นโยบายความสุขและการวัดความสุขของยุโรป

นโยบายความสุขและการวัดความสุขของยุโรป

ในสายตาของ “นักเศรษฐศาสตร์ความสุข” อย่าง ดร. ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ซึ่งถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์ความสุขคนไทยคนแรก

และคนเดียวของประเทศไทย (อย่างน้อยก็เท่าที่ดิฉันได้เคยพบมา) ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัย London School of Economics (LSE) ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร นั้น เรื่องการวัดระดับ “ความสุข” ของคนในชาติเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าการวัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อาทิ การวัดระดับ GDP


ดร. ณัฐวุฒิ เล่าให้ฟังว่า ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา งานวิจัยส่วนใหญ่ของเขาส่วนใหญ่มักจะวนเวียนอยู่กับเรื่องแค่ไม่กี่เรื่อง อย่างเช่น เรื่องเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม เศรษฐศาสตร์การศึกษา และเศรษฐศาสตร์สุขภาพ ซึ่งก็ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่สะท้อนความกินดีอยู่ดีและระดับการพัฒนาของประเทศ แต่ล่าสุดเรื่องที่เขาหันมาให้ความสนใจและความสำคัญมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องเศรษฐศาสตร์ความสุข คนเขาได้ทำวิจัยเรื่องนี้เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก หรือ PhD เขียนหนังสือ Happiness Equation และกลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ความสุขของอังกฤษไปแล้ว


๐ เศรษฐศาสตร์ความสุข


เศรษฐศาสตร์ความสุขไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ประเทศพัฒนาแล้วแถบยุโรปให้ความสนใจกับการวิจัยในแขนงนี้มานานกว่าสิบปี อาทิ ฝรั่งเศส สมัยประธานาธิบดี Nicholas Sarkozy เน้นว่า หากจะวัดความเจริญก้าวหน้าทางสังคมนั้น การวัดด้วย GDP อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องมีการวัดระดับความสุขของประชากรไปพร้อมๆ กันด้วย ฝรั่งเศสจึงได้จัดทำรายงานวิจัยเรื่อง the Measurement of Economic Performance and Social Progress ขึ้น ส่วนที่อังกฤษ ดร. ณัฐวุฒิและทีมงานนักวิจัยในสายเศรษฐศาสตร์ความสุขคนอื่นๆ ต่างมุ่งมั่นนำผลของการวิจัยของพวกเขาไปใช้ในการแนะนำรัฐบาลอังกฤษในการกำหนดและออกแบบนโยบายความสุขของประเทศ ซึ่งได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก จึงขอให้ดร. ณัฐวุฒิ เล่าให้ฟังว่า วิธีการกำหนดนโยบายความสุขที่มาจากการวิจัยจริงๆ จังๆ ในยุโรปเขาทำกับแบบไหน โดยใช้กรณีศึกษาของการกำหนดนโยบายความสุขของประเทศอังกฤษเป็นตัวอย่าง


ขั้นตอนที่ 1 : มีการสุ่มเก็บข้อมูลความสุขของคนในประเทศอย่างสม่ำเสมอ


เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2553 นายเดวิด แคเมอรอน นายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษคนปัจจุบัน ได้ทำการกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวความเป็นอยู่ที่ดี หรือ well-being ของคนในประเทศของเขาว่า


“ผมคิดว่ามันถึงเวลาที่พวกเราทุกคนควรต้องทำการยอมรับกันแล้วว่า เงินไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต และเราก็ไม่ควรที่จะวัดค่าของชีวิตของคนด้วยเม็ดเงิน เพราะฉะนั้น รัฐบาลก็ไม่ควรที่จะเน้นความสนใจของรัฐไปอยู่แค่กับการพัฒนาจีดีพี (GDP) ของประเทศเพียงอย่างเดียว รัฐบาลที่ดีควรที่ให้ความสำคัญในการที่จะสร้างนโยบายซึ่งนำมาถึงการพัฒนาความสุขทั่วไปของประชาชนด้วย”


หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน สำนักงานสถิติแห่งชาติก็เริ่มทำการสุ่มเก็บข้อมูลความสุขของคนอังกฤษจากทั่วท้องประเทศอย่างน้อยเดือนละครั้ง ซึ่งข้อมูลความสุขเหล่านี้เป็นตัวเลขที่ได้มาจากการตอบคำถามสี่ข้อด้วยกันคือ


1) ในชีวิตของคุณ คุณมีความพึงพอใจกับชีวิต (life satisfaction) ของคุณมากน้อยแค่ไหน 1 = น้อยที่สุด และ 7 = มากที่สุด


2) เมื่อวานคุณมีความสุข (happiness yesterday) มากน้อยแค่ไหน


3) ชีวิตของคุณมีความหมาย (worthwhile) มากน้อยแค่ไหน


4) เมื่อวานคุณมีความกังวล (anxiety yesterday) มากน้อยแค่ไหน


ความสุขเหล่านี้มีความสัมพันธ์สำคัญกับตัวบ่งชี้ในชีวิตของเราหลายอย่าง โดยข้อมูลความสุขเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการทำนายว่าสุขภาพร่างกายของเราในอนาคตจะเป็นอย่างไร โอกาสที่เราจะลาออกจากงานหรือโอกาสที่เราจะหย่ากับภรรยา/สามีของเราในอนาคตมีมากน้อยแค่ไหน หรือแม้แต่กระทั่งโอกาสที่เราจะมีอายุยืนเกินแปดสิบปีมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ และสำหรับรัฐบาลที่มีข้อมูลสถิติความสุขที่ได้มาจากการเก็บอย่างสม่ำเสมอจะสามารถช่วยรัฐบาลในการกำหนดนโยบายหลักด้านต่างๆ ได้ดีขึ้น


ขั้นตอนที่ 2 : มีการวิจัยและประเมินผลของข้อมูลความสุขอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ


อันที่จริงแล้วประเทศไทยก็มีการสุ่มเก็บข้อมูลความสุขอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลความสุขที่เอแบคโพลล์หรือที่สวนดุสิตโพลเก็บมาอยู่เกือบทุกเดือน แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ข้อมูลความสุขเหล่านี้นั้น 1) ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานสากลของข้อมูลความสุข และ 2) ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการทำวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และผลที่ออกมาในสื่อจากการที่ไม่ได้มีการทำวิจัยอย่างถูกต้องก็ค่อนข้างจะเป็นผลที่ลำเอียงและมี underlying agenda ของมัน


หลักการวิจัยสำคัญในการหาตัวแปลความสุขที่จะสามารถนำมาใช้ในการออกแบบนโยบายของรัฐบาลนั้น จริงๆ แล้วมีอยู่แค่ข้อเดียว นั่นก็คือความสัมพันธ์ระหว่าง ก กับ ข ไม่ได้หมายความว่า ก เป็นสาเหตุที่ทำให้ ข เกิดขึ้น (หรือในภาษาอังกฤษก็คือ “correlation does not imply causation”) เสมอไป


ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเห็นคนที่รวยกว่าบอกว่าเขามีความสุขมากกว่าคนที่จนกว่า เราก็อาจจะสรุปไปว่าเงินนั้นสามารถใช้ซื้อความสุขได้ แต่ความเป็นจริงแล้วนั้นอาจจะเป็นไปได้ที่ว่าเงินไม่สามารถใช้ซื้อความสุขได้เลย แต่ความสุขที่เรามีอยู่แล้วนั้นเป็นสิ่งที่ส่งผลให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่มีความสุขน้อยกว่าเรา ซึ่งก็ส่งผลให้เรามีรายได้ที่มากกว่าคนอื่นเขา เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดที่ข้อมูลความสุขเหล่านี้จำเป็นต้องผ่านการวิจัยตามหลักวิชาการอย่างถูกต้องในการแยกแยะว่าอะไรคือ correlation และอะไรคือ causation ก่อนที่รัฐบาลจะสามารถนำมันมาใช้เป็นตัวนำในการออกแบบนโยบายความสุขต่างๆ นานา


