ผู้ว่าฯ ลอนดอน ไม่ยอมเอามักกะสันไปทำสวน

ผู้ว่าฯ ลอนดอน ไม่ยอมเอามักกะสันไปทำสวน

ไม่เฉพาะผู้ว่าราชการหรือนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนนะครับ ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง หรือนายกเทศมนตรีเซี่ยงไฮ้

นายกฯ กรุงโตเกียวก็ไม่บ้า ไม่ยอมเอาพื้นที่อย่างนี้ไปทำสวนสาธารณะอย่างแน่นอน!


ในขณะนี้มีกลุ่มสนับสนุนจะเอาพื้นที่มักกะสันประมาณ 490 ไร่ ไปทำสวนสาธารณะ บอกว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ ผมกลับไม่มั่นใจเพราะรัฐบาลต้องใช้เงินมหาศาลถึง 80,000 ล้านบาทจากภาษีอากรของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เป็นสิ่งที่ต้องคิดหนักเพราะเท่ากับเป็นการเบียดบังคนส่วนใหญ่ของประเทศมาเพื่อคนกรุงบางส่วน เพราะคนกรุงส่วนใหญ่คงไม่ได้มาใช้บริการสวนแห่งนี้ เป็นการสร้างความแตกแยกให้กับคนในชาติ เพราะดูคล้ายเอาใจแต่เฉพาะคนกรุงบางส่วน และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์เพิ่มมูลค่าทรัพย์ส่วนให้กับนายทุนที่ดินโดยรอบสวน


เงินจำนวนนี้สามารถสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาได้นับสิบแห่ง สร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้ทั้งเส้น สร้างทางด่วนอุดรรัถยา-อยุธยา ระยะทาง 42 กิโลเมตรได้เกือบ 3 เท่า สร้างทางหลวงพิเศษบางปะอิน-สระบุรี ระยะทาง 196 กิโลเมตรได้ หรือสร้างถนนไร้ฝุ่นในชนบทได้เกือบ 10,000 กิโลเมตร จึงนับว่าน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่เอาเงินไปใช้อย่างไม่คุ้มค่า


เราจึงควรมาดูประสบการณ์ของมหานครอื่นๆ ทั่วโลกบ้างว่าเขาทำกันอย่างไรบ้าง สำหรับที่ดินแบบนี้ เผื่อจะได้เป็นบทเรียนและแบบอย่างในการคิดให้ทะลุปรุโปร่ง เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทย ไม่ใช่เฉพาะนายทุน โดยเฉพาะนายทุนที่จะได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินของตนเพิ่มมูลค่ากันเต็มๆ หลังจากการแปลงพื้นที่นี้เป็นสวนสาธารณะ


ลอนดอน เขาไม่เอาไปทำสวนอย่างแน่นอน มีที่ดินผืนงามอยู่ขนาดใหญ่อยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเทมส์ รวมพื้นที่ 529 เอเคอร์ (1,338 ไร่ หรือ 2.14 ตารางกิโลเมตร) ชื่อ London Docklands ซึ่งเป็นเสมือนท่าเรือคลองเตยของไทยเรานั่นเอง ถ้าคิดแบบไทยๆ ก็คงเอาไปทำสวนสาธารณะแล้ว แต่ผู้บริหารกรุงลอนดอนไม่ “บ้าจี้” ไปด้วย เขาเอาที่ดินแปลงนี้ไปทำในเชิงพาณิชย์ ได้เงินเข้าหลวงมหาศาล


ในกรุงลอนดอนยังมีย่านศูนย์กลางการเงิน อยู่บริเวณถนน Leadenhall และบริเวณใกล้เคียง ไม่ห่างไกลจากศูนย์กลางประวัติศาสตร์ของกรุงลอนดอน ใช้เวลาเดินไม่กี่นาทีเท่านั้น ปรากฏว่า เขานำที่ดินนี้มาพัฒนาใหม่เป็นอาคารสมัยใหม่ รูปร่างอาคารสวยแปลกตา ถ้าเป็นในกรุงเทพมหานครคงสร้างไม่ได้ เพราะถูกจำกัดความสูง ถูกจำกัดพื้นที่ในการก่อสร้าง จนต้องปล่อยให้กรุงเทพมหานครดูหลวมๆ แต่เมืองกลับไปโป่งพองรอบนอก ทำให้สาธารณูปโภค สาธารณูปการต่างๆ ต้องขยายออกสู่นอกเมืองอย่างมีที่สิ้นสุด


เซี่ยงไฮ้ เอาท่าเรือ โรงงานเก่ามาทำเวิลด์ เอ็กซ์โป ท่านที่เคยไปเที่ยวงานเวิลด์ เอ็กซ์โปเมื่อ 5 ปีก่อน (พ.ศ.2553) ณ นครเซี่ยงไฮ้ คงจะทราบว่า พื้นที่ก่อสร้างโครงการนี้ตั้งอยู่บนที่ดินที่แต่เดิมเป็นย่านโรงงานเก่า มีขนาดถึง 5.28 ตารางกิโลเมตร (3,300 ไร่) แต่ตอนนี้ถดถอยแล้ว ไม่สามารถปล่อยให้เป็นอาคารท่าเรือหรือโรงงานได้อีกต่อไป และเขาก็คงไม่ “โง่” ถึงขนาดจะรักษาอาคารคล้ายโรงซ่อมรถไฟเก่า หรือโกดังเดิม ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นแบบ “คนตายขายคนเป็น” หรือมุ่งให้เป็น “จระเข้ขวางคลอง” กันการพัฒนาใหม่ๆ


หลังจากรื้ออาคารเก่าๆ มาสร้างเป็นพื้นที่จัดงานเวิลด์ เอ็กซ์โปแล้ว ตอนนี้อาคารเหล่านั้นก็ถึงเวลารื้ออีกรอบเพื่อพัฒนาใหม่ โดยทางเซี่ยงไฮ้ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาใหญ่จากต่างประเทศมาออกแบบการพัฒนาใหม่เลยทีเดียว โดยองค์ประกอบหลักของพื้นที่นี้ได้แก่ส่วนของโรงแรม สำนักงาน ศูนย์การค้า นันทนาการและบันเทิงต่างๆ และก็แน่นอนต้องมีพื้นที่สีเขียวอยู่บ้าง แต่ใช่ว่าจะเอาพื้นที่แสนแพงใจกลางเมืองมาทำสวนแต่อย่างใด


สนามบินไคตักเก่าบนเกาะฮ่องกงก็ไม่ยอมกลายเป็นสวน หลังจากสนามบินแห่งนี้ปิดตัวลงในปี 2541 ทางการฮ่องกงก็พยายามกำจัดมลพิษต่างๆ กันขนานใหญ่ เพื่อเตรียมนำที่ดินแปลงนี้มาพัฒนา ที่ดินแปลงนี้ตั้งอยู่ฝั่งเกาลูนของเขตฮ่องกง ซึ่งถือว่าอยู่ใจกลางเมือง ถ้าคิดแบบไทยๆ ก็คงเอาไปทำสวน (อีกแล้วครับท่าน) แต่ฮ่องกงเขามีวิสัยทัศน์กว่านั้นมาก เขานำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ คล้ายที่เซี่ยงไฮ้ โดยมีทั้งโรงแรม อาคารสำนักงานทั้งของรัฐและเอกชน ศูนย์การค้า ห้องชุดหรูเลิศขายให้กับคนรวยๆ (เพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศ)


นครนิวยอร์กกับเซ็นทรัลพาร์ค ผู้ที่อยากได้สวนสาธารณะใจกลางกรุงฝันถึงสวนเซ็นทรัลพาร์ค ใจกลางมหานครนิวยอร์ก ผมเข้าไปที่นี่เป็นวันๆ หลายๆ ครั้ง ก็รู้สึกประทับใจกับการมีสวนใจกลางเมืองเหมือนกัน แต่เขาไม่ได้เพิ่งเอาที่ใจกลางเมืองมาสร้างนะครับ สวนแห่งนี้สร้างเมื่อ 158 ปีก่อน ในขณะสร้างนั้นยังเป็นที่เลี้ยงสัตว์ พื้นที่ว่างเปล่าที่อยู่ไกลโพ้น ผู้คนส่วนใหญ่ยังอยู่ในเขตธุรกิจใจกลางเมือง (Downtown) อยู่เลย เท่ากับเอาที่ชานเมืองมาสร้าง และภายหลังเมืองจึงขยายตัวมาล้อมรอบ และถูกใช้เป็นแหล่งเก็บน้ำประปามานานถึง 131 ปี ก่อนเลิกใช้ในปี 2536 นี่เอง


เคแอลเซ็นทรัล (KL Sentral) ใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่นี่ใกล้เคียงกับพื้นที่มักกะสันของกรุงเทพมหานคร มีขนาดประมาณ 200 ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเลย ปรากฏว่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเดินรถ เขามุ่งไว้พัฒนาเพื่อการพาณิชย์ เช่น ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงแรมชั้นหนึ่ง แทบไม่มีพื้นที่ไหนใช้เพื่อการเป็นส่วนแต่อย่างใดเลย ที่ดินมูลค่าสูงเช่นนี้ จะนำไปใช้สอยโดยไม่เห็นค่า ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ เอะอะก็อ้างสิ่งแวดล้อมส่งเดช คงไม่ใช่วิสัยของอารยชนทั่วโลก


อดีตค่ายทหารกลายเป็นศูนย์การค้ากลางกรุงมะนิลา ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือในกรุงมะนิลาเขาปรับเปลี่ยนค่ายทหารหลายต่อหลายแห่ง มาเป็นศูนย์การค้า เพราะทำเลที่ตั้งดีมาก อยู่ใจกลางเมือง เพื่อนๆ ชาวฟิลิปปินส์ของผม กล่าวอย่างติดตลกว่า ก็ดีเหมือนกันจะได้ป้องกันการทำรัฐประหาร แต่ความจริงแล้วถือเป็นวิสัยทัศน์สำคัญในการวางแผนพัฒนาเมืองอย่างเป็นระเบียบ ยิ่งพัฒนาใจกลางเมืองให้สูงๆ สวยๆ เขียวๆ ได้มากเท่าไหร่ เมืองก็จะไม่ขยายตัวออกไปสู่ชานเมือง พื้นที่เกษตรกรรมก็จะไม่ถูกทำลาย เรากลับจะยิ่งรักษาพื้นที่สีเขียวได้มากกว่าเดิมเสียอีก


ข้อคิดส่งท้ายก็คือ ถ้าเอาที่ดินมักกะสันไปทำสวนสาธารณะ ก็จะเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง คล้ายๆ กับการเอารถถังไปไถนา เป็นอะไรทำนองนั้น ท่านทราบหรือไม่ค่าบำรุงรักษาสวนสาธารณะ ที่ทุกวันนี้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบนั้น เขาใช้เงินดูแลสวนถึง 1,264 ล้านบาทต่อปี นี่เรายังไม่ได้คิดต้นทุนค่าเนรมิตพื้นที่มักกะสันให้สวนแสนสวยอีกนับพันล้านกระมัง


เมื่อสร้างเสร็จคนบางนา บางเขน บางแค บางขุนเทียน บางพลัด บางโพงพาง ฯลฯ ที่อยู่ห่างไกลออกไปก็คงไม่ได้ไปใช้อยู่ดี คนได้ประโยชน์ก็คงเป็นนายทุน เจ้าของที่ดินโดยรอบ ไทยเรายังไม่มีระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงเกิดความลักลั่นได้เปรียบเสียเปรียบกัน เพราะมูลค่าทรัพย์ของผู้ที่อยู่ใกล้สวนคงพุ่งสูงมหาศาล แต่เราก็ไม่ได้เก็บภาษีอะไรกับพวกเขาเลย


ถือว่าพวกเขาถูกหวย แต่คนกรุงอื่น และโดยเฉพาะคนภูธร ต้องแบกหนี้จ่ายภาษีจนหลังอาน ให้คนได้ประโยชน์ส่วนน้อยนิดเหล่านี้ ได้เสวยสุขกันครับ โลกช่างโหดร้ายจริงๆ ครับ