นาโนไฟแนนซ์ ... ทางออกทางการเงิน แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ?

นาโนไฟแนนซ์ ... ทางออกทางการเงิน แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ?

สินเชื่อประเภทใหม่บริการ “นาโนไฟแนนซ์” โครงการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ

 พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่โดยรวมของประชาชน และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องมาจากปัญหาหนี้นอกระบบ ที่มียอดหนี้กว่า “5 ล้านล้านบาท โดยครัวเรือนไทยทั้งหมด 22 ล้านครัวเรือน พบว่า 1 ใน 3 หรือกว่า 6-8 ล้านครัวเรือน ต้องเผชิญปัญหาราไยด้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย แบกภาระหนี้นอกระบบสูงถึงครัวเรือนละ 600,000 บาท ถึง 1,500,000 บาท

มาตรการที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ นำมาใช้ล่าสุด คือ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ที่มีลักษณะเด่น คือ การให้สินเชื่อที่ ยืดหยุ่น สอดคล้องกับคุณลักษณะของลูกหนี้นอกระบบทั้งหลาย กล่าวคือ ไม่จำเป็นต้องมีรายได้ประจำ สลิปเงินเดือน ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน หรือไม่ต้องมีการเดินบัญชีใดๆ

โดยเกณฑ์สำคัญของสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ให้วงเงินรวมของสินเชื่อจำกัดต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท มีระยะเวลาการให้สินเชื่อตามที่ผู้บริโภคและสถาบันการเงินได้ตกลงกัน และอัตราดอกเบี้ย รวมค่าบริการ หรือเบี้ยปรับ รวมไม่เกิน 36%

ดูเหมือนง่ายสำหรับการเข้าถึงของบรรดาลูกหนี้ที่แบกหนี้นอกระบบ แต่ยังเป็นคำถามและอยู่ระหว่างการติดตามผลตอบรับที่ลูกค้านอกระบบจะเข้าสู่ระบบมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ด้วยพฤติกรรมและลักษณะนิสัยของลูกหนี้นอกระบบส่วนใหญ่เลือกที่จะกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้นอกระบบเป็นลำดับแรกๆ เพราะมีความคุ้นเคยกัน เชื่อว่าสามารถกู้ยืมเงินได้ง่ายและคล่องตัวกว่า ไม่ต้องมีกระบวนการ หรือขั้นตอนใดๆ เทียบการกู้ยืมเงินในระบบที่อย่างน้อยก็ต้องมีการใช้ เอกสารอยู่บ้าง

การเลือกใช้บริการหนี้นอกระบบ แม้จะต้องเผชิญอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ก็ยอมจ่ายเพราะง่าย สะดวก ทันใจ

ประการสำคัญจะสินเชื่อประเภทไหนก็ตามแต่ หากลูกหนี้ไม่มีวินัยทางการเงิน แม้เข้าสู่ระบบแต่ไม่สามารถบริหารจัดการหรือเคร่งครัดต่อภาระการใช้จ่าย สุดท้ายจะต้องเข้าสู่วังวนของการพึ่งพิงหนี้นอกระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในแง่ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เป็นหนึ่้งในตัวแปรสำคัญที่จะทำให้มาตการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์บรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ เพราะด้วยเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวมี “ความเสี่ยงสูง” ในเชิงธุรกิจ ที่ลูกหนี้จะผิดชำระหนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่มีหลักประกันใดๆ ในการกู้ยืมระหว่างกัน ผู้ประกอบการจะสร้างเกณฑ์หรือเครื่องมือกำกับติดตามหรือเข้าถึงลูกหนี้ได้อย่างไร

ทางปฎิบัติยังมีความยากอยู่มากในการขับเคลื่อนกระบวนการปล่อยสินเชื่อ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจำกัดความเสี่ยงทางธุรกิจด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่า ลูกหนี้ หรือ ลูกค้าที่เข้าถึงสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ จะกลับกลายเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าถึงเงินทุนในระบบสถาบันการเงินอยู่แล้ว มากกว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อในระบบมาก่อน

นโยบายจากภาครัฐต่อการเปิดทางหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบ แต่ผู้ให้บริการจะหาส่วนผสมของโมเดลธุรกิจที่ลงตัว เพื่อขยายสินเชื่อเข้าถึงลูกค้าเหล่านี้ได้อย่างไร เพื่อทำให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ตอบโจทย์ตรงวัตถุประสงค์ตั้งต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม จะเป็นหนี้นอกระบบหรือในระบบ หากลูกหนี้ขาดซึ่ง วินัยทางการเงินมาตรการหรือวิธีการใดๆ ก็คงช่วยได้ยาก