“Innobarometer” ปรอทวัดนวัตกรรม (1)

“Innobarometer” ปรอทวัดนวัตกรรม (1)

“นวัตกรรม” ไม่ใช่เป็นเรื่องของคำพูดเพราะๆ ที่ฟังดูดี แต่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ

Innobarometer เป็นเครื่องมือที่กลุ่มประเทศในสมาคมเศรษฐกิจยุโรป คิดค้นขึ้นมาสำหรับวัดระดับของ “นวัตกรรม” และติดตามพัฒนาการของการสร้างสรรค์นวัตกรรมในกลุ่มประเทศยุโรป 

โดยใช้หลักการของการสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่เป็นธุรกิจนวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วยุโรป โดยเป้าหมายของการสอบถามไม่ใช่เพื่อหาข้อมูลในเชิงข้อเท็จจริง แต่จะเป็นการสอบถามเชิงความรู้สึกและความคิดเห็นของผู้บริหารธุรกิจที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการสร้างนวัตกรรมของบริษัท เพื่อให้ได้ภาพรวมของการพัฒนาและระดับของนวัตกรรมในแง่มุมต่างๆ ที่สามารถนำมาแปลความหมาย และใช้เป็นบรรทัดฐานให้กับภาครัฐและภาคเอกชนได้นำข้อมูลมาใช้ในการกำหนดกลยุทธ์สร้างนวัตกรรมของตนเอง

ดังนั้น Innobarometer จึงเป็นเสมือน “ปรอท” สำหรับใช้วัดระดับของนวัตกรรม นั่นเอง

ประเทศในกลุ่มยุโรป ได้ใช้เครื่องมือนี้ติดต่อกันมาเป็นเวลานานแล้ว โดยจะทำการวัดประมาณปีละ 1 ครั้ง บางครั้งก็อาจยืดไปเป็นช่วง 2 ปีบ้าง

ผลที่ได้จากการวัด ก็มีความน่าสนใจในตัวมันเอง แม้ว่าจะเป็นภาพสะท้อนในบริบทของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจของยุโรปก็ตาม

ย้อนหลังไปประมาณ 10 ปี คือในปี 2005 ปรอทวัดนวัตกรรมของยุโรป ตั้งประเด็นไปที่การวัดความเข้าใจและความพร้อมของตลาดที่มีต่อผลของความพยายามสร้างนวัตกรรมของผู้ผลิตสินค้าหรือให้บริการ

ข้อมูลที่ได้รับทราบจากการวัดในปีนั้น ก็คือ ประชากรในยุโรป ประมาณ 16% ยอมรับว่าเป็นผู้ที่กลัวนวัตกรรมและปฏิเสธการยอมรับนวัตกรรมใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่มีวัย 55 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โดย 52% มีความเข้าใจว่า นวัตกรรมคือการนำเสนอสินค้าหรือบริการใหม่ อีก 39% เข้าใจว่านวัตกรรมคือการปรับปรุงสินค้าหรือบริการที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น

ในปีต่อมา คือปี 2006 ปรอทของกลุ่มประเทศ EU มุ่งไปวัดที่พฤติกรรมของผู้ผลิต โดยตั้งกรอบคำถามว่า การรวมกลุ่มของผลิตในรูปของ “คลัสเตอร์” จะสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ขึ้นได้หรือไม่

ซึ่งได้คำตอบว่า การรวมกลุ่มบริษัทเข้าในรูปของ “คลัสเตอร์” นั้น ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่จะช่วยส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี และพบว่า แนวคิดที่ว่า “คลัสเตอร์” จะทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นนั้น จะมีน้ำหนักน้อยกว่าประโยชน์ทางธุรกิจที่จะเกิดจากการสร้างนวัตกรรมมาก

ในปี 2007 ปรอทนวัตกรรมของยุโรป ชี้ไปที่พฤติกรรมและกระบวนการของ “การถ่ายทอดนวัตกรรม” โดยเท่าที่เราเคยได้ยินกันมาก็มีแต่เพียงคำว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยี เท่านั้น

