การประมงผิดกฎหมาย : ผลกระทบและทางออกสำหรับไทย?

การประมงผิดกฎหมาย : ผลกระทบและทางออกสำหรับไทย?

การประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ Illegal, Unregulated and Unreported (IUU) Fishing หรือการประมง IUU คืออะไร

“ใบเหลือง” IUU จากสหภาพยุโรปส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและอุตสาหกรรมประมงไทยหมายถึงอะไร และประเทศไทยมีทางออกหรือไม่ และเราควรเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้อย่างไร?


๐ การทำประมง IUU ในสายตาของสหภาพยุโรป


ปลาเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและเป็นแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์ หากไม่มีการบริหารจัดการทรัพยากรปลาและควบคุมดูแลการจับปลาอย่างยั่งยืนในมหาสมุทรแล้ว ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าทรัพยากรปลาจะไม่หมดไป สหภาพยุโรปมองว่าการทำประมง IUU เป็นการลดทอนและทำลายความยั่งยืนของทรัพยากรปลาและความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรทางทะเล จนเราอาจไม่มีเหลือให้รุ่นลูกรุ่นหลาน


สถิติชี้ว่า มีสัตว์น้ำที่จับได้มาจากการทำประมง IUU คิดเป็นร้อยละ 19 ของการจับสัตว์น้ำทั้งหมดในโลก คิดเป็นมูลค่าการค้าประมาณ 1 หมื่นล้านยูโร และมีสินค้าประมงที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมายที่นำเข้ามาสู่ตลาดสหภาพยุโรปประมาณปีละ 500 000 ตัน หรือมูลค่าประมาณ 1.1 พันล้านยูโร สหภาพยุโรปถือว่าการทำประมง IUU เป็นการกระทำที่ “ผิดกฎหมาย” เปรียบเสมือนการประกอบอาชญากรรมข้ามชาติเลยทีเดียว


ในฐานะที่เป็นตลาดหลักที่บริโภคและนำเข้าสินค้าประมงมากที่สุดในโลก สหภาพยุโรปจึงได้ตั้งประกาศปณิธานไว้อย่างแน่ชัดว่าจะไม่ซื้อหรือนำเข้าสินค้าที่มาจากแหล่งที่มีการทำประมง IUU กล่าวคือสินค้าประมงจากประเทศที่สามต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดตามกฎระเบียบ IUU ของสหภาพยุโรปเท่านั้นจึงจะสามารถส่งไปขายยังตลาดสหภาพยุโรปได้


เรื่อง IUU เกี่ยวข้องกับการทำประมงและเรือประมงเป็นเรื่องหลัก แต่ก็เกี่ยวพันกับความรับผิดชอบของผู้ประกอบการผู้ค้า ผู้ผลิต ผู้ส่งออกในธุรกิจและอุตสาหกรรมประมงทั้งหมดแบบตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งบทบาทที่สำคัญของภาครัฐของประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมงไปยังสหภาพยุโรปในฐานะ Flag, port, coastal และ market states ที่ต้องมีความรับผิดชอบในการควบคุมและตรวจสอบว่าการทำประมง IUU และปฏิบัติตามข้อกำหนดสากล อาทิ ของ UN, FAO, RFMOs


๐ อุตสาหกรรมประมงและการส่งออกสินค้าประมงไทย


ปัจจุบัน Fishery GDP ของไทยมีมูลค่าประมาณ 3,285 ล้านยูโร หรือประมาณ 1.14 แสนล้านบาท (114,975 ล้านบาท) ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตและแปรรูปสินค้าอาหารทะเลและประมง (รวมทั้งสินค้าสัตว์น้ำที่จับในทะเล และสัตว์น้ำเลี้ยง) อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี การส่งออกสินค้าประมงและอาหารทะเล (รวมทั้งสินค้าสัตว์น้ำที่จับในทะเล และสัตว์น้ำเลี้ยง) เป็นสินค้าส่งออกหลัก มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณร้อยละ 1.5 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย


ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาในเรื่องระบบการควบคุมคุณภาพสินค้าและด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหารแต่ประเทศไทยยังเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมงคุณภาพ มีมูลค่าเพิ่มและมีระดับความปลอดภัยของอาหารตามมาตรฐานสากลได้อย่างดี


