ทำไมจึงควรอ่าน ‘คาร์ล มาร์กซ์’

ทำไมจึงควรอ่าน ‘คาร์ล มาร์กซ์’

คาร์ล มาร์กซ์ (ค.ศ.1818-1883) เป็นนักวิชาการ ผู้สร้างความก้าวหน้าให้กับองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐกิจสังคมของโลกอย่างสำคัญ



 โดยเฉพาะวิธีการวิเคราะห์กฎการเปลี่ยนแปลงทางสังคม,ลักษณะและกลไกการทำงานของระบบทุนนิยม วิกฤติเศรษฐกิจถดถอยที่ไม่มีทางออกนอกจากต้องเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจเสียใหม่


มาร์กซ์ถูกลดความสำคัญลง จากความล้มเหลวและการเปลี่ยนแปลงของประเทศสังคมนิยมและคนไปมองเขาเป็นเจ้าลัทธิ ความเชื่อ แทนที่จะมองว่าเขาเป็นนักวิชาการและนักปฏิวัติผู้ชี้ทางในประวัติศาสตร์ยุคหนึ่ง ระบบเศรษฐกิจพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย จีน ฯลฯ ได้ทำกันโดยอ้างสังคมนิยมนั้น แท้จริงเป็นเพียงระบบทุนนิยมโดยรัฐ ที่นำโดยแกนนำพรรคกลุ่มน้อยผู้บริหารแบบเผด็จการแบบรวมศูนย์ ไม่ใช่สังคมนิยม ซึ่งมาร์กซ์หมายถึง ระบบที่บริหารโดยสมาคมคนงานผู้ผลิตอิสระที่เป็นประชาธิปไตย แบบสหกรณ์ผู้ผลิต ผู้บริโภค เน้นการผลิตเพื่อมูลค่าใช้สอย แบ่งปันให้ทุกคนอย่างเป็นธรรมอย่างแท้จริง


เราควรอ่านงานของมาร์กซ์ใหม่ เพราะ


1. มาร์กซ์ เป็นนักวิชาการที่ทำงานวิจัยอย่างนักวิทยาศาสตร์ คือ ค้นคว้าหาหลักฐานข้อพิสูจน์ตามสภาพข้อเท็จจริงทางสังคมอย่างเข้มงวด มาร์กซ์มีเครื่องมือและตัวอย่างการวิเคราะห์ ค้นพบทฤษฎี/แนวคิดในแนววัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ที่ก้าวหน้ากว่าวิธีการอื่นๆ อย่างมากทำให้เราได้การเปลี่ยนแปลงสังคมโลกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันได้อย่างมองเห็นภาพรวมของสังคมมนุษย์ทั้งระบบ ที่มีวิวัฒนาการอย่างเป็นขั้นตอน มีกฎเกณฑ์ที่มีเหตุผล เห็นทั้งกระบวนการแบบภาพเคลื่อนไหวต่อเนื่อง แทนที่จะเห็นสังคมแค่ภาพนิ่งและแยกเป็นส่วนๆ อย่างที่นักวิชาการคนอื่นๆ เสนอ


มาร์กซ์ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่าระบบยุคชุมชนบุพกาล สังคมโบราณที่มีการใช้ทาส ศักดินา และทุนนิยม การผลิตแบบต่างๆ เปลี่ยนแปลงมาอย่างไรและมีอิทธิพลต่อการเมือง ความคิด อุดมการณ์ของมนุษย์และสังคมอย่างไร การค้นพบกฎเกณฑ์ในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของมาร์กซ์ โดยเฉพาะระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมอย่างเจาะลึก เป็นการบุกเบิกทางวิชาการที่ยิ่งใหญ่ระดับเดียวกับที่ชาร์ล ดาร์วินส์ นักชีววิทยาค้นพบกฎเกณฑ์เรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต


2. มาร์กซ์ได้วิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมได้อย่างวิพากษ์เจาะลึก ทุนนิยมมีความขัดแย้งในตัวโครงสร้างระบบเองที่จะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำเป็นระยะ บ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นตามลำดับ ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างของระบบทุนนิยม ที่สำคัญคือ 1) การสะสมและรวมศูนย์ทุนขนาดใหญ่อยู่ในมือนายทุนส่วนน้อยเพิ่มขึ้น ผลิตสินค้าล้นเกิน (Over Production) เพราะนายทุนต้องแข่งขันเพื่อเอาชนะและเพื่อกำไรสูงสุด นายทุนลดต้นทุนด้วยใช้เครื่องจักรเพิ่ม ลดการจ้างงาน ขูดรีดแรงงาน ทำให้อัตรากำไรโดยทั่วไปนายทุนทั้งระบบมีแนวโน้มลดลง นายทุนแก้ปัญหาด้วยการใช้เครื่องจักรและหาวิธีขูดรีดแรงงานและธรรมชาติเพิ่มขึ้น ทำให้คนว่างงาน รายได้ต่ำ เป็นหนี้ คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นแรงงาน ขาดอำนาจซื้อ (Under Consumption) สินค้าที่นายทุนมุ่งผลิตให้ได้มากที่สุดจึงล้นตลาดขายไม่ออก 2) ความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างนายทุนผู้เป็นเจ้าของผู้ควบคุมทุนที่สะสมทุนและขยายการลงทุนเพื่อหากำไรส่วนตัว และชนชั้นคนงานผู้ผลิตมูลค่าใหม่ให้สินค้าและทำงานในกระบวนการผลิตแบบสังคมรวมหมู่ คนงานไร้ทุนเพิ่มจำนวนขึ้นและชีวิตคนงานยากลำบาก แปลกแยกมากขึ้น ความขัดแย้งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ


วิกฤติเศรษฐกิจทุนนิยมตกต่ำ/ถดถอยในสหรัฐ และยุโรป ตั้งแต่ปี 2008 เป็นสิ่งที่มาร์กซ์วิเคราะห์ไว้ว่านี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากตัวระบบทุนนิยมเอง นายทุนใหญ่ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยรวยขึ้น คนงานที่เป็นคนส่วนใหญ่ยากจนลงโดยเปรียบเทียบรัฐบาลตัวแทนระบบทุนใช้วิธีแก้ปัญหาวิกฤติด้วยการใช้งบประมาณและการเพิ่มปริมาณเงิน (การก่อหนี้ของรัฐ) ไปช่วยพยุงนายทุนใหญ่บางกลุ่มให้สะสมและขยายการลงทุนต่อไปได้ แต่เป็นเพียงการช่วยระบบทุนนิยมที่ป่วยไข้ให้พอมีชีวิตต่อไปได้อีกระยะหนึ่งเท่านั้น และรัฐบาลสร้างหนี้เพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจเอกชน ประชาชนเป็นหนี้มากขึ้น ระบบทุนนิยมทำให้ทุนธนาคาร, การเงินต้องการหากำไรจากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตลอดเวลา แต่การผลิตในภาคการผลิตแท้จริงมีปัญหาฟื้นตัวได้จำกัด การที่ภาครัฐบางประเทศที่มีปัญหาใช้นโยบายรัดเข็มขัด (Austerity) เพิ่มภาษี ลดการให้บริการสังคม ฯลฯ โดยคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ กระเตื้องขึ้น (ตามวัฏจักรทางธุรกิจ) กลายเป็นการเพิ่มการเอาเปรียบคนจนส่วนใหญ่ เพิ่มการตกงาน และสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น


ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการสะสมทุน ขยายการลงทุนอย่างไม่จำกัดยังทำลายธรรมชาติ ทำให้ประชาชนทุกข์ยาก แปลกแยก ความหลงใหลในวัตถุในเงินตราเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีทางแก้ไขภายใต้กรอบโครงสร้างทุนนิยมได้ นอกจากต้องเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติจากระบบทุนนิยมไปเป็นระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของผู้ควบคุมปัจจัยการผลิตแบบบริหารโดยสหกรณ์หรือสมาคมคนงานที่ก้าวหน้ากว่า ทำให้สามารถเพิ่มพลังการผลิต (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี) ที่เป็นของส่วนรวม เพื่อส่วนรวมได้อย่างเป็นจริง มีผลผลิตมากพอและแบ่งปันอย่างเป็นธรรม ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเจริญรุ่งเรือง และความผาสุกได้มากกว่าระบบทุนนิยมที่นอกจากคนงานจะทุกข์แล้วแม้แต่นายทุนและชนชั้นกลางก็มีความทุกข์ ความแปลกแยก เพราะพวกเขาก็ต้องอยู่ภายใต้สังคมที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงและสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง


สังคมนิยมในทัศนะของมาร์กซ์ คือสังคมที่ชนชั้นคนงานร่วมกัน เป็นเจ้าของและผู้บริหารจัดการอย่างเป็นประชาธิปไตยในรูปของสมาคมผู้ผลิตอิสระและสหกรณ์ผู้ผลิต ระบบเศรษฐกิจสังคมแบบที่ว่านี้จะทำให้ความขัดแย้งและการกดขี่เอารัดเอาเปรียบของชนชั้นนายทุนต่อคนงานหมดไป นายทุนก็เข้าร่วมลงมาทำงานเป็นผู้ผลิตร่วมกันกับคนอื่นๆ และผู้ผลิตทุกคนต่างก็ได้รับผลแบ่งร่วมกันอย่างเป็นธรรม ไม่มีใครขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากใคร


การมีพลังการผลิตที่เป็นของส่วนรวม โดยส่วนรวม เพื่อส่วนรวม ทำให้สังคมมั่งคั่ง เจริญก้าวหน้า สร้างสรรค์ แบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม พอเพียงและเป็นอิสระ, คนสามารถใช้เวลาทำงานลดลง, แปลกแยกลดลง, ใช้ชีวิตแบบสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น ฟังดูเหมือนเป็นสังคมอุดมคติที่มาร์กซ์และชาวมาร์กซิสต์คนอื่นๆ ใฝ่ฝันถึงแบบโลกยูทูเบีย (พระศรีอาริย์) แต่เขาวิเคราะห์ตามหลักตรรก (เหตุผล) ที่สอดคล้องกัน คือ ถ้าปฏิวัติแบบสังคมนิยมได้จริง ก็จะทำให้เกิดผลทำนองนี้ได้จริง


แต่ถ้ามนุษย์เราไม่กล้าใฝ่ฝันถึงชีวิตและสังคมที่ดีกว่า เราจะมีอนาคตที่ดีกว่าสัตว์โลกชนิดอื่นได้อย่างไร?