‘โรฮิงญา’เป็นปัญหาโลกแตก

‘โรฮิงญา’เป็นปัญหาโลกแตก

ในช่วงนี้เรื่องราวของชาวโรฮิงญาเป็นข่าวพาดหัวรายวัน ปัญหาของชาวโรฮิงญาได้รับการวิเคราะห์และวิจารณ์จากหลายแง่มุม

แต่ดูจะยังไม่มีผู้ใดมองลึกลงไปถึงปัจจัยพื้นฐาน การมองเช่นนั้นน่าจะทำให้เห็นว่า “โรฮิงญา” เป็นปัญหาที่แทบไม่ทางออกแบบยั่งยืน


ปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งคล้ายกับเรื่องราวของชาวโรฮิงญาในปัจจุบันได้แก่ชาวแอฟริกันจำนวนมากพยายามข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจากลิเบียไปยังอิตาลี ความพยายามนั้นมักใช้วิธีเดียวกันกับชาวโรฮิงญา นั่นคือ จ่ายเงินให้นายหน้าเพื่อเป็นค่าที่นั่งในเรือเล็กบ้างใหญ่บ้างอย่างแออัด ในบางกรณี เรืออับปางก่อนถึงชายฝั่งอิตาลีส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากจมน้ำตาย ปัจจัยที่ทำให้ชาวแอฟริกันพยายามข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจากลิเบีย ทั้งที่ตรงจุดนั้นทะเลกว้างมากกว่าจุดอื่นได้แก่ลิเบียกำลังตกอยู่ในภาวะรัฐล้มเหลว นายหน้าจึงซื้อหาเรือและส่งผู้อพยพออกไปได้สะดวก


นอกจากจะเป็นเป้าหมายของชาวแอฟริกันแล้ว อิตาลียังเป็นเป้าหมายของผู้คนจากหลายประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวียและแอลบาเนียอีกด้วย นายหน้าที่พาผู้อพยพไปทางนี้มักใช้วิธีซื้อเรือบรรทุกเก่า ๆ และขายค่าที่นั่งให้หวังผู้อพยพ เมื่อเดินทางข้ามทะเลเอเดรียติกไปใกล้ฝั่งอิตาลี พวกนายหน้ามักพากันลงเรือเร็วหนีไปที่อื่น ปล่อยให้เรือของผู้อพยพลอยไปตามยะถากรรม อิตาลีเป็นเป้าหมายที่ได้รับความนิยมสูงมากเนื่องจากมีกฎหมายที่บังคับรัฐบาลให้รับผู้อพยพไว้จนกว่าจะพิจารณาว่าพวกเขาเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจริงหรือไม่ ในระหว่างที่อยู่ในการพิจารณานั้น ผู้อพยพเข้าออกจากที่พักพิงได้อย่างเสรี ส่วนหนึ่งจึงหนีไปยังประเทศอื่นในสหภาพยุโรปซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่แท้จริงของพวกเขาตั้งแต่ต้น


นอกจากจะพยายามข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้ว ชาวแอฟริกันยังพยายามใช้ทางบกผ่านอียิปต์และอิสราเอลอีกด้วย หากผ่านไปได้ กลุ่มนี้อาจร่วมเดินทางต่อไปกับชนชาติอื่นที่พยายามเดินทางข้ามตุรกีเพื่อเข้ายุโรปผ่านบัลแกเรียต่อไปยังโรมาเนีย ฮังการี ออสเตรียและเยอรมนี แต่ชาวแอฟริกันที่เลือกไปทางนี้มักล้มเหลวเนื่องจากอิสราเอลเข้มงวดมาก หากถูกจับได้ พวกเขามีทางเลือกสองทางคือ เดินทางกลับกับถูกขังคุกอยู่ในกลางทะเลทราย


เนื่องจากในช่วงสามปีมานี้มีผู้พยายามอพยพเข้ายุโรปผ่านเส้นทางดังกล่าวเพิ่มขึ้นจนถึงเกินครึ่งล้านคนต่อปี ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งรับภาระหนักอึ้งจึงพยายามหาทางป้องกันด้วยมาตรการต่าง ๆ ล่าสุด ประเทศเหล่านั้นตกลงใช้การทำลายเรือที่ตนคิดว่านายหน้าจะใช้ข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนก่อนเรือเหล่านั้นพาผู้โดยสารออกจากลิเบีย แต่มาตรการนั้นอาจถูกยับยั้งโดยสภาความมั่นคงขององค์การสหประชาชาติเนื่องจากรัสเซียแสดงท่าทีว่าไม่เห็นด้วยกับการเข้าไปรุกรานอธิปไตยของลิเบีย


