โจโฉแตกทัพเรือ

โจโฉแตกทัพเรือ

สามก๊ก คือ 1 ใน 4 สุดยอดวรรณกรรมคลาสสิคของจีน ซึ่งรวมถึง ซ้องกั๋ง - ไซอิ๋ว - ความฝันในหอแดง สามก๊ก (ซานกว๋อเอี้ยนหงี)

เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ แต่งโดยหลอกว้านจง ซึ่งมีชีวิตอยู่ปลายราชวงศ์หยวนถึงต้นราชวงศ์หมิง พิมพ์ครั้งแรกปีค.ศ. 1522 แต่ฉบับลายมือแพร่หลายไปก่อนหน้าแล้ว


หลอกว้านจงอาศัยเค้าโครงประวัติศาสตร์จาก “จดหมายเหตุสามก๊ก” (ซานกว๋อจื่อ) ของ เฉินโซว่ ซึ่งเดิมเป็นชาวจ๊กก๊ก ปีค.ศ. 263 จ๊กก๊กล่มสลาย เขากลายเป็นนายอาลักขณ์ในราชวงศ์จิ้น เฉินโซว่ได้รับมอบหมายให้ทำบันทึกประวัติศาสตร์สมัย 3 ก๊ก ซึ่งเขาใช้เวลากว่าสิบปีจึงสำเร็จ จดหมายเหตุนี้มีเนื้อหาถึง 65 เล่ม 360,000 ตัวอักษรจีน


ยุคสามก๊กเป็นปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25 - 220) เมื่อฮ่องเต้ไร้อำนาจที่แท้จริง แผ่นดินเข้าสู่กลียุค นิยมนับตั้งแต่กบฏโจรโพกผ้าเหลืองในปี 184 จากนั้นเกิดสงครามไปทั่ว เพราะขุนศึกแย่งชิงอำนาจกันเอง สามก๊กจริง ๆ (เฉินโซว่) นับตั้งแต่ปี 220 ที่โจผีปลดเหี้ยนเต้และตั้งตนเป็นฮ่องเต้ราชวงศ์เว่ย และสิ้นสุดในปี 280 เมื่อง่อก๊กล่มสลาย แผ่นดินถูกรวมเป็นหนึ่งภายใต้ราชวงศ์จิ้นของตระกูลสุมา


จดหมายเหตุสามก๊กบันทึกการศึกมากมาย แต่ที่ตื่นเต้นเร้าใจและเป็นครั้งสำคัญที่พลิกประวัติศาสตร์คือ “ศึกเช็กเพ็ก” หรือการศึกที่ผาแดงในแม่น้ำแยงซี ระหว่างวุ่ยก๊ก (โจโฉ) กับพันธมิตรง่อก๊ก (ซุนกวน) และจ๊กก๊ก (เล่าปี่) ซึ่งผลลัพธ์คือความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของวุยก๊ก ดังสรุปกันว่า “โจโฉแตกทัพเรือ” นั่นเอง


เพื่อมิให้สับสนในเนื้อหา ผู้เขียนขออ้างอิงบันทึกประวัติศาสตร์ “สือจี้ทุงเจี้ยน” ของ ซือหม่ากวง บทที่ 65 (ในศตวรรษที่ 11) ซึ่งกล่าวถึงจุดสำคัญที่ไม่ปรากฏในฉบับจดหมายเหตุและฉบับนิยาย


...ปี 208 เดือน 7 โจโฉยกทัพลงใต้ปราบเกงจิ๋วของเล่าเปียว เดือน 9 เมื่อยึดเกงจิ๋วได้แล้ว ก็รุกไล่ตามตีกองกำลังเล่าปี่ โดยจัดทัพใหญ่กว่า 2 แสนและทัพเรือนับพัน เตรียมถล่มง่อก๊กของซุนกวนที่เป็นพันธมิตรกับเล่าปี่


