ใช้มาตรการภาษีปราบคอร์รัปชัน

ใช้มาตรการภาษีปราบคอร์รัปชัน

การทุจริตคอร์รัปชัน บ่อนทำลายสังคมเศรษฐกิจ ความเจริญของประเทศชาติ หน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามทุจริตของชาติ หน่วยงานหนึ่ง

คือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เริ่มแสดงออกถึงความเอาใจใส่ที่จะปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ชุดใหม่ที่มีนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม เป็นประธาน มีนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส เป็นผู้ว่า คตง. ได้แสดงจุดยืนจะไม่ให้สตง.เป็นเสือกระดาษ โดยนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคตง. ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่าจะใช้มาตรการภาษีในการปราบคอร์รัปชัน โดยตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม กล่าวว่า


“ผมในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จึงเสนอแนะให้กรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีนักการเมือง ข้าราชการที่ร่ำรวย ไม่ทราบว่างานนี้จะทำสำเร็จหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าเป็นมาตรการสกัดกั้นนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ให้เข้ามาเล่นการเมืองได้ดีที่สุด เบื้องต้นควรจัดการกับนักการเมืองที่ร่ำรวยผิดปกติก่อน แล้วขยายผลไปยังกลุ่มเศรษฐี”


มาตรา 49 ของประมวลรัษฎากรบัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้มีเงินได้มิได้ยื่นรายการเงินได้ หรือเจ้าพนักงานประเมินพิจารณาเห็นว่า ผู้มีเงินได้ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่น ให้เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดีมีอำนาจที่จะกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้น ทั้งนี้ โดยถือเงินหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ หรือเข้ามาอยู่ในครอบครองของผู้มีเงินได้ หรือรายจ่ายของผู้มีเงินได้ หรือฐานะความเป็นอยู่ หรือพฤติการณ์ของผู้มีเงินได้ หรือสถิติเงินได้ของผู้มีเงินได้เอง หรือของผู้อื่นที่กระทำกิจการทำนองเดียวกับของผู้มีเงินได้เป็นหลักในการพิจารณา แล้วทำการประเมินแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 19 ถึงมาตรา 26 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”


จากบทบัญญัติของมาตรา 49 ดังกล่าว อาจสรุปได้ว่า การกำหนดเงินได้สุทธิเพื่อประเมินภาษีตามมาตรา 49 นี้ เป็นการประเมินกรณีพิเศษ การที่พนักงานประเมินจะใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 49 ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดี เมื่อมีกรณีใดกรณีหนึ่ง ต่อไปนี้ (1) ผู้มีเงินได้มิได้ยื่นรายการเงินได้ หรือ (2) ผู้มีเงินได้ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้อง ยื่น


ที่ผ่านมากรมสรรพากรเคยมีการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 49 อยู่บ้างแต่ก็ไม่มากนัก และก็มีข้อพิพาทโดยกรมสรรพากรเป็นทั้งผู้ฟ้องและถูกฟ้องสู้คดีกันจนถึงศาลฎีกาหลายคดี และศาลฎีกาได้วินิจฉัยพิพากษาไว้อันอาจยึดถือเป็นแนวบรรทัดฐานได้ เช่น


คำพิพากษาฎีกาที่ 409/2524 (ประชุมใหญ่) คดีนี้กรมสรรพากรเป็นโจทก์ฟ้องทายาทกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้ชำระภาษีเงินได้โดยการใช้อำนาจตามมาตรา 49 กำหนดเงินได้สุทธิจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์แล้วประเมินภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย ทายาทสู้คดีว่ากรมสรรพากรไม่มีอำนาจฟ้องและทรัพย์สินถูกยึดไปแล้ว


ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ วินิจฉัยไว้ตอนหนึ่ง เห็นว่า การที่นายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรมีคำสั่งให้ทรัพย์สินกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และทรัพย์สินของท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ตกเป็นของรัฐเพื่อใช้ความเสียหายที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เบียดบังยักยอกเอาทรัพย์สินของรัฐไป เป็นคนละเรื่องกับกรณีที่โจทก์ใช้อำนาจตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดเงินได้สุทธิของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วทำการประเมินภาษีเงินได้ คำสั่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวหาเป็นเหตุให้หนี้ค่าภาษีอากรที่ยังไม่ได้ชำระระงับลงไม่กองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงต้องรับผิดชำระแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2528 ประเด็นสำคัญที่โต้เถียงกันอยู่ที่ว่าผู้มีเงินได้ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าที่ควรยื่นอันเนื่องจากการได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าบิดามารดาโจทก์ประกอบอาชีพค้าขายมีโรงสี และฐานะร่ำรวยได้สะสมทรัพย์สินจำพวกเครื่องเพชรพลอย ทองรูปพรรณ และของมีค่าอื่นไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อมารดาตาย ทรัพย์สินจำพวกดังกล่าวตกได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุตรสาวเพียงคนเดียวระหว่างสงครามโลกโจทก์ค้าขายเหล็กได้กำไรมากจึงซื้อเพชรพลอยและของมีค่าเก็บสะสมไว้แทนเงินสด ซึ่งโจทก์ได้ใช้เป็นเครื่องประดับกายและประดับบ้าน โดยมิได้มุ่งทางการค้าหรือหากำไร ต่อมา พ.ศ. 2515 ถึง 2517 โจทก์ต้องการเงินไปขยายกิจการ จึงขายทรัพย์สินเครื่องใช้ส่วนตัวจำพวกเพชรพลอย และของมีค่าไปล้วนเป็นสังหาริมทรัพย์ซึ่งกฎหมายมิได้บังคับว่าในการซื้อขาย จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือทั้ง ป.รัษฎากรก็มิได้บัญญัติว่า


การขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกหรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร อันได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นั้น ผู้มีเงินได้จะต้องจัดทำบัญชีหรือแจ้งรายการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้โจทก์ไม่มีเอกสารเป็นหลักฐานเมื่อเงินที่โจทก์นำมาซื้อที่ดินและลงทุนเข้าหุ้นในห้างหุ้นส่วนบริษัทระหว่าง พ.ศ. 2515 ถึง 2517 โจทก์ได้มาจากการขายทรัพย์สินเครื่องใช้ส่วนตัว อันได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร ม.42 (9) การที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิของโจทก์จากทรัพย์สินสุทธิที่เพิ่มขึ้นเพราะการได้ทรัพย์สินมาดังกล่าว แล้วประเมินภาษีเงินได้ให้โจทก์ชำระจึงไม่ถูกต้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2231/2534 ประชุมใหญ่ ที่วินิจฉัยว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินจะประเมิน ภาษีเงินได้โดยวิธีการตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากรได้ จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินไม่สามารถทราบได้ว่าผู้มีเงินได้มีรายได้และรายจ่ายที่แท้จริงเพียงใด หาใช่เพียงแต่เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าผู้มีเงินได้มิได้ยื่นรายการเงินได้หรือยื่นรายการเงินได้ที่ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่นก็มีอำนาจกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิตามอำนาจพิเศษที่กำหนดไว้ในมาตรา 49 โดยอนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรได้ทันทีไม่ ดังจะเห็นได้จากตัวบทมาตรา 19 ที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 19 ถึงมาตรา 26 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งหมายความว่าเจ้าพนักงานประเมินจะต้องทำการตรวจสอบไต่สวนโดยวิธีปกติตามมาตรา 19 และ 23 จนไม่อาจทราบได้ว่าผู้มีเงินได้นั้นมีรายได้รายจ่ายที่แท้จริงเพียงใด จึงชอบที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 49 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10135/2539 คดีนี้โจทก์อุทธรณ์ว่า การประเมินภาษีอากรไม่ชอบด้วยมาตรา 49 เพราะมิได้รับอนุญาตจากอธิบดี ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นกรณีออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและแจ้งประเมินตามวิธีปกติตามมาตรา 19, 20, 23, 24 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร


การที่คตง.จะใช้อำนาจตามกฎหมายให้กรมสรรพากรใช้อำนาจตามมาตรา 49 ประเมินภาษีนักการเมืองและข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติ เป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะข้าราชการที่เป็นมนุษย์เงินเดือน แต่มีบ้านเป็นคฤหาสน์ใหญ่โต ใช้กระเป๋า นาฬิกาและเครื่องประดับแบรนด์เนมราคาแพง มีรถหรูหลายคัน โดยรัฐบาลควรกำหนดเป็นนโยบายในการใช้มาตรการดังกล่าวในการปราบคอร์รัปชันด้วย เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยปรามการทุจริตคอร์รัปชันในส่วนราชการได้อย่างเห็นผล