เมื่อ Baby Boomers ครองเมือง!

เมื่อ Baby Boomers ครองเมือง!

น่าตกใจไหม ถ้าประชากรบ้านเราทุก 4 คนมีคนสูงวัยอายุ 65 หรือแก่กว่านั้น 1 คน?

วันนี้ญี่ปุ่นเป็นอย่างนี้แล้ว และยิ่งวันก็ยิ่งน่าเป็นห่วงว่าคนที่เกิดใหม่ จะเลี้ยงดูคนที่สูงวัยแต่ไม่ยอมตายได้อย่างไร?

เป็นภาระทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่หนักหน่วงอย่างยิ่ง

ประเทศไทยเราก็กำลังเดินตามแนวทางนี้ และหากไม่เร่งหาทางออกป้องกันหายนะเอาไว้ก่อน จะกลายเป็นระเบิดเวลาที่เป็นอันตรายต่อสังคมไม่น้อย

สถิติทางการล่าสุดของรัฐบาลญี่ปุ่นบอกว่า 26% ของประชากรวันนี้มีอายุอย่างน้อย 65 หรือมากกว่านั้น

ปีที่ผ่านมาประชากรติดลบ 215,000 คนหรือเท่ากับ 0.17% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน

ประชากรทางการของญี่ปุ่น ณ วันที่ 1 ตุลาคมปีที่แล้วอยู่ที่ 127,083,000 คน

หรือลดน้อยลง 1 ล้านคนจากจุดสูงสุดเมื่อปี 2008

แปลว่าจากนี้ไปมีแต่จะลดลง และจะไปถึงจุดที่จำนวนประชากรต่ำจนเป็นปัญหาที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ทางการญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าภายในปี 2060 หรือจากนี้ไปอีก 45 ปี ประชากรของประเทศจะลดลงเหลือเพียง 86.74 ล้านคน

เมื่อถึงจุดนั้นเท่ากับว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศผู้นำ ด้านประชากรสูงวัยอันดับหนึ่งของโลก

มีการประเมินกันว่าหากญี่ปุ่นมีประชากรต่ำกว่า 100 ล้านจะมีผลต่อการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

หมายความว่าจำนวนและคุณภาพของคน ที่จะสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจของเขาจะค่อย ๆ ลดลง และยิ่งวันสถานภาพแห่งความเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ก็จะลดน้อยถอยลงอย่างน่ากังวลยิ่ง

เอาเฉพาะตัวเลขคนวัย 65 และสูงกว่านั้นก็จะเห็นได้ชัด

การสำรวจล่าสุดบอกว่าคนสูงวัยกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 1,102,000 คนไปอยู่ที่ทั้งหมด 33 ล้านคน

เป็นครั้งแรกที่คนแก่กลุ่มนี้มีจำนวนเป็นสองเท่าของคนวัย 14 หรือต่ำกว่านั้น

แต่ที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันคือสังคมไทย ตัวเลขล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า ไทยเรามีคนแก่มากที่สุดในอาเซียน

คนไทยอายุเกิน 65 ปีมีมากถึง 12.59%

ขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 12.25% เวียดนาม 8.53%

สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้ไทยเรากลายเป็นสังคมสูงวัยก่อนเพื่อน ๆ ในอาเซียนก็เพราะความก้าวหน้าทางแพทย์และสาธารณสุขทำให้อัตราการเกิดน้อยลง และประชากรมีอายุยืนยาวมากขึ้น

คาดว่าอีก 10 ข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็น สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ หรือ Aged Society

สังคมสูงวัยย่อมหมายถึงการที่คนหนุ่มคนสาวและกลางคนต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูคนสูงวัย และค่าใช้จ่ายสำหรับคนสูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เป็นภาระทางเศรษฐกิจ ที่ต้องวางแผนตั้งรับเอาไว้ล่วงหน้ามิฉะนั้น จะกลายเป็นประเด็นด้านสังคมที่หนักหน่วงไม่น้อย

กรมอนามัยคาดว่าในทศวรรษต่อไป อายุเฉลี่ยของคนไทยจะไม่น้อยกว่า 80 ปี และจะเปิดโครงการ อำเภอสุขภาพดี 80 ปียังแจ๋ว เพื่อส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของประชากรสูงวัย

แต่การจะตั้งรับ สังคมสูงวัย ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น หากแต่ยังเป็นประเด็นสำหรับทั้งสังคม เพราะโยงกับด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนนโยบายเรื่องอายุเกษียณของภาครัฐและเอกชน, การสร้างคนรุ่นกลางขึ้นมาทดแทน, การปรับระบบสาธารณสุขของประเทศ, แนวทางการบริโภคและการตลาดที่เปลี่ยนไป

เพราะวันนี้ก็เริ่มเห็นแนวโน้มในสังคมไทยแล้วว่า Baby Boomers หรือคนเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ทุกวันนี้เริ่มเข้าวัย 50 ถึง ผู้มีอายุ 70 กลายเป็นกลุ่มคนที่มีกิจกรรมคึกคัก ทั้งในด้านอาชีพงานการที่ไม่อาจจะเข้าข่าย เกษียณ เหมือนในอดีตอีกต่อไป

เมื่อคนสูงวัยส่งเสียงดังและยืนยันบทบาทของตนเองมากขึ้น คนรุ่นกลางรุ่นใหม่จะปรับตัวอย่างไร?