลี่ยนประเทศจากประเทศที่มีรายได้ต่ำก้าวไปสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลางเท่านั้น โดยไม่สามารถก้าวไปสู่ความเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ เนื่องจากกุญแจสำคัญของการก้าวไปสู่เศรษฐกิจรายได้สูงนั้น เกิดจากการขับเคลื่อนของภาคการผลิต (manufacturing) ดังที่ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (The Asian Development Bank: ADB) กล่าวไว้ว่า จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พบว่า ไม่มีเศรษฐกิจของประเทศไหนที่มีสถานะไปถึงการเป็นประเทศรายได้สูง โดยปราศจากการมีสัดส่วนการผลิตและการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมน้อยกว่าร้อยละ 18 ติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน


กระบวนการผลิตที่ดีและมีประสิทธิภาพ ต้องสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตหรือเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้อันเกิดจากความสามารถในการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงของแต่ละประเทศ จากข้อมูลใน CIA THE WORLD’S FACTBOOK ได้นำเสนอเปรียบเทียบสัดส่วนแรงงานในภาคการเกษตรต่อขนาดภาคการเกษตรในปี 2014 ได้ดังตาราง


จากตาราง ประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงและความโดดเด่นในด้านการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก ด้านการจัดการกิจกรรมทางเกษตร และด้านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อการเกษตรประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนแรงงานในภาคการเกษตรน้อยมาก คือ ประมาณร้อยละ 2-4 ของแรงงานทั้งหมดเท่านั้น แต่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้มากถึง ร้อยละ 1-3 ของจีดีพี คำถามที่ควรคิดต่อคือ ลักษณะเศรษฐกิจภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศเหล่านี้เป็นอย่างไร จึงทำให้ประเทศก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและก้าวไปสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง?


โดยบทความนี้ขอนำเสนอบทวิเคราะห์จากกรณีของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีความโดดเด่นในการจัดการบริหารภาคเกษตรและการสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งในภาคการเกษตร


ประเทศออสเตรเลีย มีการปฏิรูปภาคเกษตรซึ่งใช้เวลาเกือบสองศตวรรษ จนกลายเป็นมหาอำนาจทางสินค้าเกษตรของโลกประเทศหนึ่งประเทศออสเตรเลียมีเศรษฐกิจการเกษตรค่อนข้างโดดเด่นโดยเฉพาะการทำปศุสัตว์ เศรษฐกิจภาคการเกษตรของออสเตรเลียมีสภาพทางธรรมชาติที่เอื้ออำนวย ด้วยภูมิประเทศที่ราบกว้างทำให้สามารถทำการเกษตรในลักษณะฟาร์มขนาดใหญ่ ซึ่งใช้เครื่องจักรต่างๆ เข้ามาใช้แทนแรงงานคนและสัตว์ เรียกว่า “การเกษตรแบบกว้าง” (Extensive Agriculture) แต่ภูมิอากาศ แหล่งน้ำ และดิน โดยรวมค่อนข้างแห้งแล้ง ทำให้การเพาะปลูกมักประสบปัญหาเรื่องของน้ำ จึงทำการเพาะปลูกได้เพียงบางส่วนของประเทศโดยอาศัยระบบชลประทานที่ดีมาช่วย ดังนั้น การเลี้ยงสัตว์จึงเป็นกิจกรรมหลักทางการเกษตรที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ เพราะเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพทางธรรมชาติมากที่สุด


ความโดดเด่นของการเกษตรของออสเตรเลียเป็นดังต่อไปนี้


แกะเป็นสัตว์เลี้ยงที่เด่นที่สุดของออสเตรเลีย จึงทำให้ประเทศออสเตรเลียเป็นแหล่งเลี้ยงแกะที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยขนแกะสามารถนำไปแปรรูปเป็นเครื่องใช้ต่างๆ ได้ ในขณะที่เนื้อขานำมาเป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร และส่งออกไปทั่วโลก