ในฤดูหนาว เดือน 10 วันกุยเว่ย (Guiwei) หรือวันแรกของเดือน ได้เกิดสุริยคราส


โจโฉแบ่งกำลังเป็น 2 ทัพ ทัพบกเคลื่อนจากทิศเหนือ ทัพเรือล่องตามแยงซีเกียงจากทิศตะวันตก แล้วตั้งค่ายฝั่งเหนือของแม่น้ำ จิวยี่ (กับทหาร 3 หมื่น) ตั้งค่ายทางฝั่งใต้ ทั้งคู่ยันกันที่ผาแดง เมื่อเป็นฤดูหนาว ม้าก็ขาดแคลนหญ้าทหารโจโฉที่เดินทัพมาไกล ก็ไม่คุ้นสถานที่และลมฟ้าอากาศ จึงป่วยเป็นโรคระบาดและล้มตายจำนวนมาก ส่วนที่เหลือก็เมาคลื่น โจโฉสั่งล่ามทัพเรือทั้งหมดเข้าด้วยกัน


อุยกายเมื่อได้เห็น จึงเสนอแผนโจมตีด้วยเพลิง แผนนี้ตรงใจจิวยี่ วันนั้น เกิดลมพายุจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ อุยกายนำเรือ 10 ลำ แสร้งสวามิภักดิ์โจโฉ เมื่อผ่านครึ่งแม่น้ำ ก็จุดไฟ-แล่นตรงเข้าหา ด้วยแรงลมพายุหนุนส่ง เพลิงจึงเผากองทัพเรือโจโฉหมดสิ้นจิวยี่ฉวยโอกาสโจมตีซ้ำ ถล่มค่ายจนราบเรียบ และบุกยึดพื้นที่เจียงหลิงต่อ เดือน 12 ซุนกวนข้ามแยงซี-บัญชาการรบด้วยตนเอง ตะลุยยึดเกงจิ๋วต่อเนื่อง...


ในนิยายบอกว่าลมตะวันออก แต่ประวัติศาสตร์กล่าวถึง “ลมตะวันออกเฉียงใต้” ทัพโจโฉอยู่ทิศเหนือและตะวันตก หวังได้เปรียบจากทิศทางลม ทั้งยังกล้าล่ามทัพเรือทั้งหมดเข้าด้วยกัน เมื่อต้องเผชิญลมพายุที่กลับทิศกะทันหัน จุดแข็งกลายเป็นจุดอ่อน ถูกเผาพินาศหมดสิ้น


วันที่เผาทัพเรือโจโฉไม่มีบันทึกเอาไว้ แต่จากข้อมูลประวัติศาสตร์ มันต้องเกิดขึ้นช่วงเดือน 10 - 11 ปมเงื่อนสำคัญให้สืบสาวต่อคือ สุริยคราสในวันกุยเว่ย-เดือน 10


ชาวจีนใช้ปฏิทินจันทรคติ ดังนั้น วันกุยเว่ย - วันแรกของเดือน ก็คือวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 10 ซึ่งเป็นวันจันทร์ดับ (อมาวสี) และถ้าจุดอมาวสีนั้นอยู่ใกล้ราหู ก็จะเกิดเป็นสุริยคราส


จากข้อมูลNASA พบว่า ปี 208 เดือนตุลาคม เกิดสุริยคราสขึ้นจริง ๆ ในวันที่ 27 เป็นสุริยคราส-ผสม (Hybrid) ที่ 11.2014 องศาเหนือ 137.1458 องศาตะวันออก คราสนี้ผ่านตอนใต้ของประเทศจีนพอดีโดยที่ผาแดงเห็นคราสตั้งแต่ 6:34 - 9:18 น. ซึ่งตรงกับข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ว่า เกิดคราสตลอดเช้า


สุริยคราส-ผสมคือคราสที่เป็นได้ทั้งแบบเต็มดวงและวงแหวน แล้วแต่การมองเห็นจากตำแหน่งบนผิวโลก คราสแบบผสมเกิดขึ้นยากมาก ทั้งศตวรรษที่ 3 เกิดขึ้นเพียง5ครั้งเท่านั้น ความสำคัญของสุริยคราสวันกุยเว่ยอีกประการคือ เป็นสุริยคราสผสมที่นานที่สุดของศตวรรษ (1 นาที 3 วินาที)