อีกตัวอย่างเช่น อัตราการว่างงาน (unemployment rate) ของประเทศมีผลกระทบทางด้านลบกับความพอใจกับชีวิตของคนในประเทศมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ (inflation) ประมาณ 1.6 เท่า ซึ่งหมายความว่า การสันนิษฐานเดิมๆ ที่ว่าน้ำหนักของอัตราการว่างงานมีค่าเท่ากันกับน้ำหนักของอัตราเงินเฟ้อในการคำนวณ Misery Index ของแบงก์ชาติอาจจะผิด


คนเรามักชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่มีฐานะใกล้ตัวเองมากกว่าคนที่มีฐานะที่แตกต่างกันเยอะ พูดอีกอย่างก็คือ คนที่จนที่สุดในการจัดลำดับการกระจายรายได้ของประเทศ (bottom 10%) มักจะไม่เอาตัวเองเข้าไปเปรียบเทียบกับคนที่รวยที่สุด (top 10%) แต่มักจะเปรียบเทียบกับคนที่ใกล้ตัวในเชิงรายได้เสียมากกว่า เพราะฉะนั้น การออกนโยบายที่จะนำไปใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำของคนก็ควรจะโฟกัสกับการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในท้องถิ่นเดียวกันก่อน ก่อนที่จะไปโฟกัสกับการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในทั้งประเทศ


ขั้นตอนที่ 3 : การนำผลวิจัยเหล่านี้ไปใช้ในการกำหนดนโยบาย


ที่จริงขั้นตอนในการขับเคลื่อนนโยบายความสุขที่ประเทศอังกฤษ และประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศทั่วโลก ก็มีแค่นี้แหละ เข้าใจว่านโยบายคืนความสุขของคนในประเทศไทยในตอนนี้จะกลั่นมาจาก “ความรู้สึก” มากกว่าการวิจัยและการพิสูจน์เชิงวิทยาศาสตร์เสียส่วนใหญ่ ซึ่งก็อาจจะโอเคในระยะสั้น แต่ถ้าเราต้องการให้ประเทศไทยของเรามีการพัฒนาระยะยาวแล้วละก็ ขั้นตอนสองขั้นตอนแรกที่กล่าวไว้จึงเป็นอะไรที่ขาดไม่ได้อย่างเด็ดขาดในการร่างนโยบาย ไม่ว่านโยบายนั้นๆ จะเป็นนโยบายความสุข หรือจะเป็นนโยบายอื่นๆ ก็ตาม


เมื่อพูดถึงนโยบายความสุขของประเทศ ก็อดไม่ได้ที่จะอ้างอิงถึง “นโยบายคืนความสุข” ของท่านนายกรัฐมนตรีไทยที่ประกาศไปเมื่อท่านเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ต้องยอมรับว่าน่าสนใจพอๆ กัน อันที่จริง รัฐบาลไทยควรหันมาสนใจการกำหนดนโยบายความสุขของประเทศและการวัดระดับความสุขของคนไทยอย่างจริงๆ จังๆ โดยใช้ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์และการเก็บข้อมูลทางสถิติสำคัญมาวิเคราะห์ เพื่อกำหนดนโยบายความสุขระดับชาติให้ได้


------------------------------------


อ้างอิง บทความเรื่อง นโยบายคืนความสุขของคนในชาติในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ความสุข ตีพิมพ์ใน www.thaipublica.org เมื่อ 25 พ.ย. 2557


ดร. อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.eu หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd


ดร. ณัฐวุฒิ เผ่าทวี เป็นรองศาสตราจารย์วิจัย ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัย London School of Economics (LSE) ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และ Professorial Research Fellow ที่ Melbourne Institute, University of Melbourneติดตามได้ที่ www.powdthavee.co.uk