มีระบบชลประทานที่ดีประเทศออสเตรเลียเพาะปลูกข้าวสาลีและข้าวเจ้า เพื่อบริโภคภายในประเทศและเป็นสินค้าส่งออก โดยอาศัยน้ำจากการชลประทานเข้าช่วยและมีการใช้เทคโนโลยีการเกษตร ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูง บางแห่งมีการเพาะปลูกในบริเวณแคบๆ ที่มีการจัดการเกี่ยวกับระบบชลประทานที่ดีเรียกว่า การเพาะปลูกแบบเข็ม (Intensive Cropping)


อุตสาหกรรมทางการเกษตรเนื่องจากประเทศออสเตรเลียมีทรัพยากรมาก ประชากรมีคุณภาพ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีเงินทุนสูง การอุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยส่วนมากเป็นอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมป่าไม้ อุตสาหกรรมแร่ธาตุและพลังงาน เป็นต้น


จากความโดดเด่นของการเกษตรประเทศออสเตรเลีย สะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐของประเทศออสเตรเลียมีวิสัยทัศน์ การวางแผนและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการเกษตรเป็นอย่างดี กล่าวคือ มีการสำรวจลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทรัพยากรแหล่งน้ำ ดิน แร่ธาตุ ป่าไม้ ไว้อย่างชัดเจน เพื่อสร้างข้อได้เปรียบให้เกิดเป็นจุดเด่นและจุดแข็งขึ้นมา มีการทำวิจัยเพื่อต่อยอดจากเกษตรกรรม เป็นอุตสาหกรรมทางการเกษตร และสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรขึ้นมา นอกจากนี้ ยังใช้งานวิจัยเป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหาจุดอ่อนของประเทศ เช่น ออสเตรเลียขาดแคลนแหล่งน้ำ ประเทศออสเตรเลียจึงสร้างระบบชลประทานที่ทำให้เกิดความคุ้มค่ากับผลผลิตทางการเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีการส่งน้ำที่มีการสูบเสียน้ำให้น้อยลง เป็นต้น นอกจากนี้สัดส่วนภาคการเกษตรของออสเตรเลียมีขนาดเล็ก ภาครัฐจึงสนับสนุนได้อย่างเต็มที่ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจต่อประเทศ


จากบทเรียนของออสเตรเลีย เราได้ข้อคิดที่น่าพิจารณาสำหรับภาคการเกษตรประเทศไทยหลายประการ เช่น 1) ปรับโครงสร้างภาคเกษตร โดยการลดแรงงานภาคการเกษตร และเพิ่มแรงงานด้านอุตสาหกรรมและบริการให้มากขึ้น ผ่านการพัฒนาการศึกษาของประชาชนในประเทศ 2) สำรวจและทำการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภูมิประเทศ ภูมิอากาศ แหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติของประเทศทั้งหมด ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ แร่ธาตุ 3) สร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงทางการเกษตรเพื่อเพิ่มทั้งคุณภาพและปริมาณในผลผลิตทางการเกษตร 4) สร้างและพัฒนาจุดเด่นของประเทศ ให้เป็นจุดแข็งและจุดแกร่งของโลก 5) การวางนโยบายภาครัฐ ควรวางอย่างมีวิสัยทัศน์ กำหนดขอบระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวให้ชัดเจน


การก้าวไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง โดยเฉพาะการพัฒนา เปลี่ยนแปลง และปรับเปลี่ยนสัดส่วนจากภาคเศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศ ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันเพื่อผลักดัน สนับสนุนให้เกิดการวิจัยและการพัฒนา (R&D) ในประเทศให้มากขึ้น มิฉะนั้น ประเทศจะวนอยู่ในอ่างของคำว่า “กับดัก” ต่อไป และไม่สามารถหลุดออกจากอ่างนั้นได้ในที่สุด และในบทความต่อไป ผมจะนำเสนอและลงรายละเอียดภาคการเกษตรของประเทศอื่น ๆ เพื่อสะท้อนให้ถึงจุดแข็งจุดเด่นในความแตกต่าง อันสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการเกษตรในประเทศไทยได้


โปรดติดตามต่อไปครับ