พิกัดภูมิศาสตร์ของผาแดงคือ 29:52:10.92 องศาเหนือ 113:37:13.08 องศาตะวันออก ซึ่งเห็นสุริยคราสครั้งนี้ได้บางส่วน เช่นเดียวกับนครฮูโต๋ที่เป็นเมืองหลวงของวุยก๊ก ก็เห็นแค่บางส่วนเช่นกัน คราสที่ผ่านพื้นที่สำคัญทั้ง 2 นี้ บ่งชี้ถึงเหตุการณ์ใหญ่ที่จะเกิดขึ้นตามมา


อันที่จริง วันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 208 ก็เกิดจันทรคราส-เงามัว (Penumbral) ด้วย แต่เห็นได้ในยุโรป - แอฟริกา - อเมริกาใต้เท่านั้น มองไม่เห็นในประเทศจีน จึงไม่ค่อยมีผลต่อศึกเช็กเพ็กเท่าใด


เมื่อผูกดวงสุริยคราส จุดคราสอยู่ที่ 4 องศา 49 ลิปดาในราศีพิจิก พิจิกเป็นภพที่ 8 (มรณะ) ของดวงโลก ซึ่งหมายถึงความตาย ความพินาศ เภทภัยทั้งปวง จุดคราสกุมอังคารสนิท ถือเป็น “อังคารดับร่วมคราส” ด้วย อังคารคือการต่อสู้ สงคราม เพลิง ฯลฯ อังคารยังกุมราหูสนิท บอกถึงลมพายุที่รุนแรง พิจิกคือราศีธาตุน้ำ ลมพายุจากน้ำ-บนน้ำ-พื้นที่ใกล้น้ำ


ลัคนาดวงคราสอยู่ที่ 1 องศา 23 ลิปดาในราศีมังกร เกาะวรโคตมนวางค์ ทั้งได้มุม 60 จากจุดคราสสนิทพอดี สุริยคราสครั้งนี้มีพลังรุนแรงมาก ทั้งยังมีดาวใหญ่ถึง 4 ดวง คือ พฤหัส-เสาร์-มฤตยู-พลูโต สถิตย์ในภพเกณฑ์ โดยเฉพาะมฤตยู (วรโคตมนวางค์) ทำมุม 90 กับลัคน์สนิทพอดี มฤตยูคือภัยธรรมชาติ อุบัติภัยที่คาดไม่ถึง ฯลฯทั้งหมดบอกถึงภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นกะทันหันและมีอำนาจทำลายล้างสูงมาก


มฤตยูเป็นดาวสำคัญมากในดวงเพราะอยู่ในภพ 10 มฤตยูเป็นดาวแห่งความพลิกผัน-เปลี่ยนแปลง พลิกผันคือฝ่ายกำลังมากกลับพ่ายแพ้ เปลี่ยนแปลงคือเกิดเป็นดุลกำลัง 3 ก๊กขึ้นในแผ่นดิน


สุริยคราสมีอิทธิพล (อย่างน้อย) 1 ปี แต่มีพลังเข้มข้นสุดช่วง +/- 1 เดือน โจโฉถูกเผาทัพเรือและพ่ายแพ้ย่อยยับหลังเกิดคราสไม่นาน จึงถูกต้องสอดคล้องกับหลักโหราศาสตร์แล้ว


มันสะท้อนว่า ฝ่ายโจโฉถือตัวว่าเหนือกว่ามาก จึงมองข้ามอิทธิพลดวงดาวและปัจจัยทางโหราศาสตร์ มิฉะนั้น เขาคงไม่กระทำการสุ่มเสี่ยงเช่นนี้ แต่ฝ่ายจิวยี่กลับมองเห็นและยึดกุมโอกาสไว้ได้ จึงได้ชัยชนะอย่างงดงาม


โหราศาสตร์ยิ่งใหญ่แค่ไหน ผู้เข้าถึงแก่นแท้เท่านั้นที่ตอบได้