แผนยาวปฏิรูปประเทศ ต้องไม่ลืมแก้ปัญหา “ระยะสั้น”

แผนยาวปฏิรูปประเทศ ต้องไม่ลืมแก้ปัญหา “ระยะสั้น”

สัปดาห์นี้ทั้งสัปดาห์จะมีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ

แห่งราชอาณาจักรไทย โดยจะเปิดโอกาสให้ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านต่างๆ ขึ้นชี้แจงแนวทางการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยตามเงื่อนเวลาหากร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านความเห็นชอบจาก สปช. จะทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 4 ก.ย. เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการบังคับใช้ต่อไป

ทั้งนี้ แม้ว่าการปฏิรูปประเทศ จะถือเป็น ภารกิจหลัก ของการเข้ามาบริหารประเทศ ของคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) เพื่อ ยกเครื่อง ประเทศไทย ให้ปลอดจากปัญหาต่างๆ ที่บั่นทอนความมั่นคง-มั่งคั่งของประเทศในอนาคต แบบมองกันยาวๆ

บางแผนปฏิรูป วางเป้าหมายข้างหน้าไว้ในระยะ 20 ปี หรือในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า จนหลายคนบ่นว่า นานเกินไปไหม ?

นอกจากนี้ อาการ หวังน้ำบ่อหน้า จะสำเร็จหรือไม่นั้น ยังมีลุ้น จาก คลื่นแทรก ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะคลื่นแทรกทางการเมือง

ทว่า "แผนระยะสั้น" ยังไม่เป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ไม่อาจมองข้าม จากปัญหารุมเร้าสารพัดทิศ ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ทั้งภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศ ที่ฉุดให้มูลค่าส่งออกไทยติดลบต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นที่ยังไม่กลับมายังสะท้อนจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังชะลอตัว เป็นต้น

แม้ว่าการประเมินผลงานรัฐบาลในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา นักธุรกิจ จะพูดคล้ายๆ กันว่า รัฐบาลชุดนี้ สอบผ่าน ในเรื่องการแก้ปัญหาการเมือง ทำให้บ้านเมืองสงบ ไม่นานนี้ยังประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติคลายความกังวล

  แต่แทบจะไม่มีใครบอกว่า รัฐบาลชุดนี้ “ประสบความเร็จ” ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จากสภาพที่เห็นและเป็นอยู่

โดยพวกเขาสะท้อนมาเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องการให้รัฐ ปลดล็อก ปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น ให้หลุดบ่วงที่คล้องคอผู้คนไปก่อน ระยะยาวค่อยว่ากัน

ไม่เฉพาะความเห็นของนักธุรกิจไทย “นักธุรกิจต่างชาติ” ก็มองไม่ต่างกัน

ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย “สแตนลีย์ คัง” มองว่า เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะฟื้นตัวไม่ชัดเจนจน ทำให้ประชาชนยังชะลอการจับจ่ายใช้สอย ผลทำให้ขาดเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจ

ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นให้ประชาชนกลับมามั่นใจ โดยเร่งเบิกจ่ายเงินภาครัฐเพื่อเดินหน้าทั้งโครงการขนาดใหญ่ กลางและเล็ก สร้างรายได้ให้ประชาชน ให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ “โดยเร็วที่สุด” และเห็นผล “ชัดเจนที่สุด”

โดยสิ่งที่นักธุรกิจต่างชาติ รายนี้ต้องการสะท้อนคือ เมื่อเศรษฐกิจระยะสั้นดี จะเป็นผลพวงที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในอนาคต เข้าทางการเดินหน้าแนวทางการปฏิรูปประเทศของรัฐ

แต่ถ้า ประชาชนยังคง “หม่นหมองประคองอารมณ์” อยู่เช่นนี้ ก็ยากที่จะทำให้ข้างหน้าดีขึ้นได้

การที่รัฐบาลออกมาบอกว่า จากนี้ไปจะเร่งเดินหน้า “แผนลงทุน” ของรัฐแบบจี้ติดผู้รับผิดชอบต้อง รายงานความคืบหน้ากันทุกสัปดาห์ จึงถือเป็นนิมิตรที่ดี ที่ทำให้ไพร่ฟ้าเริ่มหน้าใส เพราะเมื่อโครงการรัฐขับเคลื่อน จะต่อยอดห่วงโซ่อุปทานไปในหลายธุรกิจ อาทิ

เมกะโปรเจค --> ธุรกิจรับเหมา --> ภาคแรงงาน ----> ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง --- > ผู้ผลิตสินค้า ----> ร้านค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ----> สถาบันการเงิน (ชำระหนี้ครัวเรือน- ฝากออมทรัพย์) ฯลฯ

วงจรเงินจะหมุนไปอีกหลายรอบ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น

งานนี้จึงมีแต่ได้ กับ ได้ !!