๐ ปัญหาที่ประเทศไทยมิอาจเมินเฉย


แต่ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันผู้บริโภคและผู้ซื้อโดยเฉพาะผู้บริโภคยุโรปไม่ได้สนใจเฉพาะเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย และราคาเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสังคมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในการผลิตสินค้าเหล่านั้นอย่างมากประเด็นปัญหาที่ประเทศไทยกำลังถูกจับตามองมากจากนานาชาติและกลุ่ม NGOs อย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นประเด็นด้านสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยมี 2 ประเด็นปัญหาหลักได้แก่ 1) การทำประมง IUU ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการทำประมงอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมประมง และ 2) การใช้แรงงานงานและสวัสดิการของแรงงานในอุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะบนเรือประมงซึ่งเกี่ยวพันกับประเด็นการค้ามนุษย์ และแรงงานต่างด้าวซึ่งเรื่องนี้ต้องแยกแยะออกจากเรื่องการทำประมง IUU (ที่ไทยได้ใบเหลือง) ว่าเป็นคนละเรื่อง คนละปัญหากัน แม้จะมีความเกี่ยวโยงกันอยู่บ้างอย่างละเอียดอ่อน


๐ “ใบเหลือง” IUU มีผลกระทบต่อไทยอย่างไร


เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2558 สหภาพยุโรปได้ประกาศให้ใบเหลืองประเทศไทยเกี่ยวกับการทำประมง IUU แม้ไทยจะดำเนินการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปมากแล้ว แต่สหภาพยุโรปเห็นว่ายังไม่เพียงพอ…


ใบเหลืองหมายถึงว่าสหภาพยุโรปกำหนดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะถูกจัดให้เป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ (possibility of identifying as non-cooperating country) ภายใต้กฎระเบียบ IUU ของสหภาพยุโรปใบเหลืองถือว่าเป็นเพียงประกาศเตือน และ ณ วันนี้ยังไม่มีผลต่อการระงับการนำเข้าสินค้าประมงที่จับโดยเรือไทยที่ส่งไปขายในตลาดสหภาพยุโรปแต่อย่างใด ซึ่งสหภาพยุโรปให้ระยะเวลาประเทศไทยในการปรับปรุงแก้ไขภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ได้รับการแจ้งขึ้นบัญชีอย่างเป็นทางการ


ในช่วง 6 เดือนหลังจากได้ใบเหลืองนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยการให้ความร่วมมือกับสหภาพยุโรปที่จะเข้ามาช่วยไทยแก้ไขปัญหาการประมง IUU และปัญหาด้านประมงอื่นๆ ที่เรื้อรังมานาน เพื่อเป้าหมายในการสร้างระบบการบริหารจัดการประมงไทยให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้นไปอีก ล้วนเป็นการสร้างสรรค์เรื่องดีๆ สำหรับประเทศไทยในการยกระดับมาตรฐานการประมงไทยให้ได้มาตรฐานสากล ที่สำคัญ การแก้ไขปัญหาการประมงครั้งนี้ควรต้องทำอย่างรอบคอบ รัดกุม เป็นการแก้ไขปัญหาแบบยกเครื่องให้สมบูรณ์ทั้งระบบ


หลังจากได้ใบเหลืองมา ไทยได้เปิดการหารือกับสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการซึ่งหมายถึงการรับพิจารณาแผนปฏิบัติการที่สหภาพยุโรปเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา ส่วนสหภาพยุโรปจะมาช่วยประเมินผลการปฏิบัติการหากเป็นที่น่าพอใจก็สามารถพิจารณาให้ใบเขียว หรือหากยังต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาเพิ่มอาจมีการต่ออายุใบเหลืองออกไปอีก 6 เดือนก็ได้เพื่อให้ดำเนินการปรับปรุงต่อไป


หากในกรณีที่ได้ใบแดง หมายถึงการที่สหภาพยุโรปพิจารณาให้ประเทศใดประเทศหนึ่งถูกจัดให้เป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ (list of non-cooperating country) ตามกฎระเบียบ IUU ซึ่งมีผลให้มีระงับการนำเข้าสินค้าประมงที่จับจากเรือประมงที่ชักธงของประเทศนั้น การได้ใบเหลืองมิได้หมายความว่าจะต้องนำไปสู่ใบแดงเสมอไป แต่หากประเทศสามารถปรับปรุงและแก้ไขปัญหาได้ก็จะได้ใบเขียว ยกตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่งเพื่อหลุดจากใบเหลืองเป็นใบเขียว ส่วนฟิลิปปินส์ใช้เวลาประมาณ 1 ปี เช่นกัน โดยประเทศทั้งสองได้เปิดการหารือกับสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ และได้มีการแก้ไขกฎหมายและมีการปฏิรูประบบการบริหารการจัดการประมงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามข้อเสนอแนะของสหภาพยุโรปตามกฎระเบียบ IUU และข้อกำหนดระหว่างประเทศ


๐ หากไทยได้ใบแดงจะส่งผลกระทบต่อการค้าสินค้าประมงประเภทใดบ้าง?