ความพยายามข้ามทะเลเพื่อหวังไปตั้งต้นชีวิตใหม่เกิดขึ้นในทวีปอเมริกาด้วยเช่นกัน แต่ตอนนี้ไม่ค่อยเป็นข่าวบ่อยนักเนื่องจากจำนวนผู้พยายามมักเป็นกลุ่มเล็กและเรือที่ใช้ไม่อับปาง อาทิเช่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวคิวบา 50 คนถูกจับได้ก่อนเข้าไปถึงชายฝั่งรัฐฟลอริดาของสหรัฐ พวกเขาถูกส่งกลับ นอกจากนั้น นานๆ จะมีกลุ่มผู้พยายามข้ามทะเลแคริบเบียนจากเฮติลัดเลาะเกาะคิวบาเพื่อไปยังสหรัฐเช่นกัน แต่ความพยายามนั้นมักล้มเหลวเพราะเรืออับปาง หรือไม่ก็ถูกจับได้และส่งกลับ


เนื่องจากสหรัฐมีเขตแดนติดกับเม็กซิโกซึ่งเชื่อมต่อไปยังอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ผู้หวังเข้าไปทำงานและตั้งถิ่นฐานในสหรัฐและแคนาดาจึงพยายามเข้าทางเม็กซิโก ส่วนหนึ่งเดินทางโดยรถไฟจากหลายประเทศเข้าเม็กซิโกเพื่อข้ามเขตแดนเข้าสหรัฐเช่นเดียวกับชาวเม็กซิกันจำนวนมาก ส่วนหนึ่งไปกับนายหน้า อีกส่วนหนึ่งพากันไปเอง การข้ามเขตแดนเข้าสหรัฐนับวันจะยากขึ้นเนื่องจากสหรัฐสร้างกำแพงกั้นเขตแดนเสร็จแล้วและตรวจตราตลอดแนวอย่างเข้มงวด หากถูกจับได้ พวกเขาจะถูกกักขังและส่งกลับ


ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่อ้างถึงมีทั้งแรงดึงและแรงดันให้เกิดขึ้น แรงดึงได้แก่ประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางมีระดับการพัฒนาสูงกว่าประเทศต้นทาง หากเข้าไปในประเทศเหล่านั้นได้ ผู้อพยพย่อมมีโอกาสพัฒนาตนเองดีกว่าการอยู่ต่อไปในประเทศต้นทาง แรงดันมีทั้งด้านการเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในประเทศต้นทางซึ่งมักยากจน มีความฉ้อฉลสูงและประชาชนขาดโอกาสแบบเท่าเทียมกันในกระบวนการทางเศรษฐกิจและการเมือง การก่อให้เกิดแรงดันมักมีปัจจัยพื้นฐานร่วมกันอันได้แก่ความไม่สมดุลระหว่างจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงกับทรัพยากร ความไม่สมดุลนั้นนำไปสู่การแย่งชิงกันซึ่งแต่ละวันยิ่งเข้มข้น ความฉ้อฉลเป็นวิธีแย่งชิงวิธีหนึ่งซึ่งใช้กันอย่างกว้างขวาง ผู้ชนะกอบโกยทรัพยากรไปไว้ในกำมือของตน ปล่อยให้ผู้แพ้ยากจน ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำร้ายแรงยิ่งขึ้น


หากมองจากปัจจัยพื้นฐานของแรงดันผู้อพยพ มาตรการต่าง ๆ ที่กำลังใช้กันอยู่ย่อมแก้ปัญหาไม่ได้เพราะมิได้แก้ที่ต้นเหตุ ในขณะนี้ ต้นเหตุมีลักษณะเป็นประเด็นจำพวกโลกแตก นั่นคือ จำนวนคนล้นโลก การคำนวณของผู้เชี่ยวชาญสรุปว่า โลกมีทรัพยากรให้เราอยู่กันได้โดยไม่ต้องแย่งชิงกันประมาณ 2 พันล้านคน (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือเรื่อง One With Nineveh ซึ่งมีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) แต่ตอนนี้ โลกมีเกิน 7 พันล้านคนและยังเพิ่มขึ้นทุกวันโดยเฉพาะในประเทศต้นทาง ปัญหาจึงแก้ไม่ได้แบบยั่งยืนนอกจากจำนวนคนบนผิวโลกจะลดลงจนเกิดความสมดุลกับทรัพยากร