ปรอทวัดให้ความสนใจไปที่กลุ่มธุรกิจที่ถือได้ว่ามีการทำนวัตกรรมค่อนข้างสูง ซึ่งได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ อัญมณีและเครื่องประดับ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมไม้แปรรูป โลหะหนัก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พลาสติก เภสัชกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ กระดาษ การผลิตและจัดส่งไฟฟ้า อุตสาหกรรมอาหาร การพิมพ์ ธุรกิจการกีฬา โลจิสติกส์และการขนส่ง เป็นต้น

ปรอทในปีนั้น ชี้วัดว่า หน่วยงานวิจัยและพัฒนาในบริษัท ไม่ได้เป็นแหล่งของการสร้างสวัตกรรมให้แก่บริษัทแต่เพียงอย่างเดียว บริษัทยังสามารถสร้างนวัตกรรมได้จาก “การถ่ายทอดนวัตกรรม” อีกด้วย

ในบริษัทที่มีการสร้างสร้างนวัตกรรมอย่างน้อย 1 รายการในปีที่ผ่านมา มีค่าใช้จ่ายสำหรับการวิจัยและพัฒนาภายในเพียง 20% เท่านั้น ค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือ เป็นการใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรม

และยังพบแนวโน้มที่สำคัญว่า บริษัทขนาดใหญ่ที่มีจำนวนพนักงาน 200 คนขึ้นไป จะมีอัตราการสร้างนวัตกรรมได้มากกว่าบริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงานไม่เกิน 20 คนประมาณ 3 เท่าตัว

ข้ามไปในปี 2009 ปรอทหันความสนใจไปที่แนวโน้มเชิงกลยุทธ์ในการสร้างนวัตกรรมของกลุ่มประเทศในยุโรป และได้จัดลำดับประเทศที่มีพัฒนาการด้านนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ออกเป็นกลุ่มๆ ดังนี้

กลุ่มผู้นำในการสร้างนวัตกรรม ได้แก่ เดนมาร์ค ฟินแลนด์ เยอรมัน สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ และอังกฤษ (เรียงตามลำดับอักษรในภาษาอังกฤษ)

กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนานวัตกรรมอย่างเข้มแข็ง ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์

กลุ่มประเทศที่มีการสร้างนวัตกรรมในบางส่วน ได้แก่ ไซปรัส เอสโทเนีย สโลเวเนีย สาธารณรัฐเช็ค กรีซ อิตาลี นอร์เวย์ ปอร์ตุเกส และสเปน

กลุ่มประเทศที่เริ่มให้ความสนใจ ได้แก่ บัลแกเรีย ฮังการี ลัตเวีย ลิธัวเนีย มอลตา โปแลนด์ โรมาเนีย และ สโลวาเกีย

แนวโน้มนวัตกรรมที่ตรวจจับได้ ได้แก่ 50% ของบริษัทในกลุ่มที่มีศักยภาพสามารถสร้างนวัตกรรมได้อย่างน้อย 1 เรื่องภายในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา

81% ระบุว่า ได้เน้นไปที่การทำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมการให้บริการ โดยในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม นอกจากการทำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แล้ว 46% บอกว่าได้มีการทำนวัตกรรมกระบวนการในการดำเนินธุรกิจด้วย ส่วนในกลุ่มธุรกิจให้บริการ 43% ระบุว่า ต้องพัฒนานวัตกรรมกระบวนการให้บริการควบคู่ไปด้วย

45% ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า มีการสร้างกลยุทธ์ใหม่ด้านการตลาด (นวัตกรรมการตลาด) ส่วนอีก 49% บอกว่า มีการพัฒนาการทำงานภายในเพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพ (นวัตกรรมการจัดการ) ที่ได้ผลดีขึ้นอย่างชัดเจน
เรื่องของปรอทวัดนวัตกรรมที่เป็นแนวคิดของกลุ่มประเทศยุโรป อาจทำให้เราหันกลับมามองแนวคิดในการทำนวัตกรรมของบ้านเรา เพราะคงจะมีเส้นทางที่เดินตามฝั่งยุโรปมาไม่มากก็น้อย

และยังได้เห็นในภาพกว้างระดับภูมิภาคว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว เขามีมุมมองในการผลักดันระบบนวัตกรรมของประเทศเช่นใด เหมือนหรือต่างกันแนวคิดของผู้บริหารประเทศเราอย่างไร

คิดว่ามีกระจกมาช่วยใช้ส่องดูตัวเราเอง ก็ดีเหมือนกัน!!