หากในกรณีที่ได้ใบแดง (เน้นว่าปัจจุบัน ยังไม่เกิดขึ้น) สินค้าประมงทุกประเภทที่จับโดยเรือที่ชักธงไทยจะได้รับผลกระทบ จะถูกระงับการนำเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป ยกเว้นรายการสินค้าที่ได้รับการยกเว้นตาม Annex I อาทิ สินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการเพาะเลี้ยงหรือ Aquaculture ได้แก่ กุ้งเลี้ยง ปลานิล และปลาสวยงาม สำหรับสินค้าประมงและประมงแปรรูปที่พิกัดภาษีอยู่ภายใต้กฎระเบียบ IUU (กล่าวคือไม่ได้จัดอยู่ในรายการยกเว้น) และมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพื่อแปรรูปในประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบ อาทิ สินค้าทูน่าประป๋องโดยประเทศไทยจะต้องดำเนินการปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สหภาพยุโรปเชื่อมั่นให้ได้ว่าจะไม่มีการปะปนของสินค้าสัตว์น้ำที่จับโดยเรือ IUU เข้ามาในห่วงโซ่อุปทานการผลิตเนื่องจากตามกฎระเบียบ IUU หากประเทศสหภาพยุโรปไม่มั่นใจในระบบการตรวจสอบย้อนกลับของประเทศผู้ส่งออก ประเทศสมาชิกฯ ก็สามารถปฏิเสธการนำเข้าสินค้าดังกล่าวได้เช่นกัน


๐ ทางออกของประเทศไทย?


การต่อสู้กับการทำประมง IUU เป็นความท้าทายใหม่สำหรับประเทศไทยในฐานะผู้ผลิต แปรรูป และส่งออกสินค้าประมงสู่ตลาดโลกนอกจากภาครัฐไทยจะต้องพัฒนาระบบการบริหารจัดการประมงให้ดีขึ้นที่จะสามารถควบคุม ตรวจสอบ และมีบทลงโทษสำหรับการทำประมง IUU ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ความซับซ้อนของอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลไทยที่มีการนำเข้าวัตถุดิบต่างประเทศ ซึ่งได้แก่การนำเข้าสัตว์น้ำที่จับจากเรือที่ชักธงไทยหรือธงต่างชาติ) เพื่อนำมาแปรรูปและส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปและตลาดโลก (ยกเว้นสินค้าสัตว์น้ำเลี้ยง อาทิ กุ้งเลี้ยง) ยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหาและการควบคุมการทำประมง IUU ของไทยเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายยิ่งขึ้น


มาตรการแก้ไขปัญหาที่สหภาพยุโรปหยิบยกให้ไทยพิจารณาดำเนินการแก้ไขด้วยความร่วมมือกับสหภาพยุโรปนั้นมีหลายเรื่อง ตั้งแต่การมีกรอบกฎหมายที่ครอบคลุมเรื่อง IUU มีการบังคับใช้กฎหมายและมีบทลงโทษที่ศักดิ์สิทธิ์และเข็ดหลาบการจัดระเบียบเรือประมงเข้าสู่ระบบการควบคุมได้อย่างถูกต้องมีมาตรการควบคุมและเฝ้าระวังการประมง IUU ที่มีประสิทธิภาพขึ้นไปจนถึงการพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ของสินค้าประมงที่สหภาพยุโรปเชื่อมั่นได้ว่าจะไม่มีความเสี่ยงที่วัตถุดิบมาจากการทำประมง IUU อาจเข้ามาปะปนในห่วงโซ่การผลิตในประเทศไทยและส่งออกไปสหภาพยุโรป


ใบเหลือง IUU จากสหภาพยุโรปไม่ถือว่าเป็นข่าวร้าย แต่กลับเป็นโอกาสดีที่จะร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการแก้ไขปัญหาประมงไทยอย่างจริงจังแบบยกเครื่อง ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการประมงของไทยให้มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนยิ่งขึ้น รักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และให้เป็นไปตามข้อกำหนดสากลและของสหภาพยุโรปให้มากขึ้นไปอีก ให้สมกับการเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมงอันดับหนึ่งของโลก หากทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อแก้ไขปัญหาครั้งนี้เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถหลุดจากใบเหลืองได้อย่างแน่นอนได้ในไม่ช้า


-------------------
ดร. อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.eu หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd