มุมมองของคนรุ่นเก่ากับ ทางเลือกของคนรุ่นใหม่

มุมมองของคนรุ่นเก่ากับ ทางเลือกของคนรุ่นใหม่

ปีนี้เป็นปีแรกที่สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ได้ปรับตารางสอน และการเปิด ปิดภาคเรียนของตนเองให้เหมือนกับระบบนานาชาติมากขึ้น

(หรือที่ชอบเรียกกันว่าเปิดเทอมแบบ ASEAN) ทำให้หลังวันหยุดยาวสงกรานต์จะเริ่มเข้าสู่ช่วงใกล้สอบปลายภาคของนิสิตนักศึกษาจำนวนมาก และหลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ช่วงของการจบการศึกษาของนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ซึ่งคำถามหนึ่งที่ผู้ที่กำลังจะจบการศึกษามักจะถูกถามตลอดคือ จะทำงานที่ไหน?


ปัจจุบันทั้งองค์กรธุรกิจ และบัณฑิตจบใหม่เหล่านี้ ต่างกำลังเผชิญสถานการณ์ของความแตกต่างระหว่างมุมมองที่น่าสนใจ ไม่ใช่ว่าบัณฑิตจบใหม่ทุกคนจะเข้าทำงานในองค์กร หรือ ต่อให้ทำงาน ก็อาจจะทำงานอยู่เพียงระยะสั้น แล้วสุดท้ายก็เลือกที่จะไปประกอบอาชีพอิสระ หรือ เป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง คนรุ่นเก่าที่เป็นมนุษย์องค์กร ก็จะมองคนรุ่นใหม่เหล่านี้ด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยคำถาม ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็จะก้าวเดินไปในเส้นทางที่ตัวเองเลือกอย่างมั่นใจ และ รู้สึกว่ามีความสุขมากกว่าถูกจำกัดด้วยกรอบขององค์กร เราลองมาดูมุมมองที่แตกต่างกันของคนสองรุ่นนี้กันดูนะครบ


จากมุมมองของผู้บริหารจำนวนมากที่มองว่าเด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ไม่ชอบทำงานในสำนักงาน ไม่ชอบทำงานประจำ ชอบที่อยากจะรวยเร็ว รวยทางลัด ไม่ชอบงานที่ซ้ำซาก น่าเบื่อ ไม่ชอบงานที่ไม่ท้าทาย ฯลฯ ทำให้องค์กรธุรกิจจำนวนมากในปัจจุบันมีปัญหาในการบริหาร ดึงดูด และ รักษาคนสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้เอาไว้ สิ่งที่พบคือแม้ในสาขาที่ขาดแคลน เมื่อเข้าสู่ระบบการทำงานในองค์กรใหญ่สักระยะหนึ่ง คนรุ่นใหม่ก็จะขาดความอดทน หรือ พบว่าไม่ชอบในสิ่งที่เรียนมา ทำให้ผู้ที่เรียนมาในสาขาที่ขาดแคลนจำนวนหนึ่ง เมื่อทำงานได้ระยะหนึ่งแล้ว ก็จะลาออก และหันไปประกอบอาชีพอื่น หรือ แม้กระทั่งประกอบอาชีพส่วนตัว


เพื่อนๆ ผู้บริหารของผมจำนวนหนึ่งต่างบ่นเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ในประเด็นข้างต้นเหล่านี้เป็นจำนวนมาก และสถาบันการศึกษาก็มักจะได้รับโจทย์มาว่าทำอย่างไรถึงจะผลิตบัณฑิตที่มีความอดทน สู้งาน และพร้อมที่จะเติบโตไปเป็นผู้บริหารมืออาชีพต่อไปในอนาคต ไม่ใช่หวังประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว หรือ รวยลัด หรือ ไปประกอบอาชีพส่วนตัว (พูดง่ายๆ ก็เหมือนกับผู้บริหารมืออาชีพในปัจจุบัน ที่กว่าจะประสบความสำเร็จก็ต้องต่อสู้ ฝ่าฟัน มาพอสมควร)


แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง (โดยเฉพาะในมุมมองของคนรุ่นใหม่) ก็จะพบว่าในปัจจุบัน โอกาสของการประสบความสำเร็จ และ รวยอย่างรวดเร็ว มีมากขึ้นกว่าในอดีต ท่านผู้อ่านเมื่อเข้าร้านหนังสือลองสังเกตดูซิครับ ใน 20 อันดับหนังสือขายดีนั้น จะมีพวกหนังสือเกี่ยวกับ “ลาออกแล้วรวย” “ทำธุรกิจเองแล้วรวย” “รวยด้วยหุ้น” “ไม่ต้องทำงานประจำก็รวยได้” “เปิดเบเกอรี่แล้วรวย” ฯลฯ เต็มไปหมด แถมจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ยิ่งทำให้มีช่องทางในประกอบอาชีพส่วนตัวมากขึ้น บางคนอายุยังไม่ถึง 20 แต่ขายสินค้าผ่านทาง Social Media และรายได้เป็นเลข 6 หลักก็มีอยู่เยอะแยะ หรือ แม้กระทั่งอาชีพที่ดูแล้วไม่น่าจะตั้งตัวได้อย่างครูสอนพิเศษหรือติวเตอร์ ก็เป็นอาชีพที่บัณฑิตที่มีความสามารถจำนวนหนึ่งเลือก เนื่องจากมีเวลาที่อิสระ มีรายได้ดี ไม่มีต้นทุนคงที่ ผมพบเห็นบัณฑิตวิศวะจำนวนมากที่แทนที่จะเลือกไปเป็นวิศวกร แต่เลือกที่จะเป็นครูพิเศษ และคนเหล่านี้ก็ดูจะมีความสุขในสิ่งที่ตนเองเลือก


ที่สำคัญที่สุดคือคนรุ่นใหม่มีตัวอย่างของผู้ที่เลือกทางเลือกใหม่ๆ และประสบความสำเร็จอยู่ไม่น้อย ดังนั้น ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ เมื่อคนในยุคนี้มีทางเลือกอยู่มาก และมีโอกาสอยู่มาก ทำไมต้องทนทำงานในสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่ใช่ แถมต้องใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าจะพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นถึงความสามารถตนเอง และก้าวสู่ตำแหน่งระดับสูงและประสบความสำเร็จได้?


ถ้านำมุมมองของคนรุ่นใหม่ไปเล่าให้คนรุ่นเก่าฟัง คำตอบที่มักจะได้รับก็คือ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือฐานจะไม่แน่น คนรุ่นใหม่เหล่านี้อาจจะประสบความสำเร็จระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วเมื่อฐานไม่แน่นก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้ และมีผู้บริหารบางท่านก็มาเล่าให้ผมฟังด้วยว่า คนรุ่นใหม่ ที่เคยต้องการอาชีพที่อิสระเหล่านี้ ก็เริ่มกลับเข้าสู่ชีวิตการทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนกันมากขึ้น เนื่องจากต้องการสังคม ต้องการเรียนรู้ชีวิตการทำงาน ฯลฯ


ผมไม่มีคำตอบนะครับว่ามุมมองไหนถูกหรือผิด แต่เราสามารถผสมผสานทั้งสองมุมมองเข้าด้วยกันได้ น่าจะเป็นสิ่งที่ดีและก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทำไมบริษัทอย่าง Google ถึงยังสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้มาทำงานกับเขาได้ตลอดเวลา? เป็นเพราะสามารถสร้างวัฒนธรรมและบรรยากาศในการทำงาน ที่สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่หรือไม่? ในขณะเดียวกันหลายๆ บริษัทที่มีปัญหาที่คนรุ่นใหม่ไม่อยู่นาน หรือ ไม่อดทน ถ้ามองอีกมุมหนึ่งเป็นเพราะวัฒนธรรมและบรรยากาศในการทำงานที่ออกแบบมานั้น เหมาะกับคนยุค Baby Boomer และ Gen X มากกว่าคนยุค Gen Y และ Gen Z หรือเปล่า?