โหราศาสตร์กับกลยุทธ์

โหราศาสตร์กับกลยุทธ์

“ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมแล้ว รอแต่ลมตะวันออก”

นี่คือประโยคอมตะที่นักกลยุทธ์ โดยเฉพาะผู้ศึกษาพิชัยสงครามจีน ต้องรู้จักและเข้าใจอย่างลึกซึ้ง คมวาทะนี้มาจาก “สามก๊ก” ตอน “ศึกเช็กเพ็ก (ผาแดง)” หรือ “โจโฉแตกทัพเรือ” นั่นเอง


ตลอดยุคสามก๊กกว่าร้อยปี มีการศึกนับครั้งไม่ถ้วน แต่ที่นักประวัติศาสตร์ยกย่องว่า เป็นการศึกครั้งสำคัญ เป็นการศึกที่พลิกผันประวัติศาสตร์ มีเพียง 5 ครั้งศึกเช็กเพ็กคือ 1 ใน 5 ครั้งนั้น !


ที่ว่าการศึกสำคัญก็เพราะ (1) ทั้ง 2 ฝ่ายต่างทุ่มเทกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก ถือเป็นการศึกที่มีเดิมพันมหาศาล (2) ขุมกำลังทั้ง 2 ฝ่ายแตกต่างห่างไกลกันมากฝ่ายมากมีกำลังมากกว่าฝ่ายน้อย 5 - 10 เท่าแต่ชัยชนะกลับตกเป็นของฝ่ายกำลังน้อยถือเป็นการศึกที่ “ใช้น้อยชนะมาก” อย่างแท้จริง


(3) เพราะคนน้อยชนะคนมาก ปัจจัยชี้ขาดจึงอยู่ที่สติปัญญา การใช้สติปัญญาสำคัญกว่าการใช้กำลัง กลยุทธ์สำคัญกว่าจำนวนไพร่พลนี่คือสุดยอดการศึกที่ทุกคนยกย่อง (4) เมื่อผู้อ่อนแอชนะผู้เข้มแข็ง ทิศทางของประวัติศาสตร์ย่อมเปลี่ยนแปลงไป


ดุลกำลัง 3 เส้าจึงปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนยุคสมัยของสามก๊กที่แท้จริง เริ่มต้นตั้งแต่เสร็จการศึกครั้งนี้


การศึกที่เอาชนะกันด้วยสติปัญญาขั้นสูงเยี่ยงนี้ ลมตะวันออกเกี่ยวข้องอะไรด้วย ?


นับตั้งแต่ฉินซีฮ่องเต้ปราบ 6 แคว้นใหญ่และผนวกรวมเข้ากับแคว้นฉิน ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดยุคจ้านกว๋อ (Warring States 403 - 221 B.C.) ที่แผ่นดินแตกแยกและระอุด้วยไฟสงคราม และถือเป็นจุดกำเนิดประเทศจีนนั้นศูนย์รวมอำนาจหรือศูนย์กลางการเมืองการปกครอง ล้วนอยู่ในดินแดนภาคเหนือ


เมื่อถึงปลายราชวงศ์ฮั่น ฮ่องเต้ปราศจากอำนาจที่แท้จริง ขุนศึกทั้งหลายตั้งตนเป็นใหญ่-ช่วงชิงอำนาจกัน เกิดศึกสงครามไปทั่ว


โจโฉที่แม้ไม่ได้เกิดจากตระกูลใหญ่ แต่ก็มากด้วยสติปัญญาความสามารถ โดยเฉพาะการใช้คน หลังจากชนะอ้วนเสี้ยวในศึกกัวต๋อ ก็สถาปนาขุมกำลังของตนเอง ครอบครองดินแดนภาคเหนือ หรือ “วุยก๊ก” นั่นเอง


เป้าหมายถัดไปของโจโฉที่ต้องการรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียว ก็คือรุกลงสู่ทางใต้ คุกคามง่อก๊กของซุนกวน พร้อมทั้งฉวยโอกาสปิดล้อมทำลายกองกำลังของเล่าปี่ในคราเดียวกัน


แต่ง่อก๊กได้เปรียบที่มีแม่น้ำแยงซีขวางกั้นโจโฉจึงระดมไพร่พลนับล้าน พร้อมกองทัพเรือขนาดใหญ่นับพันด้วยสถานการณ์ที่บีบคั้นและสายตายุทธศาสตร์ที่ยาวไกลของจิวยี่-ขงเบ้ง ง่อก๊กและจ๊กก๊กตกลงเป็นพันธมิตรร่วมกันในการต่อสู้กับกองทัพโจโฉ


แม้เป็น 2 สู้ 1 แต่ขุมกำลังก็ด้อยกว่าหลายเท่าถ้าปะทะซึ่งหน้า ต้องพ่ายแพ้ย่อยยับจะสู้ศัตรูที่ร้ายกาจขนาดนี้ ไม่เพียงอาศัยความกล้า แต่ต้องกอปรด้วยสติปัญญา ต้องพึ่งพากลยุทธ์ที่ลึกล้ำ


ด้วยเหตุนี้ แม้เปลือกนอกทั้ง 2 ฝ่ายต่างคุมเชิงกันอยู่ แต่ภายในเบื้องลึกแล้ว ต่างก็ชิงไหวชิงพริบในการวางแผน-กำหนดกลยุทธ์อย่างเข้มข้น


ในที่สุด จุดเปลี่ยนก็มาถึง ไพร่พลโจโฉเป็นชาวเหนือ อยู่บนเรือนาน ๆ ก็แพ้คลื่น กอปรกับเดินทัพมาไกล ร่างกายอ่อนแอ เมื่อเจอสภาพอากาศทางใต้ จึงเกิดโรคระบาด-ป่วยตายจำนวนมาก โจโฉจึงสั่งให้ใช้โซ่ล่ามเรือทั้งหมดเข้าด้วยกัน


คำสั่งนี้สร้างความตื่นตระหนกยิ่งนัก เพราะหากง่อก๊กโจมตีด้วยไฟ กองทัพเรือทั้งหมดจะพินาศสิ้น โจโฉกล่าวว่า “ท่านไม่ทันความคิดเรา ช่วงเวลานี้เป็นฤดูลมตะวันตก หากจะเผาทัพเรือ ลมย่อมพัดเอาไฟย้อนกลับไปเผาเมืองกังตั๋งราพณาสูรไปเสียก่อน”


โจโฉไม่ใช่คนโง่ เขารู้ว่าจุดอ่อนคืออะไรและปิดจุดอ่อนนั้นเสีย แต่เขาก็พลาดจนได้ แม้เป็นฤดูลมตะวันตก แต่เพียงวันเดียวที่ธรรมชาติแปรปรวน จิวยี่ที่ซุ่มซ่อนแผนการ-ตระเตรียมกำลังพลพร้อมสรรพ ก็ฉวยโอกาสที่ลมเปลี่ยนทิศ โจมตีด้วยไฟ เผากองทัพเรือโจโฉพินาศหมดสิ้น


จุดพลิกผันแพ้ชนะอยู่ที่ “ลมตะวันออก” นี้เอง


คำถามสำคัญคือ จิวยี่-ขงเบ้งรู้ได้อย่างไรว่า จะเกิดลมตะวันออก ?


โจโฉที่เป็นชาวเหนือยังรู้จักฤดูลมตะวันตก แสดงว่ามีกุนซือชาวใต้ร่วมอยู่ด้วย ความรอบรู้ในภูมิอากาศและภูมิประเทศ เป็นเงื่อนไขของชัยชนะอยู่แล้ว จุดสำคัญอยู่ที่ “รู้ลึกซึ้ง” เพียงใดต่างหาก


ใน “ตำนานสามก๊ก (ซานกว๋อเอี้ยนหงี)” บรรยายว่า ขงเบ้งทำพิธีเรียกลมพายุ นั่นเป็นเรื่องแต่ง ในความเป็นจริง ขงเบ้งคงสั่งฟ้าสั่งฝนไม่ได้แน่


จะรู้ความแปรปรวนของธรรมชาติได้ ต้องคุ้นเคยกับพื้นที่ แต่ถ้าถึงขั้นกำหนดวันเวลา ทางเดียวที่ทำได้คือดูจากดวงดาวหรือรู้ได้จากโหราศาสตร์!


การศึกษาศาสตร์การทหาร-การปกครองในสมัยโบราณ ไม่เพียงมุ่งเน้นที่พิชัยสงคราม แต่ยังรวมถึงโหราศาสตร์ ในฐานะศาสตร์ที่คำนวณการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย


โหราศาสตร์จีนมีประวัติศาสตร์และพัฒนาการยาวไกลมาก ได้มีบันทึกไว้มากมาย เช่น เมื่อตุลาคม 2,137 ปีก่อนค.ศ. เกิดสุริยคราสขึ้น (ประมาณ) 2,000 ปีก่อนค.ศ. ชาวจีนค้นพบว่า วัฏจักรดาวพฤหัส (1 รอบจักรราศี) กินเวลา 12 ปี (ประมาณ) 1,200 ปีก่อนค.ศ. ชาวจีนแบ่งจักรราศีออกเป็น 28 นักษัตรฤกษ์ (ประมาณ) 1,100 ปีก่อนค.ศ. ชาวจีนค้นพบจุดวสันตวิษุวัติ (Spring Equinox) ฯลฯ


โดยเฉพาะเรื่องคราส (Eclipse) โหราศาสตร์จีนให้ความสำคัญมาก ไม่เพียงสุริยคราสข้างต้นยังมีบันทึกของสุริยคราสเมื่อ 1,302 ปีก่อนค.ศ.ในสมัยราชวงศ์ซาง ในคัมภีร์ “ซือจิง” ก็บันทึกคู่คราสอาทิตย์-จันทร์เมื่อ 735 ปีก่อนค.ศ. คัมภีร์ “ชุนชิว” เล่ม 1 บันทึกสุริยคราส (สรรพคราส) ในวันที่ 17 กรกฎาคม 709 ปีก่อนค.ศ. ในคัมภีร์ “ชุนชิว” เล่ม 7 ได้บันทึกสุริยคราส (สรรพคราส) วันที่ 20 กันยายน 601 ปีก่อนค.ศ. คัมภีร์ “ชุนชิว” เล่ม 9 ก็บันทึกสุริยคราส (สรรพคราส) วันที่ 19 มิถุนายน 549 ปีก่อนค.ศ. ฯลฯ


ตั้งแต่ 750 ปีก่อนค.ศ. นักโหราศาสตร์จีนได้สังเกตและบันทึกคราสทั้งอาทิตย์และจันทร์รวมกันมากกว่า 1,600 ครั้ง


แน่ใจได้เลยว่า โหราศาสตร์ต้องเป็นวิชาบังคับสำหรับปราชญ์-นักการทหาร-ชนชั้นนำทั้งหลาย ถ้าพวกเขาต้องการความสำเร็จขั้นสูง จิวยี่-ขงเบ้งก็อยู่ในเงื่อนไขนี้เช่นกัน


โหราศาสตร์อาจดูงมงายเหลวไหล แต่ในสายตานักกลยุทธ์ชั้นยอดที่รอบรู้ลึกซึ้ง ย่อมประเมินศาสตร์นี้ต่างจากสามัญชนแน่นอน


ศึกเช็กเพ็กนี้อ่านดูเผิน ๆ คล้ายกับ “คนคำนวณ มิสู้ฟ้าลิขิต” โจโฉที่ขุมกำลังเหนือกว่ากลับพ่ายแพ้ย่อยยับ


อันที่จริง ฟ้าไม่ได้ลิขิตให้โจโฉพ่ายแพ้ แต่ฟ้าลิขิตว่า จะเกิดลมตะวันออก ในเมื่อโจโฉไม่รู้ “เจตนาฟ้า” ย่อมต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้


การวางแผนกลยุทธ์นั้น ต้องสอดคล้องกับเจตนาฟ้า


จะล่วงรู้เจตนาฟ้า ต้องเข้าถึงแก่นแท้โหราศาสตร์


สัปดาห์หน้า เราจะมาวิเคราะห์ “โจโฉแตกทัพเรือ” ในมุมโหราศาสตร์กัน